brand logo

PHOTO | LIFE | INSPIRATION

Dec 2024

ตั้ม - วุฒิพล อุจจธรรมรัตน์
Aperture Brought Me Here
เรื่อง: กษิดิ์เดช มาลีหอม
ภาพ: ธันวา ลุจินตานนท์
2 Oct 2023

ภาพถ่ายพามา

เมื่อเดินทางมาถึงคาเฟ่ที่นัดหมายในย่านเอกมัยผมได้รับการต้อนรับอย่างดีจากภาพก้อนเมฆน้อยใหญ่หลายท่าทางกำลังลอยผ่านอาคารสีสันสดใสที่เคลือบด้วยร่องรอยของแสงแดดและคราบฝนเป็นหลักฐานปรากฏเด่นชัดว่าภาพทั้งหมดถูกถ่ายจากเมืองในภูมิภาคเขตร้อนชื้น ระหว่างทางผมลิสต์คำถามมิอะไรต่อมิอะไรเกี่ยวกับภาพถ่ายแนวมินิมอลลิสม์เพื่อมาพูดคุยกับศิลปินในนิทรรศการภาพถ่ายครั้งแรกของเขา ขณะที่พวกเรากำลังพูดถึงบัญญัติของสไตล์ภาพที่รายล้อมเราอยู่ ตั้ม-วุฒิพล อุจจธรรมรัตน์ ผู้บันทึกเหล่าก้อนเมฆขี้อายในซีรีส์ภาพถ่าย The Peeking Cloud พูดขึ้นมาว่า 

“ปัจจุบันนี้ก็ยังไม่คิดว่าภาพตัวเองเป็นมินิมอล เพราะว่ามันมีความยุ่งเหยินอยู่ด้วยร่วมกับความฉูดฉาด คือ ความเป็นมินิมอลในความเข้าใจของเรานะ คือคุณไม่สามารถหยิบอะไรออกมาจากภาพได้อีกแล้ว ถ้าหยิบออกมา ภาพนั้นจะสื่อสารไม่ได้เลย นั่นคือความหมายของภาพมินิมอลที่เราเข้าใจ ก็เลยคิดว่าอย่างนี้ถ้าเราหยิบก้อนเมฆออกมามันก็ยังมีตึกอยู่ มันก็ยังไม่ได้มินิมอลแบบ 100% จริงๆ เราคำว่ามินิมอลมันมีหลายนิยาม” 

ตั้มเรียนจบปริญญาโทด้านกราฟฟิกดีไซน์จากเมลเบิร์นก่อนที่จะกลับมาอยู่ไทยเมื่อ 8 ปีก่อน ฉะนั้นรูปแบบและเอกลักษณ์ในภาพถ่ายของเขาจึงเต็มไปด้วยวัตถุทรงเรขาคณิตที่เหมือนถูกจับมาทีละชิ้นๆ และวางลงบนเฟรมอย่างใดอย่างนั้น ในช่วงที่เรียนอยู่นั้นตั้มชอบใช้เวลาว่างในการเดินถ่ายรูปไปตามถนนหนทางต่างๆ ที่เขากำชับกับเราว่าเวลาเดินเจ้าตัวจะเดินจริงๆ ไม่มีหยุด โดยภาพทั้งหมดเขานำมาเขียนเป็นบล็อคแนวท่องเที่ยวชื่อว่า Melbourne Brought Me Here นานวันเข้าภาพที่เขาถ่ายนั้นได้รวบรวมคนท้องถิ่นที่เคยอาศัยและผ่านไปผ่านมาในแต่ละย่านมาสนทนาถึงความหลังกันผ่านพื้นที่ออนไลน์ที่ตั้มสร้างขึ้นมาให้พวกเขาเหล่านั้นได้ไปทักทายความทรงจำครั้งเก่า เมื่อต้องกลับมาประเทศไทย เขาเปลี่ยนชื่อมาเป็น Aperture Brought Me Here นอกจากความชัดเจนในเรื่องของแบรนด์ดิ้งแล้ว ซึ่งน่าจะดูเป็นชื่อที่อธิบายความเป็นตัวตนของเขาต่อจุดยืนในปัจจุบันได้ดีทีเดียว

“เวลาถ่ายรูปพวกนี้เหมือนสายตามันโดนฝึกให้มองหาสี พวกทรงเหลี่ยมๆ กลมๆ เพราะเราทำงานกราฟฟิกมาด้วย คือพวกนี้ (รูปซีรีส์ The Peeking Cloud) บังเอิญหมดเลยนะ คือไม่ใช่ว่าวันนี้เราจะตั้งใจถ่ายก้อนเมฆ มันไม่ได้อยู่แล้ว หลายคนสงสัยว่าเป็น AI ทำรึเปล่า เราก็บอกว่าไม่ใช่ มันเป็นภาพถ่ายเรา ก็ภูมิใจมากว่าถ่ายออกมาได้ ”

นักทำซีน

คุยกันไปมาสักพัก เรามาหยุดในช่วงที่ผมถามว่าเขารู้สึกอย่างไรจากที่ทำกราฟฟิกแล้วหันมาทำงานเป็นช่างภาพ ตั้มนำเสนอคำว่า “วิชวลอาร์ตติส” ขึ้นมากลางวงสนทนาและคิดว่ามันเหมาะกว่าที่จะพูดถึงตัวตนของเขาในประเด็นต่างๆ ซึ่งผมเองก็เชื่ออย่างนั้น คำว่าวิชวลอาร์ตติสน่าจะตรงกับศิลปินร่วมสมัยหลายๆ คนที่พวกเขานั้นใช้ภาพถ่ายหรือสิ่งอื่นๆ เป็นเพียงสื่อกลางอย่างหนึ่งในการสื่อสารเรื่องราวที่เขาสนใจผ่านกระบวนการทางศิลปะ เช่นเดียวกับตัวเขาเองที่นำภาพถ่ายมาเรียบเรียงขึ้นใหม่และนำเสนอผ่านสิ่งพิมพ์ที่พวกเราน่าจะคุ้นเคยกันดีอย่างโฟโต้ซีน 

อย่างที่ได้ทราบกันว่าตั้มมีทักษะในการทำงานออกแบบ นอกจากผลงานภาพถ่ายผ่านแอคเคาท์อินสตาแกรม Aperture Brought Me Here เราสามารถติดตามอีกบทบาทนึงของเขากับการเป็นนักทำซีนผ่านอินสตาแกรมและเว็บไซต์ wuthipol.designs ที่ได้รวบรวมผลงานซีนทั้งหมดของเจ้าตัวเอาไว้ ในขณะที่ผมกำลังไล่ดูอย่างเพลิดเพลินตามรีลที่เขาสาธิตวิธีการเข้าเล่มในแต่ละแบบ ก็ได้สะดุดกับประโยคนึงที่ผมเห็นแล้วต้องชวนเขาคุยต่อ

“ส่วนตัวไม่เคยออกไปถ่ายรูปเพื่อที่จะทำโฟโต้ซีนเล่มใหม่ๆ เลย”

 ผมจึงถามต่อว่านี่คือไอเดียของการทำโฟโต้ซีนที่ผ่านมาทั้งหมดของคุณใช่ไหม

“ทุกภาพหรือทุกเล่มที่ผ่านมา ไม่เคยคิดว่าอยากจะทำหนังสือในไอเดียนี้แล้วออกไปทำ เคยคิดเหมือนกันแล้วออกไปถ่ายแต่มันไม่เวิร์ค เพราะพอเรากำหนดไอเดียปุ๊ปแล้วออกไปถ่ายเหมือนมันจำกัดทุกอย่างที่เรามองเห็น คือเวลาเราออกไปความคิดมันถูกจำกัดและโฟกัสอยู่แต่แบบนี้ พอได้รูปออกมาก็จะไม่ดี เราก็จะกดดันตัวเองด้วย เราจึงใช้วิธีไปถ่ายรูปแล้วก็เก็บๆ มาไว้ก่อนแล้วกลับไปดูอีกทีว่าสามารถนำมาทำอะไรได้บ้าง การที่ทำอย่างนี้มันทำให้งานแต่ละชิ้น มันดูธรรมชาติมากและไหลลื่นไม่มีอะไรมาบังคับให้มันอยู่ในคอนเซปต์แบบนั้นแบบนี้นะ” ซึ่งเพราะสุดท้ายสิ่งที่เราถ่ายมันก็มาจากตัวเราอยู่ดี ผมคิดว่าตั้มอยากจะบอกพวกเราอย่างนั้น

เขาเล่าให้ฟังว่าจุดเริ่มต้นมันเกิดขึ้นจากช่วงที่เขากำลังทำโปรเจกต์จบตอนที่เรียนอยู่เมลเบิร์น เขาเกิดไอเดียที่ว่ามันจะเป็นไปได้ไหมที่แมกกาซีนจะไม่มีข้อความอยู่ในนั้นเลย โดยใช้ภาพเป็นตัวสื่อสารเรื่องราวทั้งหมดแทน ซึ่งในภายหลังเขาก็ค้นพบว่ามันแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะปราศจากข้อความกำกับ และในช่วงที่เขาพัฒนาโปรเจกต์มาตลอดนั้นทำให้เขาได้คลุกคลีกับโฟโต้ซีนมากขึ้นประกอบกับวัฒนธรรมการบริโภคซีนในเมลเบิร์นที่แพร่หลายจับต้องได้ในราคาย่อมเยาว์

“ระหว่างเรียนอยู่ที่เมลเบิร์น ที่เมลเบิร์นจะเป็นเมืองอาร์ตๆ มีอาร์ตแฟร์มีซีนแฟร์ เราก็ลองทำไปขาย คือมันน่าสนใจตรงที่ว่าซีนที่เรารู้จักที่เมลเบิร์นกับซีนที่เรารู้จักที่เมืองไทย คือมันคนละรูปแบบแตกต่างกันสิ้นเชิง เพราะฝรั่งเขาชอบทำซีนแนวถูกใช้เครื่องซีร็อกซ์ขาวดำง่ายๆ ขายสองเหรียญ ซึ่งเราก็เข้าใจตลอดว่าซีนมันต้องเป็นอย่างนั้น” 

ในตอนที่เขากลับมาเมืองไทยก็เป็นช่วงเดียวกับงาน MAKE A ZINE ของ a day จึงได้มีโอกาสทำความเข้าใจตลาดซีนในเมืองไทย เจ้าตัวเล่าว่าแม้จะคัลเจอร์ช็อคนิดหน่อยกับราคาและความจริงจังของดีไซน์และการเลือกใช้วัสดุที่แตกต่างอย่างมากจากที่ที่เขาจากมา แต่ถึงอย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นในงานนั้นได้เปลี่ยนเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานตามความถนัดของตัวเอง “ปกติช่างภาพที่เขาอยากจะโปรโมทตัวเอง เขาจะเริ่มต้นด้วยนิทรรศการให้มีสื่อมีอะไรมาสัมภาษณ์ ของเรามันเริ่มจากสิ่งที่เราชอบ เราชอบดีไซน์เลยขยันทำ เอาภาพตัวเองนี่ล่ะมาเป็นคอนเทนต์

ซึ่งตัวนิทรรศการ The Peeking Cloud ก็เคยถูกรวบรวมเป็นโฟโต้ซีนมาก่อน โดยตัวรูปเล่มมีขนาดเท่าฝ่ามือมีสำลีสีขาวอยู่บนตัวเล่มสีน้ำเงินไล่เฉดเหมือนเป็นก้อนเมฆที่กำลังลอยอยู่บนท้องฟ้า

“จริงๆ มันก็เป็นหนังสือซีนธรรมดา แต่ก็อย่างที่บอกว่าก็ชอบทำให้มันไม่ธรรมดา ต้องดูตัวอย่างที่เอามาวางไว้ร้านคือมันจะความเกี่ยวกับปรัชญาอิจิโกะ อิจิเอะ เราก็เอามาตั้งไว้ปกติใช่ป่ะ คือก้อนเมฆมันจะเปลี่ยนเป็นเมฆฝนในที่สุดเพราะพอคนจับแล้วมันจะดำขึ้นเรื่อยๆ มันก็เชื่อมโยงกับคอนเซปต์ได้ ภาพในนิทรรศการเกือบทุกภาพก็มาจากในเล่มนี้ การดีไซน์ส่วนตัวจะไม่ชอบหน้ากลาง เพราะว่ามันจะมีรอยเย็บตรงกลางก็จะชอบเอาข้อความมาอยู่หน้ากลาง หาพวกกิมมิคให้มาดึงดูด เช่นไปได้ไอเดียในร้านยี่สิบบาท ไปเห็นที่ห่อเหรียญโปรยทานแต่ตอนนั้นมันเป็นสีเหลือง ก็เลยไปหาสีฟ้าเอามาตกแต่งให้เหมือนก้อนเมฆ การเย็บก็ใช้ด้ายสีขาวเพื่อให้มันเข้ากับก้อนเมฆ” 

Decisive Moment ผ่านปรัชญาญี่ปุ่น

อิจิโกะ อิจิเอะ 【一期一会】ปรัชญาว่าด้วยการอยู่กับปัจจุบัน ที่มีต้นกำเนิดจากพิธีชงชาของประเทศญี่ปุ่นซึ่งหากแปลความหมายที่ตรงตัวที่สุดก็คือเรื่องของการพบกันเพียงครั้งเดียว มนุษย์อาจจะเผชิญและพบเจอเรื่องในชีวิตที่อาจเป็นทั้งครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในเวลาเดียวกัน หลักคิดที่ว่าสัมพันธ์กับการพบเจอเหตุการณ์ต่างๆ ที่ตั้มได้บันทึกออกมาเป็นภาพถ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปก้อนเมฆใน The Peeking Cloud

“จริงๆ ไปรู้จักกับปรัชญานี้จากหนังสือของนิ้วกลม ซึ่งเราสนใจมากเลยไปซื้ออีกเล่มนึงที่เป็นหนังสือแปลจากภาษาญี่ปุ่น อิจิโกะ อิจิเอะ เป็นปรัชญาที่เราใช้ในชีวิตมาตลอด เราควรจะอยู่กับปัจจุบันเห็นคุณค่าของทุกสิ่งทุกอย่างในปัจจุบัน เพราะถ้าปัจจุบันมันผ่านไปแล้วมันผ่านเลย ไม่สามารถนำกลับมาได้แล้ว ไม่สามารถเกิดซ้ำได้อีก ก็เลยเอาปรัชญานี้มา ลองมาเชื่อมกับตัวงานที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นโฟโต้บุ๊คส์เล่มเก่าๆ หรือภาพผลงานเก่าๆ เราก็เลยลองกลับมาดูภาพก้อนเมฆ มันเข้ากับปรัชญาญี่ปุ่นนี้มากเพราะว่าอย่างก้อนเมฆ แต่ละก้อนที่ถ่ายมาเราว่านะ มันไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นเหมือนเดิมแม้ว่าเราจะไปรอที่เดิมเวลาเดิม มันก็คงไม่ได้ลอยมาเป็นแบบนั้นหรือวันนั้นอาจจะฝนตก แล้วแต่สภาพอากาศ แสงไม่เหมือนกัน ก็เลยคิดว่านี่คือปรัชญาที่เชื่อมโยงกับคอนเซปต์นี้ได้ดีมาก” สำหรับผมแล้วปรัญชาตะวันออกเรื่องนี้คล้ายคลึงกับช่วงเวลา Decisive Moment เข้าเสียจริง

โฟโต้ซีนไม่ใช่โฟโต้บุ๊คส์

ซีนของตั้มมักจะนำเสนอด้วยภาพก่อนทุกครั้ง เพราะเขามีความเชื่อหากผู้ชมเห็นข้อความที่อธิบายถึงเนื้องานก่อนแล้วจะทำให้ประสบการณ์ในการรับชมซีนนั้นหดหายไป “อยากให้เขาซึมซับเรื่องราวเนื้อหาภาพก่อน สมมติเขาเปิดไปอ่านก่อนเลยไอเดียเขาจะโดนเซตมาแล้วว่ามันจะต้องเป็นแบบนี้ แต่ว่าถ้าเขาเห็นภาพก่อนเขาอาจจะคิดไปอีกแนวทางนึง อีกสตอรี่นึง เหมือนมันเปิดกว้างกว่า ให้เขาได้มีโอกาสเข้าใจภาพในแบบที่เขาอยากจะเข้าใจก่อน

จากกรุงเทพฯ ตั้มเดินสายไปงานอาร์ตบุ๊คส์แฟร์ในหลายประเทศโดยแต่ละที่นั้นมอบประสบการณ์และแรงบันดาลใจในการพัฒนาการทำซีนของตัวเขาเอง และสุดท้ายเขาก็เริ่มจับทางได้ว่าอะไรคือซีนในแบบฉบับที่เขาอยากจะนำเสนอจะต้องมีหน้าตาแบบไหน

“ตอนเริ่มแรกเราก็ยังแบบติดอยู่กับแนวคิดที่ว่าเป็นโฟโต๊บุ๊คส์ไม่ใช่โฟโต้ซีน เพราะโฟโต้บุ๊คส์ เป็นแบบเปิดมามีแต่ภาพ ซึ่งเรารู้สึกว่ามันเริ่มขายไม่ได้เพราะว่าคนไม่อินกับสตอรี่ที่เราอยากจะเล่า เราก็เริ่มไปออกงานที่สิงคโปร์ โตเกียว ได้เริ่มซึบซับเรียนรู้ดีไซน์ต่างๆ ในสิ่งพิมพ์พวกนี้ ถึงได้รู้มาว่าเราต้องหาเหตุการณ์เฉพาะในการทำซีนของเรา ที่ไม่ได้ออกไปทางโฟโต้บุ๊คส์จ๋าแต่จะอยู่กึ่งกลางระหว่างทั้งสองแบบ โดยเราสามารถจะใส่แพคเกจจิ้งเข้าไป แต่ไม่ใช่ว่าใส่แพคเกจจิ้ง เพื่อให้มันสวย เราใส่เพื่อมันมีความหมายอยู่ เชื่อมโยงกับคอนเซปต์ข้างในด้วย ที่ผ่านมายังไม่ค่อยมีใครทำเยอะ” 

พอพูดถึงเรื่องแพคเกจจิ้งก็เหมือนเป็นนาฬิกาปลุกเตือนเจ้าตัวให้หยิบโฟโต้ซีนบางส่วนที่เตรียมมาเอาให้พวกเราดูบนโต๊ะที่ละเล่ม โดยเล่มแรกที่เขาเปิดขึ้นมานั้นคือซีนที่มีขนาดเล็กกว่ามือถือ ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยเรามารู้ที่หลังว่าเขาตั้งใจทำขนาดให้เท่ากระเบื้องที่จะเชื่อมโยงไปถึงเรื่องราวที่เขาสนใจตอนครั้งเมื่อได้ไปไต้หวัน นอกจากนี้ตัวเล่มจะมีตาข่ายห่อไว้คล้ายทำหน้าที่หุ้มไม่ให้สิ่งที่อยู่ในซีนร่วงลงไป

“ไต้หวันจะมีตึกพวกที่เขาไม่ได้ฉาบปูนทาสีเหมือนบ้านเรา แต่นำกระเบื้องขนาดเล็กมาเรียงต่อกัน แล้วเยอะมาก คล้ายกระเบื้องในห้องน้ำอย่างนั้นเลย เราชอบก็เลยได้เก็บภาพมา ถึงกลับมาถึงเมืองไทยก็ย้อนกลับไปดูงาน เราก็เลยคิดว่ามันน่าจะมีอะไรเกี่ยวกับสตอรี่พวกนี้ เราก็เลยไปหาดูปรากฏว่าแต่ละตึกมันจะมีตาข่ายขึงตึกอยู่ตั้งแต่ชั้นสอง เพราะว่ามันเกิดเหตุการณ์ที่กระเบื้องร่วงลงมาใส่คน แบบเสียชีวิตก็มี เราก็เลยเอาไอเดียนั้นมาทำซีน เล่มนี้ชื่อเล่มว่า Cover Up ตัวเล่มก็จะเท่าไซส์กระเบื้องของเขาเลย โดยจะมีตาข่ายห่อไว้ เพราะเวลาคนเปิดหนังสือออกมา รูปข้างในก็จะร่วงมาด้วย” 

นี่ก็เป็นอีกหนึ่งในตัวอย่างที่สร้างไอเดียการทำซีนเล่มใหม่ๆ จากภาพที่ถ่ายเก็บมาตลอดตามประเด็นที่เราชวนกันคุยไปในช่วงต้น ซึ่งเจ้าเล่ม Cover Up นี้ก็ได้ไปโชว์ตัวตามเทศกาลอาร์ตบุ๊คแฟร์ต่างๆ ทั้งที่เซี่ยงไฮ้ โตเกียว โซล สิงคโปร์ เป็นต้น โดยตั้มมองว่างานของตัวเองมีเอกลักษณ์ทั้งขนาดกะทัดรัดบวกกับประเด็นที่เป็นเหตุการณ์เฉพาะเชื่อมต่อความทรงจำกับคนในพื้นที่และดีไซน์ของรูปเล่มที่เป็นสากลเข้าถึงคนทั่วไป โดยเฉพาะการเป็นพื้นที่กลางระหว่างคนและความทรงจำ ถือเป็นสิ่งที่เขาเคยทำมาก่อนตั้งแต่ตอนที่เขียนบล็อค Melbourne Brought Me Here และรูปลักษณ์ของโฟโต้ซีนจาก wuthipol.designs นั้นสำหรับตัวผมเองมันเอื้อต่อการซื้อนำไปฝากใครสักคนหรือสะสมไว้เพื่อเตือนความจำต่อเหตุการณ์บางอย่างที่หลังจากนี้เราอาจจะลืมมันไปอย่างเช่นเล่ม Little Yellow Spots ที่ตั้มเคยได้มีโอกาสไปออกงานอาร์ตบุ๊คส์ที่สิงคโปร์แต่ระหว่างที่อยู่ที่นั่น เขาสังเกตเห็นพฤติกรรมบางอย่างของสังคมที่กระตุกความรู้สึกทำให้เกิดความสนใจเข้าอย่างจังจนต้องบันทึกเก็บไว้และเรื่องดังกล่าวกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่อยากจำของคนสิงคโปร์ที่น่าสะสม 

”Little Yellow Spots เป็นแนวบริบทเมืองสะท้อนปัญหาสังคมในช่วงเวลานั้น คือมันจะเป็นจักรยาน ofo ที่ต้องสแกนคิวอาร์โค้ด จะมีปีนึงผมไปสิงคโปร์บ่อยแล้วมันแปลกตามาก เพราะปกติเมืองเขาจะต้องเด่นเรื่องความสะอาดตาสุดๆ แต่พอมาเจอพวกจักรยานที่จอดเรี่ยราดอยู่กลางถนน ก็เลยเป็นต้นกำเนิดของงานนี้ขึ้นมา มันตลกที่แบบสิงคโปร์มีชื่อเสียงเรื่องความเป็นระเบียบ แต่เราไปเจออะไรอย่างนี้เราต้องเก็บมาไว้ คือเหมือนว่าทำแล้วผมก็เอาไปขายที่สิงคโปร์ คนเขาก็ซื้อกันเขาบอกว่ามันเหมือนภาพประวัติศาสตร์ส่วนนึงที่เขาไม่ค่อยอยากจำ แต่เขาก็ซื้อเก็บไว้ ซึ่งการที่อยู่ๆ มันจอดแล้วมันจอดไว้เลย มันตลกดี มันสะท้อนว่าเขาใช้จักรยานนี้ก็จริง แต่ปัญหาคือที่จอดเขาไม่มีให้ คนเลยเอามาจอดทิ้งขว้างแบบนี้มันก็เลยเกิดปัญหา” 

เมืองสีฉูดฉาด

สำหรับ The Peeking Cloud นิทรรศการภาพถ่ายครั้งแรกของตั้มจัดที่ INK & LION Café สามารถเข้าชมได้ถึงวันที่ 8 ตุลาคมนี้ ซึ่งในระหว่างนี้เจ้าตัวก็ได้เปิดตัวนิทรรศการลำดับที่สองของตัวเองในชื่อ Urban Mess ที่ Mesa 312 ถนนทรงวาด สามารถเข้าชมได้แล้วตั้งแต่วันที่ 22 กันยายนถึง 1 ตุลาคมนี้เท่านั้น ในส่วนของงานชุดที่สองนอกจากสีสันที่มีเสน่ห์ดึงดูดความรู้สึกเมื่อแรกเห็นและแพทเทิร์นที่จัดเรียงดูเพลินตาของซับเจคในแต่ละภาพ โดยภาพชุด Urban Mess ยังสามารถชวนคุยได้ถึงเรื่องของบริบทเมืองที่ต่างกันไปที่ว่ากันด้วยเรื่องของสีทาบ้าน

“งานเซตนี้จะเชื่อมโยงกับเรื่องการใช้สีสันตามตึกและอาคารของเมืองไทยและในกรุงเทพฯ เป็นเรื่องราวที่อยากให้ผู้เข้ามาชมงานถามว่าตึกที่เราเห็นในกรุงเทพฯ สีเหลือง สีม่วง สีแสด เขาตั้งใจทาหรือเขาสุ่มเอามาทา คือมันมีหลายปัจจัยมากเลยนะเอาจริงๆ แล้ว นิทรรศการจึงชื่อ Urban Mess คือมันรู้สึกว่าความรกแต่มันก็มีความสวยงามอยู่”

โดยเขายกตัวอย่างโครงการ HDB แฟลต ที่รัฐบาลสิงคโปร์จัดสรรให้ประชาชน “อย่างที่สิงคโปร์ที่เคยไปพวกโครงการ HDB  ที่รัฐบาลสร้างให้แล้วทาสีฉูดฉาด เคยถามคนสิงคโปร์ว่าที่เป็นสีแดงใครเลือก เขาบอกว่าจริงๆ เขาจะมีแบบมาก่อนแล้วให้คนที่อยู่โหวตเอาว่าจะเอาแบบไหน (ตั้มเล่าไปหัวเราะไป) เขามีแบบนี้ด้วยเนอะ อันนี้คือเป็นความสิงคโปร์มาก” 

หากเรากำลังเล่นเกมสี่ต่อสี่ซันเดย์อยู่แน่นอนว่าหลักฮวงจุ้ยคงเป็นคำตอบที่มีคะแนนอันดับต้นๆ ในการเป็นปัจจัยเลือกทาสีบ้าน ก่อนที่จะไปเลือกตอบปัจจัยอื่นๆ อย่างการเลือกใช้สีที่โดดเด่นเพื่อเป็นการจำแนกสถานที่แต่ละแห่ง หรือการเลือกใช้สีที่จัดจ้านเพื่อประหยัดงบประมาณในการที่จะต้องทาสีซ้ำๆ เพราะเมืองไทยเป็นเมืองร้อน ซึ่งในประเด็นหลังสุดเป็นเหมือนฐานของนิทรรศการครั้งนี้ และเป็นปัจจัยที่สร้างความเข้าใจต่อบ้านเมืองในเขตภูมิภาคร้อนชื้นได้เป็นอย่างดี

“เรื่องสภาพอากาศ เราว่ามันน่าสนใจมาก คือไปค้นมาในเน็ตที่เขาเขียนๆ กัน ไปเจอมาว่าเมืองไทยอยู่ในเขตโซนร้อน มันเลยเหมาะกับสีจัด ก็เลยนึกย้อนกลับไปสิงคโปร์ที่เราเคยไป ก็สีฉูดฉาดพอๆ กับเมืองไทย โอเคเราก็หาดูว่าเขตร้อนในโลกมีอะไรบ้าง ก็ไปดูไมอามี่ มีเพื่อนต่างชาติอยู่ที่นั่นเขาก็ถ่ายรูปสีออกมาประมาณนี้ เราก็เลยกลับไปดูอินเดียก็มีสีฉูดฉาดเหมือนกันหรืออย่างคิวบา ชิลี อาร์เจนติน่าเขตร้อนหมดเลย แล้วเราก็ไปดูพวกโซนข้างล่างเส้นผ่าศูนย์กลางเกือบทั้งหมดมีสีฉูดฉาดมากกว่าพวกที่อยู่บนๆ อย่างญี่ปุ่น เกาหลี จีนหรือทางยุโรปพวกนั้นสีครีมสีเทาหรือสีซับเทิลเยอะกว่า” 

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตั้มมีผู้ติดตามเป็นชาวต่างชาติเยอะ เพราะสายตาที่เขามองเห็นถึงสิ่งรอบตัวและความสนใจต่อปรากฏการณ์ต่างๆ ที่คนเอเชียอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องเคยชินแต่สำหรับตั้ม วิถีพวกนี้เป็นเสน่ห์ที่มีแรงดึงดูดให้ตัวเขาเข้าไปบันทึกเป็นภาพถ่ายและถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจเสมอ