brand logo

PHOTO | LIFE | INSPIRATION

Jan 2025

เกริกบุรินทร์ เกิ้งบุรี
The Quarantine Report
เรื่อง: กษิดิ์เดช มาลีหอม
ภาพ: ธันวา ลุจินตานนท์
19 Jun 2023

“ไม่มีแม้สักภาพนึงที่จะปล่อยให้คุณอยู่อย่างสงบ ภาพและเสียงที่สว่างวาบอยู่ต่อหน้าคุณ มันกำลังเรียกร้องอะไรบางอย่างจากคุณอยู่เสมอ” ตัวละครฟิลิป วินเทอร์ (Philip ‘Phil’ Winter) ในภาพยนตร์ Alice in the Cities (1974)  กำลังสาธยายถึงความเบื่อหน่ายต่อรายการทีวีในสหรัฐอเมริการะหว่างที่เจ้าตัวกำลังเดินทางทั่วประเทศเพื่อหาข้อมูลมาเขียนหนังสือ ประโยคที่ว่านี้ป๊อปอัพขึ้นมาในหัวหลังจากได้ชมนิทรรศการ The Quarantine Report  ของบาธ เกริกบุรินทร์ เกิ้งบุรี  ผมก็นึกขึ้นมาว่าจริงด้วยทีวีไม่เคยหยุดที่จะดึงความสนใจจากเราโดยเฉพาะพวกโฆษณาทั้งหลาย ในขณะเดียวกันทุกครั้งที่เรานั่งดูทีวี เราไม่ได้อยู่ในอิริยาบทแห่งการต่อต้าน เราช่างสำรวมเหลืออะไรและบางครั้งเราเคารพมันเสียยิ่งกว่าพระพุทธรูปบนหิ้งเสียอีก ทีวีจึงเป็นเครื่องมือชั้นยอดในการอยากจะบอกเรื่องราวต่างๆ ให้ผู้คนนั้นฟังอย่างเงียบๆ ไม่สามารถปริปากสวนพวกเขาได้ 

The Quarantine Report สะท้อนวิถีการเสพสื่อของคนในสังคมไทยและเสียดสีเนื้อหาของสื่อทั้งข่าว ความบันเทิงและโฆษณาภายใต้การควบคุมของบุคคลบางกลุ่มได้เป็นอย่างดี ก่อนที่จะเป็นนิทรรศการนั้น The Quarantine Report อยู่ในแพลตฟอร์มของหนังสือมาก่อน โปรเจกต์นี้เกิดขึ้นตอนที่เจ้าตัวบินกลับมาไทยหลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านการถ่ายภาพจาก The University of the West of England เพราะทันใดที่กลับถึงไทยอีกหนึ่งเดือนต่อมาประเทศก็ถูกล็อกดาวน์เนื่องจากมาตรการรับมือต่อสถานการณ์ COVID-19 โปรเจกต์ชุดนี้เป็นความสนใจส่วนตัวกึ่งความชอบในการหยิบจับประเด็นของยุคสมัย ต้องเล่าย้อนไปก่อนที่บาธจะกลับมาถึงไทย เขาได้ทำโปรเจกต์จบชื่อ Far From Home เป็นซีรีส์ภาพถ่ายที่เหมือนไดอารี่ส่วนตัวที่เล่าผ่านสายตาสองข้างที่เขาได้พบเจอกับความเป็นอังกฤษในแบบฉบับที่ไม่เหมือนไกด์บุ๊กที่ได้อ่านก่อนเดินทางมาถึง ภาพส่วนใหญ่เล่าผ่านความเป็นองค์ประกอบของภาพสตรีทและไม่ได้ลงลึกในเชิงของการค้นคว้าข้อมูลมาสนับสนุนเนื้อหามากนัก การกลับมาไทยในเวลานั้นเจ้าตัวจึงอยากที่จะทดลองทำสิ่งใหม่ด้วยวิธีการรีเสิร์ชที่พยายามจะลงลึกในตัวคอนเซ็ปต์งานให้มากขึ้น 

“พอไปเรียนที่นั่นมันเหมือนไปอีกโลกเลย ได้ไปรู้จักพวกโปรเจกต์ส่วนตัว (Personal Project) ในวัฒนธรรมโฟโต้อาร์ตฝั่งยุโรปที่มันต่างจากบ้านเราที่ยึดเทรนด์ที่มักจะอ้างอิงกับคอมเมอร์เชียลด้วย เช่นการทำกับแบรนด์กล้อง แต่ที่นู่นมัน (การถ่ายภาพ) เป็นเหมือนการเขียนหนังสือหรือทำเพลงหนึ่งอัลบั้มเลย”

เดิมทีบาธเกิดที่จังหวัดลำปาง แต่มาเติบโตใช้ชีวิตที่จังหวัดเชียงใหม่ จริงจังกับการถ่ายภาพครั้งแรกในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย บาธจบการศึกษาปริญญาตรีหลักสูตรเทคโนโลยีการพิมพ์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ในช่วงเวลานั้นเขารับงานถ่ายภาพตามอีเวนต์ทั่วไป จนมาพบจุดเปลี่ยนต่อมุมมองภาพถ่าย ตอนที่ได้รู้จักผลงานของวินัย ดิษฐจร ที่เป็นช่างภาพคนสำคัญที่ทำให้เขาสนใจต่องานแนวภาพข่าวสารคดี (Photojournalism) ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่เหตุการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่ความรุนแรง 

ด้วยความที่บาธได้ใช้ชีวิตวัยรุ่นผ่านช่วงเวลาการเกิดรัฐประหารตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 มาทำให้เขาได้สัมผัสเหตุการณ์ทางการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะเวลาเหมือนขั้นบันไดที่ทำให้เขาสนใจเรื่องการเมืองขึ้นเรื่อยๆ จนมากพอที่อยากจะเล่าออกมาผ่านภาพถ่าย งานชุดนี้ของบาธจึงเข้มข้นและมุ่งเน้นไปในลักษณะบทบันทึกประวัติศาสตร์ สังคมและการเมืองมากกว่าสิ่งใด

“Work From Home” วลีที่ถูกใช้ทั้งในการโฆษณาผ่านรัฐให้ประชาชนลดความเสี่ยงในการเจอกันในช่วงสถานการณ์ COVID-19 และผ่านการโฆษณาขายอาหาร เครื่องดื่ม ยันเฟอร์นิเจอร์แต่งบ้าน และต้นไม้ฟอกอากาศของธุรกิจน้อยใหญ่

บาธเล่าว่าเขาถูกจุดประกายการริเริ่มโปรเจกต์ The Quarantine Report จากวลีแห่งยุคดังกล่าว

“เหมือนช่วงนั้นเขาเข้มงวดมากเลยนะว่าห้ามออกจากบ้านจะมีเคอร์ฟิวส์ เราก็เลยไม่ออกก็ได้ ก็เลยถ่ายไอ้นี่ (ทีวี) ไป ตอนแรกมันเริ่มจากเราดูข่าวก่อนเราเห็นความประหลาดของคนใส่หน้ากากคุยกันในข่าว แล้วเสียงมันอู้อี้ๆ เราก็เลยถ่ายแบบตลกๆ กวนๆ เก็บไว้ในมือถือ เราเริ่มจากถ่ายคนใส่หน้ากากในทีวีเหมือนเรคคอร์ดไว้ว่ามันเป็นช่วงเวลานึงที่คนต้องใส่หน้ากากเข้าหากันจริงๆ ก็จะเล่นกับคำว่าใส่หน้ากากเข้าหากัน แล้วก็จะดูหมอทวีศิลป์ทุก 11 โมงที่จะแถลงทุกวันแล้วเหมือนภาพหลอนเรา เราก็เออ… สิ่งนี้มันมีอิทธิพลต่อเรามากเลย

“รูปมันประหลาดเหมือนสิ่งที่มันส่งมาหาเรามัน distorted (บิดเบี้ยว) ไปแล้ว” บาธเล่าให้เราฟังหลังจากชี้นิ้วไปที่รูปใบแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นของเทคนิคการถ่าย และสไตล์ของภาพในโปรเจกต์นี้เป็นรูปผู้ประกาศข่าวผู้หญิงช่องสามสีท่านหนึ่งที่ภาพเกิดอาการบิดเบี้ยวของสัญญาณในวันที่ฝนตกหนักที่เรารู้จักกันดีว่าคือ Digital Glitch (ความบกพร่องหรือข้อผิดพลาดของสัญญาณ) ทำให้เขาเริ่มตั้งคำถามระหว่างช่วงเวลาที่บ้านทุกหลังถูกล็อกดาวน์ว่าสิ่งที่สื่อสารจากในทีวีดูเหมือนจะเป็นดาวดวงเดียวที่คนจะมองหาเวลาหลงทาง ข้อมูลข่าวสารต่างๆ เหล่านั้นคือ ความจริงหรือเป็นเพียงข้อมูลที่ใครบางคนต้องการบอกแก่เรากันแน่ นอกจากนี้ภาพทั้งหมดยังชวนสำรวจถึงบริบทสังคม วัฒนธรรมการเสพเนื้อหา และโฆษณาของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เรียกร้องความสนใจไม่แพ้ใคร 

อาการของภาพที่ตะกุกตะกักบิดเบี้ยวไปมามันชวนให้คิดถึงต่อเสียงที่ออกมาจากลำโพงว่าสิ่งที่เรารับมาคือเรื่องเดียวกับภาพที่เราเห็นไหม ภายในตัวนิทรรศการจะมีทีวีจอแก้วนั่งเรียบร้อยอยู่กลางห้องต่อเข้ากับกล่องแอนดรอยด์สิ่งต่อเติมของความบันเทิงราคาถูกในยุคนี้ที่บาธตั้งใจนำเสนอว่า แม้วันนี้เรามายืนอยู่ในจุดที่มีสมาร์ททีวีแล้ว แต่ข้อมูลบางอย่างในอดีตที่เคยเป็นมาก็ยังอยู่ดี ยังอยู่ดีเสมอมา

เหตุผลสำคัญที่บาธเลือกบันทึกเฉพาะรายการฟรีทีวี เพราะเขาเชื่อว่ามันเป็นสื่อที่มีการควบคุมจากกลุ่มคนที่มีอำนาจและพวกเขามีความสุขที่จะเห็นเนื้อหาพวกนี้เดินทางไปสู่ประชาชน “สื่อไหนที่เขาไม่แฮปปี้เขาก็จะปิด มันก็เป็นเรื่องปกติของการคอนโทรลผ่านอำนาจรัฐ” บาธบอกว่าเขารู้สึกถึงสิ่งนี้มาตั้งแต่ก่อนเรียนจบจนถึงตอนนี้

อันที่จริงแล้วทีวีมีอิทธิพลในการสร้างชุดความคิดบางอย่างตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้ว บาธกล่าวนำให้เราคิดตามถึงสถานะของทีวี ถึงแม้ชีวิตประจำวันตอนนี้ผู้คนจะดูข่าวในมือถือมากกว่าทีวีแน่ๆ แต่ในชนบทหรือระแวกหมู่บ้านที่บาธอยู่ที่เชียงใหม่ ทีวียังเป็นศูนย์รวมข่าวกรองตัวจริงของหมู่บ้านมากกว่าสมาร์ทโฟน (ที่ไม่ได้มีกันทุกคน) บาธบรรยายต่อให้เราฟังว่าในหนึ่งวันเขาจะคอยสังเกตว่าบ้านแต่ละหลังเลือกดูรายการอะไรบ้างและมันทำให้เขาเห็นสิ่งใดบ้าง “อย่างบ้านเราอยู่อำเภอรอบนอกก็จะได้เห็นเขาดูมวยช่วงกลางวัน เราก็ได้ดูพฤติกรรมคนในหมู่บ้านด้วยว่าช่วงโควิดเขาทำอะไรกัน เหมือนญาติพี่น้องเราเขาดูละครกันทั้งวันทั้งคืน พอตกกลางคืนเขาก็จะบอกเราว่าอย่าออกไปนะตัวเลขมันเท่านั้นเท่านี้ เราก็เลยรู้สึกว่ามันอิมแพค” ข้อมูลนี้จึงทำให้บาธรู้สึกว่าทีวีมีอิทธิพลต่อชีวิตมากๆ ซึ่งการบ่มเพาะให้คนซึมซับไปนานวันมันสามารถนำไปสู่ความเชื่ออะไรบางอย่างได้จริงๆ

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาสำนักข่าวหลายช่องเคยเสนอข่าวคดีฆาตกรรมคดีหนึ่งจนเป็นกระแสดันเรตติ้งสูงติดลมบนอยู่หลายเดือน ด้วยวิธีการนำเสนอที่สนุกเล่าผ่านฉากตอนเสริมจินตนาการจากข้อมูลเพื่อดึงดูดความสนใจให้คนเฝ้าติดตามเรื่องราวต่อไป  “ถ้าเราไปนั่งดูข่าวทุกวันนี้ เขาจะเล่าข่าวเหมือนการทำ Storytelling” บาธเสริมต่อ “แต่ละครมันจะต่างกับข่าวตรงที่มันเสริมจินตนาการในสิ่งที่เขาอยากมีประสบการณ์แบบนั้น อยากเป็นตัวละครนั้น” ซึ่งจุดนี้ก็ยิ่งทำให้งานเซตนี้สนุกยิ่งขึ้นเมื่อได้ผูกกับมิติการบริโภคสื่อของคนไทย 

ภาพของผู้ชายคนหนึ่งที่กำลังปล่อยลำแสงออกจากลูกตา ทำท่าทางเหมือนตัวละครไซคลอปส์ในคอมมิคเอ็กซ์เมน จังหวะแรกผมคิดว่านี่คือฉากจากหนังอินเดียเรื่องนึงแน่ๆ แต่อันที่จริงแล้วเป็นโฆษณาขายปุ๋ยทิพย์ระหว่างพักเบรคจากเทปมวยรีรันในช่วงล็อกดาวน์ บาธเล่าต่อว่าภาพทุกภาพนั้นเกิดจากการปะทะกันกับความรู้สึกเบื้องหน้าจริงๆ เป็นการทำงานกับโมเมนต์เช่นเดียวกับการถ่ายภาพสตรีท “จริงๆ มันก็เหมือนฟีลถ่ายสตรีทที่พยายามเล่นกับโมเมนต์และพยายามจะถ่ายอะไรที่มันโฟกัสไปที่คน ก็เหมือนกับถ่ายสตรีทเราจะชอบบริบทของคนคือมันเปลี่ยนจากบนถนนเป็นทีวีเท่านั้นเองสำหรับเราในโปรเจกต์นี้” ฉะนั้นความรู้สึกที่เราได้เห็นภาพเซตนี้ครั้งแรกมักจะเกิดโมเมนต์ ‘เอ๊ะ’ มาเสมอ

สำหรับชื่อ The Quarantine Report ไม่ได้เป็นชื่อแรกที่ถูกคิดขึ้นมาได้ แต่เป็นชื่อที่ได้สรุปจากการปรึกษากับเพื่อนที่เรียนด้วยกันตอนอยู่ที่อังกฤษ ที่นำเสนอไอเดียว่าให้บาธคิดให้เหมือนว่าอยู่ในสภาวะโดนกักตัวที่ไม่ได้กักแต่ตัวแต่กักข้อมูลเราด้วยโดยให้เรารับรู้ข้อมูลได้เท่าที่เขาต้องการ  ฉะนั้นจึงได้เป็นชื่อนี้มาพร้อมความหมาย “The Quarantine Report รายงานจากเรา ที่เรารายงานคืนไป” บาธเสริม

ก่อนหน้าที่จะลุยกับ The Quarantine Report บาธมีโปรเจกต์ส่วนตัวอีกชุดหนึ่งที่ยังเดินหน้าเก็บภาพอยู่ตลอดเหมือนกัน คือ SurrealLand! ที่เป็นการพูดถึงวัฒนธรรม พฤติกรรมผู้คนในบริบทสังคมไทยที่มีความชวนให้สงสัยและเสียดสีต่อการกระทำที่เกิดขึ้นในภาพอยู่ตลอดเวลา โดยบาธใช้คำว่า “เห็นความปกติที่ไม่ปกติในบ้านเรา” บาธนำเสนอผ่านความเป็นภาพสตรีทที่ชัดเจนในการจัดวางองค์ประกอบภาพของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตที่สามารถทำให้เรารู้สึกถูกสะกิดในความปกตินั้น

“จริงๆ เราชอบงานของมาร์ติน พารร์ (Martin Parr) เขาคือไอดอลสำหรับเรา ผลงานของเขาหลายๆ ซีรีส์ พูดถึงสังคม วัฒนธรรม ของอังกฤษได้เจ็บแสบมากๆ งานของเขาค่อนข้างมีอิทธิพลกับเรามากๆ  และเป็นแรงบันดาลใจให้เรามาถ่ายภาพเล่าเรื่องสังคม วัฒนธรรมในบริบทของเมืองไทยที่อีกแบบนึง” นอกจากมาร์ติน พารร์ที่บาธศึกษาและนับถือในผลงานและสไตล์แล้วยังมีช่างภาพที่มีเอกลักษณ์อย่างเทรนต์ พาร์ค (Trent Parke), เจมส์ แนชท์เวย์ (James Nachtwey) และมาร์ติน คอลลาร์ (Martin Kollár) โดยเฉพาะรายหลังที่นับว่ามีอิทธิพลต่อเขาอย่างมากเหมือนกันจะเห็นได้จากในชุดผลงาน Nothing Special ที่ช่างภาพชาวสโลวักผู้นี้พาไปท่องดินแดนโลกตะวันออกหลังยุคสหภาพโซเวียตล่มสลายที่เขาพบเจอแต่ความชวนฉงนสงสัยในสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตตลอดทาง

ในแง่หนึ่งการนำเสนอภาพภายใต้บริบทสังคมไทยผ่านเหตุการณ์สากลอย่างสถานการณ์ COVID-19 ก็มีส่วนทำให้ชาวต่างชาติสามารถทำความเข้าใจถึงเนื้อหาได้มากขึ้น เพราะลำพังสิ่งศักดิ์สิทธิ์จำลองและภาพถ่ายพระสงฆ์ปลอมอาจไม่สามารถคงอยู่ได้ด้วยตัวเองหากไร้บริบทกำกับ รวมถึงบางเรื่องที่พูดหรือแตะต้องไม่ได้ แต่ก็มีคนแอบพูดก็ถือเป็นความธรรมดาที่เตะตาชาวต่างชาติอยู่เหมือนกัน แต่องค์ประกอบทั้งหมดนี้บาธต้องการให้มองผ่านภาพรวมก้อนใหญ่ๆ มากกว่าไปจับจ้องอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้สิ่งเหล่านี้มันได้ทำหน้าที่เล่าเรื่องราวของยุคสมัยของประเทศไทยในอดีตและปัจจุบันที่ผ่านสายตาของเขาและคนไทยคนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

บาธเป็นช่างภาพที่ให้ความสำคัญกับการทำรีเสิร์ชเป็นอย่างมากต่อการทำงานและชื่นชอบในการทำงานระยะยาว “Long Term Project คือมันใช้เวลาในการทำแล้วก็ศึกษาไปเรื่อยๆ แล้วมันก็มีฐานจากรีเสิร์ช รีเสิร์ชในที่นี้ไม่ใช่แค่การค้นคว้าหาข้อมูลสิ่งที่เราสนใจ มันเป็นการที่เรากลับไปค้นคว้างานช่างภาพมาสเตอร์ในอดีตที่เขาทำมาก่อน อย่างเช่นการถ่ายทีวีในโปรเจกต์นี้ (The Quarantine Report) มันก็ไม่ใช่เราคนแรกที่ทำ แฮร์รี่ กรูยาร์ต (Harry Gruyaert) ถ่ายตั้งแต่ยุค ‘70s ถ่าย BBC News ในยุคนั้นที่เป็นจอโบราณก็ได้เอฟเฟ็กต์แบบนึงแต่เราเอาเทคนิคนี้มาใช้ในยุคสมัยนึงเล่าในอีกบริบทนึง เราเลยรู้สึกว่ามันสนุกตรงนี้กับการได้ทดลองจริงๆ”  เจ้าตัวบอกต่อว่าแม้ใน The Quarantine Report จะยังไม่ได้ลงลึกเท่าไหร่ แต่ในอนาคตกับ SurrealLand! ตั้งใจที่จะทำให้แน่นและแข็งแรง ซึ่งข้อมูลต่างๆ จะเป็นฐานที่ดีให้กับช่างภาพในระหว่างการทำโปรเจกต์และตอนที่สำเร็จแล้ว “เวลาเราอินกับเรื่องอะไรเราต้องเข้าใจมันอย่างถ่องแท้ เราจะผลิตงานชิ้นนึงเราก็ต้องเข้าใจว่าทำอะไรอยู่ ก็คิดว่าจะต้องเดเวลอป SurrealLand! ต่อไป คิดว่าจะเล่าผ่านโครงสร้างสังคมวัฒนธรรมผ่านสิ่งที่เราสนใจ ศิลปินส่วนมากก็จะชอบเล่าบริบทของตัวเอง แต่เราสนใจในบริบทของสังคม การเมือง วัฒนธรรมเรายังอินกับเรื่องนี้อยู่ เราอยากพูด โดยใช้ภาพถ่ายแทนการพูด” บาธตบท้าย

พิสูจน์อักษร: ชลดา สวนประเสริฐ