คุณูปการที่สำคัญยิ่งของภาพถ่าย คือมันพาเราไปในที่ที่ไม่เคยไป ทำให้เราเห็นในสิ่งที่อาจไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีอยู่บนโลกใบนี้
ไดแอน อาร์บัส (Diane Arbus) เป็นช่างภาพหญิงที่โดดเด่นอย่างมากในช่วงยุคทศวรรษที่ 50s – 60s จากผลงานภาพถ่าย ‘คนแปลกๆ’ อันเปี่ยมอารมณ์และความรู้สึก ในขณะที่ช่างภาพคนอื่นอาจเลือกถ่ายทอดทิวทัศน์ที่งดงาม ผู้คนรูปร่างสมส่วน หรือมุมมองที่สะท้อนความสวยงาม แต่ช่างภาพหญิงคนนี้กลับบันทึกภาพบุคคลที่แตกต่างออกไปราวกับอยู่คนละโลก
คนในภาพของเธอส่วนมากอยู่ในซอกหลืบของนิวยอร์ก แทบไม่เคยถูกบันทึกในแผ่นฟิล์ม เช่น ภาพคนพิการแต่กำเนิด คนแคระ ตัวตลกในคณะละครสัตว์ คู่แฝดที่เหมือนผี ไปจนถึงกลุ่มคนชายขอบยุคนั้น อย่างนักเต้นระบำเปลื้องผ้า เกย์ ผู้หญิงข้ามเพศ เธอรู้สึกว่า คนกลุ่มนี้มีอะไรบางอย่างที่ดึงดูดให้ผู้คนต้องหันไปมอง
คนที่รักภาพของเธอมีไม่น้อย คนที่เกลียดก็มีมาก มีคนกล่าวว่าไดแอนเป็น ‘ช่างภาพของคนบ้า’ บ้างก็หาว่าเธอละเมิดสิทธิของคนอื่น
หากแต่ผลงานของไดแอนได้รับความนิยมอย่างยิ่งโดยเฉพาะหลังจากเธอเสียชีวิต
นิทรรศการที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก (MoMA) มีจำนวนผู้เข้าชมสูงที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ หนังสือรวมผลงานอย่าง Diane Arbus: An Aperture Monograph ที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1972 ก็ยังคงขายได้จนถึงทุกวันนี้ ผลงานของเธอสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักถ่ายภาพสารคดีรุ่นหลังมากมาย
ยอดมนุษย์… คนธรรมดา อยากชวนไปรู้จักตัวตนของช่างภาพหญิงผู้เป็นตำนาน และหาคำตอบว่า เธอมองเห็นอะไรในความแปลกประหลาดเหล่านั้น
หญิงสาวจากครอบครัวร่ำรวย
หลายคนวิเคราะห์ว่า ไดแอนสนใจคนกลุ่มนี้เป็นพิเศษ เพราะว่าเธอมีชีวิตวัยเด็กอยู่ในสังคมชั้นสูง
ไดแอนเกิดเมื่อปี 1923 ในครอบครัวที่ทำธุรกิจเสื้อผ้าขนสัตว์ในนิวยอร์ก ชื่อ ‘Russek’ ภายหลังกลายเป็นห้างสรรพสินค้าที่จำหน่ายเสื้อผ้าสตรีที่มีชื่อเสียงบนถนนฟิฟท์อเวนิว เธอจึงมีชีวิตวัยเด็กที่สบายกว่าเด็กทั่วไป
ไดแอนถูกเลี้ยงดูมาเหมือนไข่ในหิน จนบางครั้งรู้สึกถูกครอบครัวครอบงำทุกอย่าง จะทำอะไรก็ถูกห้าม ทำให้เมื่อโตขึ้นจึงมีนิสัยมุ่งมั่น ดื้อรั้น ไม่ชอบอยู่ในกรอบ ขณะเดียวกันก็เป็นโรคซึมเศร้า
“เจ้าหญิงในภาพยนตร์ที่น่ารังเกียจ” ไดแอนเปรียบชีวิตวัยเด็กของเธอไว้เช่นนั้น
“มีเรื่องในวัยเด็กเรื่องหนึ่งที่ทำให้ฉันรู้สึกเจ็บปวด คือการที่ฉันไม่เคยรู้สึกถึงความยากลำบากใดๆ เพราะพวกเขาไม่เคยปล่อยให้ฉันได้ลงมือทำอะไรด้วยตนเองเลย”
ตอนอายุ 14 ไดแอนพบรักกับอัลลัน ที่ทำงานในแผนกโฆษณาของธุรกิจครอบครัว เมื่ออายุ 18 ทั้งคู่แต่งงานกัน หลังจากนั้นก็เริ่มอาชีพช่างภาพโฆษณาและแฟชั่นให้นิตยสารชื่อดังอย่าง Vogue, Seventeen, Glamour โดยไดแอนรับหน้าที่เป็นสไตลิสต์ ส่วนสามีรับหน้าที่ช่างภาพ
จุดพลิกผันชีวิตของเธอเริ่มต้นในปี 1952-1953 สองสามีภรรยาเดินทางไปฝรั่งเศส อิตาลี สเปน เพื่อศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพ อัลลันต้องการถ่ายภาพให้เป็นธรรมชาติให้มากขึ้น ขณะที่ไดแอนค้นพบความสุขในการถ่ายภาพอะไรก็ตามที่เธอสนใจ หลังกลับจากยุโรป หญิงสาวรู้สึกหมดความท้าทายในการถ่ายภาพโฆษณา จึงตัดสินใจขอเลิกทำงาน อัลลันก็ไม่ขัดขืน
ไดแอนที่อายุ 33 ปีในตอนนั้นมีอิสระในการถ่ายรูปทุกสิ่งที่ต้องการ เธอสมัครเรียนถ่ายภาพกับ ลิเซ็ตต์ โมเดล ซึ่งเน้นการถ่ายภาพที่มีคุณค่าทางศิลปะ
ลิเซ็ตต์ปลูกฝังเรื่องความหมายในภาพถ่าย โดยสอนให้หันกล้องออกไปพร้อมกับตั้งคำถาม แล้วบางครั้งภาพถ่ายนั้นจะตอบกลับมา นอกจากนี้ยังสอนให้ไดแอนถือกล้องออกไปโดยที่ไม่มีฟิล์มเลยด้วยซ้ำ เพื่อให้คำนึงถึง ‘สิ่งที่จะถ่าย’ มากกว่า ‘วิธีการถ่าย’
ไดแอนเริ่มศึกษางานของช่างภาพต่างๆ ให้รู้ว่าพวกเขาคิดอะไรอยู่ตอนที่กดชัตเตอร์ เธอประทับใจภาพของลิเซ็ตต์เป็นพิเศษ โดยเฉพาะภาพคนชั้นล่างของสังคม ขอทาน คนเมา รวมถึงงานของ วี จี ช่างภาพหนังสือพิมพ์ที่เธอรับเอาสไตล์มาอย่างชัดเจน
แต่สิ่งที่ปลุกสัญชาตญาณการถ่ายภาพของเธอมากที่สุด คือการได้ค้นโลกอีกใบซึ่งเธอแทบไม่เคยสัมผัสมาก่อน เมื่อเพื่อนคนหนึ่งพาไปดูหนังเรื่อง Freaks ของ ท็อด บราวนิ่ง ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของคนที่มีรูปร่างประหลาด ทำให้เธอรู้สึกคลั่งไคล้ในความแปลก
เล่ากันว่าเธอกลับไปดูหนังเรื่องนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งที่ครอบครัวปลูกฝังให้อยู่ห่างจากคนกลุ่มนี้
นับเป็นจุดเริ่มต้นของภาพถ่ายสไตล์เฉพาะตัวของไดแอน
ผู้คนที่แปลกประหลาด
“เมื่อฉันรู้สึกสนใจเรื่องราวของใคร มันยากที่จะบอกกับเขาว่าขอไปที่บ้านและนั่งคุยด้วยหน่อย แต่เมื่อมีกล้องถ่ายภาพ เขาจะหันมาสนใจคุณมากขึ้น การถ่ายภาพจึงเป็นใบผ่านทางให้ไปในทุกที่ที่ฉันอยากจะไป และทำในทุกอย่างที่อยากจะทำ”
หญิงสาวพูดถึงการถ่ายภาพที่พาเธอไปสู่โลกใบใหม่
ตอนนั้นไดแอนอายุ 35 มีลูกสองคน ฐานะก็ไม่ได้ย่ำแย่ แต่เธอกล้าทิ้งชีวิตอันปลอดภัยและมั่งคั่งไว้เบื้องหลัง พร้อมกับก้าวไปตามเสียงเรียกร้องภายในของตัวเอง
ช่างภาพหญิงเริ่มใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่คณะละครสัตว์ Flea ใน พิพิธภัณฑ์ Hubert’s Dime ซึ่งเป็นที่รวมคนที่มีรูปร่างผิดปกติหลายประเภท เช่น คนที่มีแขนเล็กคล้ายแมวน้ำ นักแสดงที่มีหน้าครึ่งชายครึ่งหญิง คนที่เหมือนลิง คนกินไฟ แฝดสยาม ไปจนถึงคนสามขา
เธอมักไปกับเพื่อนๆ และบางครั้งก็ไปกับช่างภาพคนอื่นๆ โดยพยายามสร้างสัมพันธ์อันดี ทั้งนำของขวัญ นำรูปถ่ายไปมอบให้ เพื่อให้คนเหล่านี้ยอมเป็นแบบถ่ายภาพ
ในปี 1959 เธอก็ตัดสินใจหย่าขาดกับสามี และตะลุยถ่ายภาพอย่างจริงจัง โดยผลงานชิ้นแรกๆ ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Esquire, Harper’s Bazaar, และ The Sunday Times Magazine
ภาพของเธอถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมันพลิกโฉมการนำเสนอแบบเดิมจนหมดสิ้น เธอมักเลือกถ่ายทอดตัวแบบที่คนทั่วไปไม่กล้าสบตา หรือต้องแอบดู ซึ่งกระตุ้นความสนใจของผู้ชม
นอกจากบุคคลในภาพที่มีความพิเศษแล้ว ไดแอนยังสามารถโน้มน้าวให้คนเหล่านั้นจ้องมองที่กล้อง สบตากับผู้ชมตรงๆ โดยไม่มีความกลัวหรือเขินอาย ทำให้แต่ละภาพมีพลังอย่างมาก
แต่กว่าจะได้ภาพแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ไดแอนต้องปฏิสัมพันธ์จนพวกเขาไว้วางใจ แม้หลายครั้งเธอจะมีความกลัว แต่ก็พยายามจัดการความรู้สึกเพื่อให้ได้ภาพกลับมา ทั้งหมดจึงไม่ใช่การทำงานแบบฉาบฉวย แต่ต้องอาศัยความอดทนและความพยายามอย่างยิ่งยวด
ขณะเดียวกันไดแอนก็ยกย่องคนแปลกเหล่านี้ ในฐานะผู้เอาชนะความหวาดกลัว เพื่อจะมีชีวิตอยู่ให้ได้ ซึ่งสำหรับเธอแล้วนี่คือความงดงาม
“ฉันถ่ายภาพคนประหลาดไว้เยอะมาก มันเป็นสิ่งแรกๆ ที่อยากจะถ่าย และทำให้ฉันรู้สึกตื่นเต้น ฉันเพิ่งเคยชื่นชมพวกเขา ถึงตอนนี้ก็ยังชื่นชมบางคนอยู่ ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของฉัน แต่พวกเขาทำให้ฉันรู้สึกถึงส่วนผสมของความละอายและความกลัว เหมือนคนในเทพนิยายที่ทำให้คุณหยุดจ้องมองและเรียกร้องให้คุณไขปริศนา พวกเขาส่วนใหญ่ต้องก้าวผ่านความหวาดกลัว ประสบการณ์ที่เจ็บปวดมาตั้งแต่เกิด พวกเขาผ่านบททดสอบในชีวิตแล้ว พวกเขาคือคนชั้นสูง”
“ฉันเชื่อจริงๆ ว่าถ้าฉันไม่ได้ถ่ายรูปพวกเขา ก็คงไม่มีใครเห็น”
แต่ใช่ว่าทุกคนจะนิยมชมชอบภาพลักษณะนี้ ภาพของเธอขายได้ในราคาเพียง 75 ดอลลาร์ หลายครั้งที่นิตยสารปฏิเสธงาน อย่าง Esquire เคยมอบหมายให้ไดแอนถ่ายภาพเกี่ยวกับ New York City เพื่อจัดทำนิตยสารฉบับพิเศษ เธอออกถ่ายภาพอย่างหนักทั้งกลางวันกลางคืน ตระเวนไปตามที่เก็บศพจนถึงโรงฆ่าสัตว์ สุดท้ายแล้วทางนิตยสารก็เลือกภาพชุดนี้แค่ 6 ภาพเท่านั้น แต่เธอก็ยังมุ่งมั่นทำงานต่อไป แม้จะมีช่วงขัดสนเงินจนต้องเขียนจดหมายไปขออดีตสามีบ้างก็ตาม
ช่วงปี 1960 ไดแอนเริ่มเปลี่ยนแนวมาถ่ายภาพคนปกติ แต่ก็ยังรักษาลายเซ็นไว้ คือ ถ่ายคนปกติให้ออกมาดูแปลกประหลาด เพราะภาพคนลักษณะนี้มักปลุกเร้าความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์
วิธีการถ่ายภาพของไดแอนคือ มองหาจุดบกพร่องของคนๆ นั้นแล้วดึงออกมาให้มากที่สุด บ่อยครั้งที่เธอถ่ายภาพในระยะที่ใกล้จนทำให้คนที่ถูกถ่ายภาพอึดอัดและแสดงพฤติกรรมที่แปลกๆ
ภาพที่มีชื่อเสียงมาก เช่น ภาพเด็กชายถือระเบิดของเล่น (Child with a toy hand grenade in Central Park, 1962) ครั้งนั้นไดแอนถ่ายทั้งหมด 11 ช็อต ภาพส่วนใหญ่ เด็กโพสท่ายิ้มแย้มแจ่มใสเหมือนเด็กทั่วไป แต่เธอกลับเลือกภาพที่ดูประหลาดที่สุดมาใช้ นั่นคือภาพที่เด็กมีสีหน้าบูดเบี้ยว ดูเหมือนกำลังหงุดหงิด
เด็กชายคนนั้นชื่อ โคลิน วูด (Colin Wood) ซึ่งต่อมาให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่เจอไดแอน เขาวุ่นวายใจที่พ่อแม่กำลังหย่าร้าง สัญชาตญาณของไดแอนคงจะสัมผัสอะไรได้ เธอจึงมาถ่ายรูปเขาซึ่งกำลังหงุดหงิดงุ่นง่านจนอยากจะดึงจุกระเบิดของเล่นและเขวี้ยงออกไป
“คุณเห็นใครบางคนบนถนน และสิ่งที่คุณสังเกตเห็นคือข้อบกพร่อง มันเป็นเรื่องธรรมดามากที่เรารับรู้ได้ถึงสิ่งแปลกประหลาดเหล่านี้” ไดแอนให้สัมภาษณ์ถึงวิธีคิดในการสร้างงาน
ไดแอนก็ได้รับความยอมรับนับถืออย่างมาก ในปี 1967 ภาพถ่ายของเธอถูกเข้าร่วมแสดงใน The New Documents นิทรรศการที่เสมือนการก้าวเข้าสู่ยุคทองของการถ่ายภาพแนว Street ที่ The Museum of Modern Art (MoMA)
หลายคนยินดีที่จะให้ไดแอนถ่ายภาพ แต่หลายคนก็ไม่พอใจเมื่อได้เห็นผลลัพธ์ อย่างภาพถ่าย A Very Young Baby, N.Y.C. 1968 นั้น กลอเรีย แวนเดอร์บิลต์ ศิลปินชาวอเมริกันคนดัง มองว่าไดแอนถ่ายลูกชายของเธอออกมาดูน่ากลัว จึงไม่ยินยอมให้ภาพนั้นตีพิมพ์
เช่นเดียวกับ ภาพฝาแฝดคู่หนึ่ง (Identical Twins, Roselle, N.J. 1967) ซึ่งเป็นภาพที่โด่งดังที่สุดของเธอ พ่อแม่ของเด็กพยายามหยุดการเผยแพร่ภาพนี้เนื่องจากลูกของเธอทั้งสองดูเหมือนผีชั่วร้าย เล่ากันว่า สแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick) ผู้กำกับชื่อดังชอบภาพนี้มากจนนำไปใช้ในภาพยนตร์สยองขวัญเรื่อง The Shining
อีกเรื่องหนึ่งที่ดูจะแสดงถึงสไตล์การทำงานของไดแอนมากที่สุด คือตอนที่นิตยสาร New York จ้างให้เธอไปถ่ายภาพของนางแบบ Underground ชื่อดัง Viva ซึ่งช่างภาพหญิงใช้เวลาตลอดช่วงเย็นถ่ายภาพ Viva ในอพาร์ตเมนต์ เช้าวันถัดมาเธอก็กลับมาอีกครั้งโดยบอกว่าต้องการถ่าย Head Shot ก่อนที่จะได้ภาพ Viva ที่ตาเหลือกคล้ายคนกำลังเมายาและเปลือยหน้าอก เมื่อภาพเผยแพร่ออกไปก็กลายเป็นที่ฮือฮา นิตยสารโดนยกเลิกโฆษณา ขณะที่ Viva ถูกยกเลิกงานและโดนวิจารณ์อย่างรุนแรง
ไม่น่าแปลกใจที่มีนักวิจารณ์หลายคนโจมตีว่าเธอละเมิดสิทธิของคนอื่น ขณะที่ผู้ชมไม่น้อยรังเกียจภาพของเธอ จากคำบอกเล่าของผู้จัดการภาพถ่ายของ MoMA ว่ามีหลายภาพของไดแอนถูกผู้เข้าชมงานถ่มน้ำลายใส่เนื่องจากความรังเกียจ ทำให้ต้องนำภาพเหล่านั้นออกไป หนึ่งในภาพเซตดังกล่าวคือภาพของคนยิวยักษ์กับพ่อแม่ของเขาที่บ้าน (A Young Man in Curlers at Home on West 20th Street, N.Y.C. 1966) ซึ่งต่อมาภาพนี้ถูกประมูลเมื่อปี 2004 ด้วยราคาสูงถึง 200,000 เหรียญ
ช่างภาพหญิงผู้เป็นตำนาน
ช่วงท้ายของชีวิตของไดแอน เธอถูกจู่โจมด้วยโรคร้ายและภาวะซึมเศร้า
ผลงานภาพสารคดีของคนบกพร่องทางสติปัญญาของเธอใช้แสงเงาที่นุ่มนวลลง
ตอนแรกไดแอนบอกว่างานชุดนี้เป็นเหมือนกับบทกวี อ่อนนุ่ม และสวยงาม แต่ในเวลาถัดมาเธอกลับบอกว่าเกลียดงานชิ้นนี้ แสดงถึงอาการของโรคซึมเศร้าอารมณ์พลิกกลับไปกลับมาอย่างสุดขั้ว
ในช่วงก่อนที่จะเสียชีวิตไดแอนเคยเขียนเอาไว้ว่า “อารมณ์ของฉันเดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลงตลอด” นอกจากนี้เธอยังป่วยจากโรคตับอักเสบทำให้ความเครียดและหดหู่ยิ่งเลวร้ายมากขึ้น
วันที่ 26 กรกฎาคม 1971 ไดแอนวัย 48 ปี กินยาระงับประสาทจำนวนมาก และกรีดข้อมือของตัวเองในอ่างอาบน้ำของอพาร์ตเมนต์ ปิดฉากชีวิตช่างภาพหญิงผู้สร้างความตื่นตาตื่นใจมากที่สุดคนหนึ่งของศตวรรษที่ 20
อย่างไรก็ตาม หลังจากการฆ่าตัวตายเพียงปีเดียว ภาพถ่ายของเธอก็ดังเป็นพลุแตกอีกครั้ง เมื่อได้รับเกียรติให้ไปจัดแสดงในนิทรรศการ The Venice Biennale ที่อิตาลี ซึ่งถือได้ว่าไดแอนเป็นศิลปินชาวอเมริกันคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้ ส่งผลให้ตั้งแต่ปี 1972-1979 มีผู้คนนับล้านคนได้ชมผลงานของเธอ
หลายคนยกย่องไดแอนที่กล้าไปยังสถานที่ที่คนอื่นไม่กล้าไป การถ่ายภาพคนชายขอบของสังคมก็ช่วยสะท้อนให้ผู้คนรับรู้ถึงการมีอยู่ของบุคคลเหล่านั้น จนนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นต่างๆ ผลงานของเธอส่งอิทธิพลต่อแนวคิดในการถ่ายภาพในยุคนั้นและสืบเนื่องมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ไมเคิล คิมเมลแมน นักวิจารณ์ศิลปะชาวอเมริกันเขียนถึงนิทรรศการ Diane Arbus Revelations ว่า “ไดแอนไม่ได้ทำงานเพียงเพราะมีคนจ้างเท่านั้น แต่เธอใช้หัวใจอันกล้าหาญในการเปลี่ยนมันให้เป็นผลงานศิลปะ”
ในปี 2006 เรื่องราวของเธอถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Fur: An Imaginary Portrait of Diane Arbus นำแสดงโดย นิโคล คิดแมน แม้จะมีเสียงวิจารณ์ว่าผู้กำกับใส่จินตนาการลงไปเกือบทั้งหมดจนความจริงผิดเพี้ยน แต่มันก็ทำให้โลกพูดถึงชีวิตช่างภาพหญิงคนนี้ในวงกว้างอีกครั้ง
ข้อมูลประกอบการเรียบเรียง
– ไดแอน อาร์บัส กับโลกอันประหลาดของเธอ- www.akkaranaktamna.com
– Diane Arbus – Wikipedia
– A new biography of Diane Arbus – www.newyorker.com
– Masters of photography – Diane Arbus (documentary, 1972)
– Incest, suicide – and the real reason we should remember Diane Arbus – www.telegraph.co.uk