ในที่สุดการแข่งขันกีฬาที่ผู้คนเฝ้ารอคอยมากที่สุดรายการหนึ่งก็ได้เริ่มขึ้นแล้วนั่นคือฟุตบอลโลกนั่นเอง โดยการแข่งขันในปีนี้นั้นจัดขึ้นที่ประเทศกาตาร์นั่นเองท่ามกลางอากาศร้อนระอุกว่าครั้งไหนๆ และเสียงบ่นมากมายจากบรรดาแฟนฟุตบอล (หรือกระทั่งนักฟุตบอลจำนวนหนึ่ง) ว่ามันเป็นการทำร้ายนักกีฬาอย่างแจ่มแจ้งแต่มันก็เกิดขึ้นไปแล้วและเราน่าจะได้เห็นภาพถ่ายที่เป็นโมเมนต์น่าตื่นตาตื่นใจไปจนถึงความประทับใจต่างๆ อย่างแน่นอน
หากเราพูดถึงภาพถ่ายกีฬาในยุคปัจจุบันเราน่าจะนึกถึงภาพกีฬามันๆ เหตุการณ์ต่างๆ ที่น่าจดจำ เช่น เวย์น รูนีย์ ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กำลังจักรยานอากาศยิงใส่ทีมร่วมเมืองอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด การแสดงท่าดีใจอย่างการนั่งสมาธิของ เออร์ลิง เบราท์ ฮาลันด์ หรือการกระโดดสูงก่อนลงมาตะโกนว่า ‘Siuuuuuuuuu’ ของคริสเตียโน่ โรนัลโด้ ไปจนถึงโมเมนต์น้ำตาคลอของ เลโอเนล เมสซี่ ที่ไม่สามารถต่อสัญญากับสโมสรรักอย่าง บาร์เซโลน่า เป็นต้น
ถ้าลองค้นหาภาพเก่าๆ ดูยังมีภาพไอคอนิคอีกมากมายทั้งเหตุการณ์ หัตถ์พระเจ้าของดิเอโก้ มาราโดน่า เปเล่กับการกระโดดดีใจกอดเพื่อนร่วมทีมบราซิล กาก้ากับจังหวะดีใจด้วยการถอดเสื้อแข่งออกก่อนโชว์คำว่า ‘I Belong to Jesus’ แต่ถ้าเราย้อนไปถึงฟุตบอลโลกปีค.ศ. 1966 รวมถึงภาพถ่ายกีฬาในยุคนั้นเราจะเห็นถึงบรรยากาศที่แปลกใหม่รวมไปถึงจังหวะภาพที่เราไม่เคยคาดคิดว่าจะได้เห็นเป็นอย่างแน่
เจอร์รี่ แครแนห์ม เป็นคนนั้นเองที่บันทึกภาพเหล่านั้นไว้นอกจากฟุตบอลเขายังตามถ่ายกีฬามากมาย ไปจนถึงเป็นผู้ริเริ่มการใช้กล้องและรีโมตชัตเตอร์เพื่อบันทึกภาพหลังโกล์ฟุตบอลอีกด้วย ขอบอกไว้ก่อนว่าภาพถ่ายหลายภาพของเขามันมีเสน่ห์จนผู้เขียนเองยังหลงใหลและอยากซื้อมาเก็บไว้ด้วยซ้ำ
ไม่พอภาพถ่ายกีฬามันๆ ก็ยังมีอยู่ในยุคนั้นในแบบที่เราคาดไม่ถึงแน่นอน
_________________________________________________________________________________________________________
นักกีฬาสู่ช่างภาพ
แครแนห์ม เกิดในปีค.ศ. 1929 อันที่จริงตอนแรกเขาตั้งใจที่จะเดินทางในสายนักกีฬาอาชีพแต่ด้วยอาการบาดเจ็บให้ทำเขาต้องยุติเส้นทางนั้น เขาเคยเกือบได้เป็นถึงหนึ่งขาที่วิ่งคบเพลิงโอลิมปิคในกรุงลอนดอนในปีค.ศ. 1948 ด้วยซ้ำ ท้ายที่สุดเขาเลยเลือกที่จะไปเป็นโค้ชนักกีฬาแทน ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้จับกล้องเป็นครั้งแรก เขาเริ่มถ่ายภาพของบรรดานักกีฬาเพื่อที่จะบันทึกข้อมูลการฝึกฝนต่างๆ แต่จนเขาอายุ 27 ปี นั่นแหละถึงจะเป็นครั้งแรกที่เขาได้ใช้งานกล้องระดับมืออาชีพซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เขาเก็บบันทึกข้อมูลของนักกีฬาต่างๆ ที่เขาดูแลได้มากขึ้น
“ผมคิดว่าการที่เราถ่ายรูปความผิดพลาดของพวกเขาไว้นั้นมันช่วยให้พวกเขาได้เห็นว่าต้องปรับปรุงยังไง ผมก็เลยเก็บเงินจำนวนหนึ่งเนี่ยแหละแล้วซื้อกล้อง Corfield Periflex (กล้องสัญชาติอังกฤษที่มีหน้าตาและฟังก์ชันแบบเดียวกับไลก้า)” แครแนห์ม ได้ให้สัมภาษณ์กับ Amateur Photographer ของอังกฤษ
ด้วยความพยายามเรียนรู้และขวนขวายของตัวเขาทำให้เขาทดลองสิ่งต่างๆ ทั้งมีการ์ดสำหรับวัดแสง และยังทดลองไปเรื่อยๆ เรื่องตลกที่เกิดขึ้นกับเขาคือเขาสามารถขายฟิล์มม้วนแรกที่เขาถ่ายในชีวิตได้ ซึ่งตอนนั้นเขากำลังเดินทางจากลอนดอนสู่ไบรท์ตันแล้วแถวนั้นมีสปอร์ตคลับอยู่ เขาก็เข้าไปถ่ายนักกรีฑาเหล่านั้น
“ผมขายได้เกือบทุกภาพในม้วนนั้นเลย เอาจริงผมว่ามันห่วยมากนะ”
หลังจากนั้นไม่นานภาพถ่ายของเขาก็ขายไปให้ทาง Athletics Weekly ได้และทำให้เขาได้ก้าวเข้าสู่วงการของช่างภาพกีฬา พอเขาเข้ามาอย่างเต็มตัวมากขึ้นก็เริ่มจริงจังตามลำดับถึงแม้ว่าเขาจะรู้ตัวว่าไม่ได้มีฝีมือที่มากมายในตอนแรกแต่ประสบการณ์ฟิล์มกว่าร้อยม้วน และการแข่งขันของช่างภาพกีฬายังไม่มากเท่าสมัยนี้กอปรกับทักษะความรู้ด้านกีฬาที่เขามีตั้งแต่สมัยก่อนทำให้เขารู้ว่าตรงนี้คือข้อได้เปรียบ
พอเขาก้าวเข้ามาเป็นช่างภาพอย่างเต็มตัวในช่วงสามปีแรกเขามักจะได้รับมอบหมายให้ไปตามหมายข่าวของนักกีฬากรีฑาเป็นอย่างเดียวแต่พอหลังจากที่เขาเริ่มมีผลงานมากขึ้นเขาก็มีโอกาสได้ถ่ายกีฬาต่างๆ มากขึ้นจนได้เข้าไปเป็นช่างภาพให้กับ Fox Photos แต่ด้วยที่อายุยังน้อยทำให้เขาต้องพะบู๊กับการถ่ายอยู่พอสมควรเนื่องจากเขายังไม่ได้ไปเป็นสมาชิกของสหภาพนักข่าว แต่ขณะเดียวกันเขาก็ยังมีการส่งภาพให้กับสำนักพิมพ์ท้องถิ่นอีกหลายเจ้า จนเขาได้พบกับ John Rodda ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์ The Guardian ฝั่งข่าวกีฬาทำให้เขาเริ่มมีคอนเนกชั่นที่มากขึ้น
John Lovesey ผู้สื่อข่าวของ Sports Illustrated เป็นอีกคนหนึ่งที่สำคัญกับชีวิตของเขา หลังจากที่สำนักพิมพ์ดังกล่าวได้ซื้อภาพของเขาไปใช้ทั้งสองคนก็เริ่มสนิทสนมกันและต่างช่วยเหลือกันและกันในด้านการทำงาน ตัวของ Lovesey เองนั้นมีประสบการณ์ร่วมกับช่างภาพกีฬามากมาย และช่วยแนะนำการทำงานให้กับ แครแนห์ม ได้มากจนเขาบอกว่า “ผมพัฒนาไปมากกว่าที่ผมคิดว่าจะทำได้”
โอกาสที่น่าประทับใจที่สุดในการทำงานร่วมกันของทั้งสองคนคือตอนที่ มูฮัมหมัด อาลี ได้มาซ้อมที่ลอนดอนก่อนขึ้นชกกับ เฮนรี่ คูเปอร์ และตัวอาลี เชิญพวกเขาไปถ่ายภาพพอร์ตเทรตของตัวเองที่โรงแรม Savoy ในลอนดอน ซึ่งภาพที่ออกมามันเป็นอีกบรรยากาศหนึ่งของตัวนักชกรายนี้เลยก็ว่าได้ หนำซ้ำหลังจากนั้นแครแนห์มก็ยังได้ไปถ่ายการชกครั้งนั้นอีกด้วย
ช่างภาพที่สรรค์หาสิ่งใหม่
หลังจากที่ แครแนห์ม หันมาเป็นช่างภาพกีฬาอย่างถาวรเขาได้เดินทางไปตามสนามฟุตบอลต่างๆ ที่เป็นแพสชันของเขาในภายหลัง และได้มีโอกาสบันทึกภาพถ่ายของตำนานนักเตะในลีกการแข่งขันของอังกฤษมากมายหลายคน ทั้ง บ๊อบบี้ ชาร์ลตัน (แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด) บ๊อบบี มัวร์ (เวสต์แฮม ยูไนเต็ด) , จิมมี่ กรีฟส์ (ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์) , ปีเตอร์ ออสกู๊ด (เชลซี) และอีกมากมาย
เขายังเป็นช่างภาพคนแรกที่นำระบบการถ่ายแบบใช้รีโมตเข้ามาสู่การถ่ายกีฬาในสหราชอาณาจักรอีกด้วย เขาให้สัมภาษณ์ไว้ว่าจำได้ดีเลยในตอนที่เขาติดตั้งมันอยู่ข้างสนามแล้วเอากล้องไปไว้ที่ตาข่ายโกล์ว่าพวกบรรดาช่างภาพต่างล้อเขาว่าทำอะไร แฟนบอลก็ไม่เข้าใจ แต่สุดท้ายผลลัพธ์ที่เขาได้มามันน่าทึ่งมากๆ กับจังหวะกระโดดของ จอห์น ฮอลโลว์เบรด ผู้รักษาประตูของทีม ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ ภาพถ่ายภาพนี้ยังทำให้ความสงสัยของแครแนห์มต่อการทำงานในสายงานนี้สลายหายไปและกลับมามีความมุ่งมั่นที่จะเดินต่อไปในฐานะช่างภาพ
นอกจากนี้ข้อแตกต่างของเขาในยุคดังกล่าวเราพูดได้เต็มปากเลยว่าคือการถ่ายภาพสี เพราะสมัยนั้นภาพสี ฟิล์มสี ยังไม่ได้รับความนิยมอย่างทุกวันนี้ และคนยังมองว่าภาพสีมันยังเป็นเรื่องเล่นๆ มากกว่าแต่ แครแนห์ม ก็ยังยึดมั่นในเรื่องของภาพสีอยู่ดี มันทำให้เราเห็นว่าเขาเป็นช่างภาพที่มองสู่อนาคตมากๆ จากทั้งรีโมต และการเลือกใช้ฟิล์มสี
“ผมไปเจอคนนึงที่ทำงานให้กับ วอลต์ ดิสนีย์ สุดสัปดาห์เขารับจ็อบเสริมทำงานเป็นนักข่าวกีฬา เขาบอกกับว่าผม ‘เจอร์รี่ ภาพสีมันคืออนาคตของวงการ นายควรจะถ่ายสีนะ’ เท่านั้นเลย
“ตัวผมเองก็เห็นงานจาก Time หรือ LIFE และผมก็มองว่ามันเป็นอนาคตของวงการเลย พอผมเป็นคนเพียงไม่กี่คนที่ใช้ฟิล์มสีในยุคนั้นที่อังกฤษนี่มันก็ทำให้ผมนำหน้าคนอื่นอยู่เหมือนกัน”
ยังไงก็ตามเรื่องสีไม่ได้เป็นเรื่องเดียวที่ทำให้งานของ แครแนห์ม โดดเด่นแต่ยังมีเรื่องของเทคนิคการถ่ายต่างๆ การใช้ระยะซูมที่แตกต่าง มู้ดของรูปที่มันมีระยะโฟกัสต่างกันไป การละลายหลัง รวมไปถึงคอมโพสิชั่นที่แตกต่างไปจนถึงการเลือกเรื่องที่จะเล่าของเขา เช่น บรรยากาศ แฟนบอล หรือสภาพแวดล้อมของนักกีฬาก็ทำให้งานของเขาโดดเด่นขึ้น
จุดสูงสุดกับแชมป์ฟุตบอลโลกครั้งประวัติศาสตร์ของอังกฤษ
จนในปี ค.ศ. 1966 เป็นปีที่ฟุตบอลโลกจัดขึ้นโดยมีประเทศอังกฤษเป็นเจ้าภาพ และพวกเขาเองที่เถลิงแชมป์ในท้ายที่สุดและยังหักปากกาเซียนอย่างการคว่ำโปรตุเกสของ ยูเซบิโอ หนึ่งในนักเตะที่ดีที่สุดก็ว่าได้ในสมัยนั้นตกรอบ ก่อนเข้าชิงกับเยอรมนีตะวันตกแล้วสุดท้ายได้ถ้วย จูลส์ ริเมต์ มาครอง ซึ่งเหตุการณ์ที่ว่านี้ผ่านม่านชัตเตอร์ และสายตาของ แครแนห์ม มาทั้งหมดแม้กระทั่งตรงพื้นที่ซุ้มม้านั่งสำรองที่มี เซอร์อัลฟ์ แรมซีย์ โค้ชทีมชาติอังกฤษยุคนั้นนั่งอยู่ เขาก็สามารถบันทึกช่วงเวลากระโดดดีใจของทุกคนไว้ได้
“ภาพยูเซบิโอที่กำลังเศร้าภาพนั้นได้รางวัลด้วย ผมคิดว่าภาพนั้นเป็นภาพสีภาพเดียวด้วยนะที่ผมถ่ายเขาไว้ เอาเข้าจริงมันยากมากเลยที่ถ่ายด้วยฟิล์มสี เพราะตอนนั้นฟิล์มที่ผมใช้มันคือ Ektachrome ASA 60 เอง (ASA เป็นค่าความไวแสงที่ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นคำว่า ISO) คือผมก็มั่นใจในประสบการณ์ของตัวเองแต่มันก็ค่อนข้างควบคุมยากสำหรับการถ่ายกีฬา”
ในนัดชิงชนะเลิศอันที่จริง แครแนห์ม ได้รับมอบหมายโดย The Illustrated London News ให้ไปถ่ายภาพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ที่ 2 ตอนที่ทำการมอบถ้วยรางวัลให้กับผู้ชนะเลิศ แต่ตัวเขาเองมองว่ามันมีจังหวะอีกมากมายที่ให้ถ่ายเรื่องราวอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในเกม
พอใกล้สิ้นเสียงนกหวีดเป่าจบการแข่งขันขณะที่อังกฤษนำเยอรมนีตะวันตกอยู่ที่สกอร์ 3-2 เขาก็เริ่มเดินเพื่อไปรอถ่ายภาพที่ได้รับมอบหมายแต่ขณะที่เขาเดินอยู่นั่นเองเขาก็ได้ยินเสียงตะโกนร้องโหวกเหวกดีใจของกองเชียร์ทีมชาติอังกฤษดังขึ้นมาโดยต้นเหตุคือประตูที่ 4 ของพวกเขาที่เป็นการการันตีตำแหน่งแชมป์โลกของพวกเขาทันที
แครแนห์ม ไม่สามารถบันทึกจังหวะนั้นไว้ทันหากแต่เขาหันไปเห็นพื้นที่ม้านั่งของผู้เล่นสำรอง และบรรดาทีมโค้ชของทีมชาติอังกฤษที่กำลังตะโกนโห่ร้อง และกระโดดดีใจกันอย่างบ้าคลั่งแต่เฮดโค้ชอย่าง เซอร์อัลฟ์ แรมซีย์ กลับนั่งนิ่งและมองไปข้างหน้าอย่างเฉยชา เขาเลยเลือกที่จะบันทึกจังหวะนั้นไว้อย่างไม่ลังเล
ภาพถ่ายภาพนั้นกลายเป็นภาพถ่ายที่ใครต่างพูดถึงในภายหลัง และเป็นภาพถ่ายสำคัญของวงการฟุตบอลอังกฤษ
แครแนห์ม ยังพูดถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนไปของการถ่ายภาพ โดยเฉพาะบรรดาช่างภาพในฟุตบอลโลกที่มีจำนวนแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยในปีค.ศ. 1966 นั้นมีช่างภาพอยู่เพียง 30 คนเท่านั้น และมีเพียงเขากับช่างภาพอีกหนึ่งคนที่ถ่ายภาพสี
“ผมแบกกล้องไว้สี่ตัวได้แต่ละตัวมีเลนส์แตกต่างกันไป เช่น 200มม. 30มม. 50มม. อะไรประมาณนี้ และพอมันเป็นฟิล์มโอกาสที่จะพลาดมันต้องน้อยขณะเดียวกันภาพที่ออกมามันต้องใช้งานได้ ผมจำได้ว่าผมใช้สมองกับร่างกายหนักมากทั้งวางเฟรม วัดแสงให้เป๊ะ โหลดฟิล์มให้กล้องเต็มไว้ตลอด อันที่จริงมันก็เป็นการฝึกฝนนั่นแหละเหมือนที่ผมฝึกฝนมาตั้งแต่เด็ก แต่พอเป็นสมัยนี้มันง่ายขึ้น กล้องดิจิทัลช่วยเราได้เยอะมากเหมือนกัน แต่มันก็ส่งผลลัพธ์ที่ออกมาแตกต่างกันอยู่”
_________________________________________________________________________________________________________
ในช่วงขณะหนึ่งของชีวิต เจอร์รี่ แครแนห์ม ได้รับโทรศัพท์จากพิพิธภัณฑ์ V&A (Victoria & Albert Musuem) เพื่อที่จะของานของเขาไปจัดแสดงแต่เขาปฏิเสธทางพิพิธภัณฑ์ไปค่อนข้างบ่อยเพราะง่วนอยู่กับการถ่ายงานของเขาจนเวลาผ่านไปเป็นเดือนที่ทางพิพิธภัณฑ์ยังโทรมาไม่หยุดเขาก็ยอมรับข้อตกลง โดยพิพิธภัณฑ์ก็บอกว่างานของเขามันไม่ใช่แค่ภาพถ่ายกีฬาทั่วไปแต่พวกเขามองเห็นว่ามันเป็นงานศิลป์มากกว่าภาพถ่ายกีฬาของคนอื่นๆ
โดยก่อนหน้างานของเขานั้นที่พิพิธภัณฑ์ได้รับเกียรติจาก Henri Cartier-Bresson และเขาเป็นช่างภาพคนที่สองที่ได้จัดแสดงงานที่นี่
_________________________________________________________________________________________________________
ที่มา :
https://www.amateurphotographer.co.uk/technique/interviews/sports-photography-fever-pitch-89344
https://www.blind-magazine.com/stories/gerry-cranham-a-life-devoted-to-sports-photography/