brand logo

PHOTO | LIFE | INSPIRATION

Apr 2025

พงศธร บุญโต
Confusion
เรื่อง: กาญจนาภรณ์ มีขำ
12 Jan 2021

คำเตือน

ชุดภาพนี้จัดทำเพื่อปลดแอกความกลัวและสังสรรค์กับผีในพื้นที่

 

ความสับสนในใจของศิลปินเป็นตัวจุดชนวนให้กับผลงานชิ้นนี้ จากชีวิตของเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่มาจากต่างจังหวัดผู้สนใจในการถ่ายภาพ ต้องเข้ามาศึกษาระดับอุดมศึกษาในเมืองคนเดียวพอมีโอกาสได้ทำงานส่งวิชาเรียนเขาเลยเลือกเล่าเรื่องความสับสนที่มีความกลัวแทรกอยู่ในความรู้สึกด้วย

เอิร์ธ-พงศธร บุญโต เลือก ‘ไฟหลัก’ มาเป็นสิ่งที่ใช้สื่อสารกับความกลัวของเขา ไฟหลัก คือ ไฟที่เราจะเห็นตามทางเป็นไฟที่ใช้นำทางไปสู่พื้นที่จัดงานสังสรรค์ ส่วนใหญ่จะเป็นไฟที่จะนำทางไปวัด เรียกว่าหากมีงานวัดที่ใดเราจะพบไฟหลักนำทางไป ถ้ามีสีสันจะเป็นงานรื่นเริงแต่หากเป็นไฟนีออนสีขาวก็จะเป็นงานศพนั่นเอง

ศิลปินคิดว่าความกลัวที่ถูกฝังมาตั้งแต่เด็กของเขาในเรื่องอย่าไปที่ลับตา ระวังผีจะตามมา เมื่อโตขึ้นความกลัวที่ฝังใจเพราะถูกปลูกฝังจากคนในครอบครัวนั้นไม่ได้หายไปเป็นปลิดทิ้ง เพียงแต่เขากล้าที่จะยอมรับในสิ่งที่กลัวอย่างความมืดนี้แล้ว

“ตั้งแต่เด็กเราถูกบอกจากคนในครอบครัวว่าอย่าออกไปเล่นไกลๆ อย่าไปที่มืด มันมีผี ตอนเด็ก เรากลัวจริงๆ มันฝังใจเพราะมันมาจากคนในบ้าน เราเชื่อเขาพอโตมาถึงรู้ว่ามันเป็นกุศโลบายว่าถ้าไปในที่ที่ผู้ใหญ่ไม่เห็นมันจะอันตรายแล้วไม่มีใครช่วยเหลือได้” สำหรับงานนี้ไม่ใช่เพียงตัวเอิร์ธเองที่ลงมือไปปักเสาหลักปฏิเสธความกลัวแต่เขายังพาคนในครอบครัวไปร่วมทำโปรเจคนี้ด้วย เป็นการที่พาคนที่เคยทำให้เขาคิดเรื่องผีไปพิสูจน์ความจริงด้วยกัน

แสงรำไรจากไฟหลักที่ดูเหมือนค่อยๆ คืบคลานแพร่กระจายความสว่างที่มีอยู่น้อยนิดในที่มืดนั้น มีที่มาจากความคิดของเอิร์ธที่ว่า

“ถึงแม้ไฟหลักนี้จะไม่สว่างทั่วทั้งพื้นที่ แต่มันแทนความกล้าในใจของเรา เป็นก้าวแรกที่เราเผชิญกับความกลัวและค่อยๆ สู้กับมันไป”

เอิร์ธเลือกพื้นที่เป็นบ้านเกิดของเขาที่จังหวัดราชบุรี สถานที่ที่บ่มเพาะความกลัวผีนี้เปลี่ยนเป็นสนามประลองความกลัวโดยมีกล้องเป็นโล่และไฟหลักเป็นดาบ

“ถ้าผีที่เรากลัวมีจริงเพียงแต่เราไม่เห็น เราก็อยากใช้ไฟหลักนี้จัดงานให้เขา” สถานที่ที่เอิร์ธเลือกไปถ่ายทำนั้นล้วนเป็นพื้นที่ในความเชื่อว่าจะเจอผี ไม่ว่าจะพื้นที่ร้างหรือป่าช้าหลังวัดทั้งหมดล้วนปล่อยให้ความมืดครอบคลุม ป่าช้าหลังวัดถูกทิ้งร้างไว้ทั้งๆ ที่ภายในวัดจัดงานเอิกเกริกมีแสงไฟหลากสีตกแต่งให้บรรยากาศสนุกสนานจึงเป็นเหตุที่ทำให้เอิร์ธอยากลองจัดงานให้กับผีดูบ้าง

“ถ้าในทางวิทยาศาสตร์เราทำสิ่งนี้เพื่อพิสูจน์ตัว แต่ถ้าในทางไสยศาสตร์เราก็กำลังจัดงานเฉลิมฉลองให้กับผี” เอิร์ธสรุปแนวคิดการทำงานนี้

งานนี้จึงเป็นการรวบรวมหลายหลากความรู้สึกของเด็กคนหนึ่งที่สับสน ให้ออกมาเป็นชุดภาพเดียวที่เข้าใจทุกความรู้สึกของศิลปินเอง

นอกจากเรื่องแนวคิดในการผลิตผลงานแล้ว เทคนิคในขั้นตอนนั้นเจ้าตัวเล่าว่า เขาต้องตระเวนพื้นที่ที่จะตอบคำนิยามความกลัวสมัยเด็กของเขาได้ หรือการที่ภาพภาพหนึ่งนั้นต้องการ การถ่ายซ้ำทุกช่วงเวลาแล้วนำมาซ้อนทับกัน เพื่อให้แสงของไฟหลักและบรรยากาศโดยรอบตรงกับภาพในหัวของเอิร์ธได้มากที่สุด

 

พิสูจน์อักษร : ชลดา สวนประเสริฐ