ภาพ: ธันวา ลุจินตานนท์
ถึงแม้ตัวผมเองจะไม่ได้มีประสบการณ์เฉียดใกล้ชิดกับการสูญเสียคนในครอบครัวไปกับโรคโควิด-19 โดยตรง แต่ถ้าเป็นเรื่องการสัมผัสความตายในมิติของคนอยู่ ทั้งการได้เห็นและได้ยิน แม้กระทั่งการกอดจับหลั่งน้ำตา ก็คงนับได้ว่ามีมาครบถ้วน ‘Closure (หากได้บอกลา)’ นิทรรศการภาพถ่ายของ ฟี่-เอกรัตน์ ปัญญะธารา ทำให้ผมนึกถึงช่วงเวลาที่ต้องร่ำลาญาติผู้ใหญ่คนใกล้ชิดแบบไม่มีวันกลับ ในปี 2021 เอกรัตน์ได้ถ่ายภาพมุมประจำภายในบ้านของผู้ที่เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 และบรรยากาศภายในบ้านหลังจากที่เขาหรือเธอผู้นั้นได้จากไปแล้ว เราได้เห็นอะไรบ้างผ่านสิ่งของ ประกอบกับจดหมายที่ถูกเรียบเรียงจากญาติคนสนิทของผู้เสียชีวิตที่อยากให้ถ้อยคำในหนึ่งหน้ากระดาษเป็นพาหนะพาความรู้สึกของพวกเขาไปถึงผู้ที่เสียชีวิตให้รับรู้ คล้ายเป็นพิธีกรรมเพื่อการก้าวผ่านทางความรู้สึกท่ามกลางมาตรการที่ยังไม่อนุญาตให้มีการจัดงานศพในวัดได้
ภาพข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านที่ปรากฏแก่สายตาเราในนิทรรศการ Closure นั้น ไม่ได้แตกต่างจากภาพวาดสีน้ำมันในศตวรรษที่ 17 ที่เหล่าฐานันดรสูงศักดิ์และพ่อค้าผู้ร่ำรวยจะจ้างศิลปินมาเพื่อบันทึกภาพข้าวของตนเพื่อแสดงสถานะบางอย่าง ภาพห้องที่เต็มไปด้วยสิ่งของที่ถูกจัดวางตามการใช้งานของคนที่เคยอยู่ เราเห็นร่องรอยของการใช้ชีวิตได้ผ่านจินตนาการและประสบการณ์ของเรา แม้พื้นที่ในภาพจะมีแต่ความว่างเปล่าไร้มนุษย์
พัดลมข้างโซฟาไม้ ฝาชีครอบวางบนโต๊ะกินข้าว หม้อที่แขวนข้างหน้าต่าง รูปเรือสำเภากำลังแล่นอยู่ในทะเล ตู้ยาสามัญประจำบ้าน ปฏิทินติดผนัง ภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 เราเห็นอะไรบ้างจากพื้นที่ชีวิตของคนหนึ่งคนจากสิ่งของเหล่านี้ ทั้งในระดับปัจเจกจนไปถึงโครงสร้างสังคมขนาดใหญ่ ความธรรมดาสามัญของหนึ่งชีวิตทำให้เราได้เห็นมุมมองในหลากมิติเมื่อใช้เวลาจดจ่อ
ความกระอักกระอ่วนในถ้อยคำของจดหมายของญาติผู้เสียชีวิต บางถ้อยคำก็ชวนรู้สึกลงลึกในความเศร้า เพราะบางทีเรื่องพวกนี้มันอยู่ใกล้เราตลอดเวลา เรารับรู้อยู่ได้ทุกชั่วขณะ แต่เพียงแค่ว่าเราเลือกที่จะมองแล้วพินิจมันให้ดีไหม
ผมเชื่อว่าหลายคนก็เคยรู้สึกอึดอัดและเศร้าต่อสถานการณ์โควิดที่ได้เผชิญกันมาเมื่อสามปีก่อน ที่เราเองไม่ได้สนใจคนอื่นยกเว้นตัวเราและครอบครัว เรื่องความตายถูกพูดซ้ำในทุกๆ วัน จนเราไม่อยากรับฟังอะไรอีกแล้ว
Closure เป็นงานประเภทที่ว่าต้องให้พื้นที่และใช้เวลาในการเข้าไปสำรวจในแต่ละห้อง มองสิ่งต่างๆ ที่ตั้งนิ่ง สำรวจความรู้สึกผ่านถ้อยคำที่ถูกเขียนขึ้นจากลายมือ ในสภาวะที่ความตายกลายเป็นเรื่องของตัวเลข ข้อมูล ข่าวสารที่ถูกพูดตั้งแต่เช้ายันส่งเราเข้านอน เพราะเรื่องความตายเป็นเรื่องของคนที่อยู่ ผลงาน Closure สะท้อนเสียงดังออกมาแบบนั้น มันทำให้ผู้ที่ได้ดูภาพสามารถทบทวนเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นผ่านพื้นที่ชีวิตของคนๆ หนึ่ง และสายสัมพันธ์ของเขาและเธอที่มีต่อคนในครอบครัว
บางทีในสภาวะหนึ่ง ภาพถ่ายและข้อความอาจจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เราจดจำและร่ำลาต่อคนที่เรารัก
ช่วยเล่าที่มาที่ไปและคอนเซ็ปต์ของนิทรรศการ ‘Closure (หากได้บอกลา)’ ให้ทราบได้ไหมครับ
จุดเริ่มต้นจากตัวเรา เราทำงานเพราะมีอุดมการณ์บางอย่างว่าเราอยากสื่อสารอยากช่วยเหลือสังคม เราอยากเป็นกระบอกเสียงถึงได้มาทำสารคดี แล้วพอเรามาทำงานชิ้นนี้ ตัวประเด็นความตายจากโควิดมันเป็นความรู้สึกที่ติดค้าง เราเคยทำสารคดีเรื่องความตายมาก่อน เราว่าความตายมันน่าสนใจและมันก็มองผ่านมิติได้หลายมิติทั้งในเรื่องของปรัชญาและประวัติศาสตร์ หรือในเรื่องวัฒนธรรม เรารู้สึกว่างานศพมันเป็นงานที่ทำให้คนรู้สึกว่า ฉันทำดีที่สุดแล้วสำหรับคนตาย มันจึงเป็นเหตุผลที่ทุกคนจัดงานให้ดี จัดให้สวยงาม เพื่อส่งคนตายเป็นครั้งสุดท้าย แล้วช่วงโควิดคนไม่ได้จัดงานศพ บางคนส่งญาติหรือคนรักไปโรงพยาบาล หมอโทรบอกอีกทีคือ เสียแล้วนะ เรารู้สึกว่าเขาน่าจะรู้สึกติดค้าง เราก็เลยคิดว่า ถ้าโควิดมันเป็นการจากลาที่ไม่ได้สั่งลา ถ้าเราให้เขาเขียนจดหมายมันจะช่วยไหม ก็เลยใช้กลไกนี้ หวังว่าการได้ทบทวน การได้ระบายความรู้สึกมันจะช่วยให้เขาเข้าใกล้ความรู้สึกจบมากขึ้น ก็เลยใช้ชื่อว่า Closure
เหมือนเป็นการเปลี่ยนผ่าน
อาจจะ คืออย่างน้อยงานชิ้นนี้มันก็บันทึกประวัติศาสตร์ ซึ่งทุกคนที่สูญเสียก็ติดค้างในใจ ความติดค้างนี้มันติดค้างในตัวเองว่าฉันทำอะไรผิด มันมีขั้นตอนไหนถ้าฉันทำถูกกว่านี้คนที่รักจะรอดไหม บางคนเขาก็จะติดค้างในเชิงโครงสร้างของประเทศนี้ด้วยว่าถ้ามันดีกว่านี้ทุกอย่างจะเป็นแบบนี้ไหม เขาก็เลยอนุญาตที่จะให้เราทำงาน
แต่ละครอบครัวมีวิธีติดต่อไปอย่างไร
จริงๆ แล้ววิธีการติดต่อไม่มีช่องทางไหนเป็นพิเศษ ก็คือเราติดต่อทุกช่องทางที่เราทำได้ เช่น ผ่านเพื่อนที่สนิทกับครอบครัวผู้สูญเสีย ผ่านนักการเมืองที่ลงไปช่วยในพื้นที่ ก็มีทั้งสีฟ้าสีส้มและสีอื่นๆ เพราะจริงๆ พอเกิดเรื่องแบบนี้นักการเมืองท้องถิ่นจะต้องลงไปช่วยพื้นที่อยู่แล้ว เราก็หาคนที่เขาเข้าถึงพื้นที่แล้วก็ขอโทรไปอธิบายกับครอบครัวเอง
เจอการปฏิเสธบ้างไหม
มีที่ปฏิเสธบ้าง คือการทำเรื่องความตายมันยากตรงที่ไม่มีใครอยากพูดถึงความตาย เราก็รู้เรื่องนี้ตั้งแต่ตอนที่ทำสารคดีเรื่องความตาย แต่มันก็จะมีจังหวะของมัน แต่ละครอบครัวก็มีจังหวะที่ไม่เหมือนกันบางครอบครัวถ้าคุณเข้าหาเขาเร็วเกินไป เขาก็ไม่โอเค บางครอบครัวถ้าไปหาช้าเกินไปก็ไม่อยากพูดถึงแล้ว จุดนี้เป็นเรื่องที่พูดยาก
พอหลังๆ เริ่มให้ทำพิธีเผาได้แล้ว แต่ว่ามาถึงให้เผาเลย เราก็ไปนั่งเฝ้าที่วัดเลยมีคนไหนเข้ามาบ้าง มีกรณีที่คุยกันตอนนั้นโอเคแต่อีกสามวันไม่โอเคก็มี มีความยากเหมือนกัน แต่เคสแบบนี้มันเลือกไม่ได้ ฉะนั้นเราก็พยายามติดต่อไปทุกเคส ถ้าเขาไม่ให้มันก็ไม่ใช่ความผิดเขา
มุมถ่ายในบ้านที่เป็นมุมโปรดคิดมาก่อนไหมครับว่าต้องเป็นมุมนั้นของบ้าน
จริงๆ ก็คิดไว้ก่อนครับ เราชอบถ่ายคน แต่งานนี้เราถ่ายคนในเวลาที่เขาไม่อยู่แล้ว และเราเป็นคนอินเรื่องบ้าน เราเป็นคนที่เชื่อว่าประเด็นมันอยู่รอบตัว ถ้าคุณมองประเด็นได้ดีพอมันจะส่งเสียงไปสู่ภาพใหญ่หรือโครงสร้างที่ใหญ่กว่าได้ พอเราอินกับบ้าน เราก็จะสังเกตว่ามันเกิดอะไรขึ้นในบ้านบ้าง มันมีมุมที่คนๆ นั้นชอบใช้ชีวิตอยู่ เราก็ไม่รู้ว่ามันเรียกว่ามุมโปรดหรือว่าอะไรแต่มันเป็นมุมที่เขาสบายใจที่สุดที่จะชอบนั่งอยู่ตรงนั้น มีข้าวของของเขาอยู่ใกล้ๆ บางทีพอมีใครไปย้ายของจากมุมของเราก็จะไม่ชอบ ก็เลยเลือกที่จะถ่ายมุมพวกนี้
ก็คือปกติเขาต้องนั่งอยู่ตรงนั้น เพียงแค่ไม่มีเขา
แต่ว่ามันเป็นหลักฐานการมีตัวตนอยู่ของเขาอยู่ ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าเราจะถ่ายมุมโปรดได้ทุกหลัง ภาพหนึ่งจากนิทรรศการ (ในชั้นหนึ่ง) จะมีภาพนึงเป็นห้องคอนโดที่ลูกสาวเตรียมไว้ให้พ่อ รอพ่อออกจากโรงพยาบาลมา เตรียมไว้ให้แล้ว เหมือนห้องนั้นมันก็เป็นห้องที่มีความหวัง พ่อก็น่าจะชอบอยู่เพราะเห็นสระว่ายน้ำ เห็นวิว
สนใจเรื่องความตายในมิติไหน
ความตายมันเป็นเรื่องของคนอยู่ การทำงานสารคดีจะอนุญาตให้คุณสังเกตและสำรวจประเด็นนั้นๆ ได้ในหลายๆ มุม เหตุผลที่เราทำสารคดีเรื่องความตาย คือเริ่มจากตอนนั้นเราอยู่ต่างประเทศ คุณตาเราเสีย และเราก็ไม่ได้สัมผัสความตายโดยตรง เราก็เลยอยากรู้ว่าความตายเป็นอย่างไรถ้าเราได้สัมผัสมัน กลับมาเราก็เลยคุยกับเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ประเทศไทย ว่าอยากทำสารคดีความตาย เราสนใจในแง่ว่า ระหว่างมุมมองของคนนอกมองมาที่ความตายและการเป็นคนในมองที่ความตายมันสะท้อนมุมองอะไรบ้างระหว่างสองมิตินี้ มันมีความเป็นปรัชญา และมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงเรื่องประวัติศาสตร์ หรือพูดถึงเรื่องเวลา
ในเรื่องปรัชญามีตรงไหนที่มองเห็นบ้าง
ในเชิงปรัชญาก็น่าจะเป็นพูดถึงความรู้สึกภายใน ความตายคืออะไร เราฟูมฟายกับมันแค่ไหน ก้าวข้ามมันไปได้ยังไง ยกตัวอย่างเช่น งานศพก็เป็นเครื่องมือนึงที่ช่วยทำให้คนก้าวพ้นความรู้สึกเหล่านี้ เวลาก็เป็นส่วนนึงที่ช่วย จริงๆ แล้วพอจัดงานศพเสร็จปุ๊ป คนก็จะเก็บอัฐิเอาไว้มันก็จะเป็นเรื่องของเวลาและเยียวยาหัวใจของครอบครัว ก็เกี่ยวข้องกับคนอยู่
ในส่วนของงาน Closure นอกจากที่เล่าเรื่องความสูญเสียแล้ว มันมีมิติในเรื่องโครงสร้างไม่ว่าจะเรื่องการจัดการหรือการตัดสินใจของรัฐ จุดนี้มองเห็นได้ตรงๆ เลยไหม ในฐานะศิลปิน
จริงๆ เวลาเราทำงานขาของเราข้างนึงมันก็ยืนอยู่ในฝั่งสารคดีและข่าว งานประเภทนั้นเป็นงานพูดตรงๆ แต่งานเราชิ้นหลังๆ จะนำเสนอเรื่องความรู้สึกมากกว่า การพูดหรือการเล่าประเด็นให้ครบ มันอยู่ในการทำงานที่เราทำมาอยู่แล้ว แต่เพียงว่างานไหนเราจะให้ความสำคัญกับเนื้อหาหรือความรู้สึกเยอะน้อยต่างกันไป บางงานลดทอนบางอย่างหรือเพิ่มอะไรบางอย่าง เช่น ชิ้นนี้เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับการด่าภาครัฐ แต่อยากตั้งคำถามผ่านความรู้สึกของผู้สูญเสีย ผ่านจดหมายแทน คือบางครั้งการพูดตรงก็อาจจะไม่เหมาะสมกับงานแบบนี้ อาจจะเหมาะกับงานข่าวมากกว่า
ตัวจดหมายในงานคิดมาไว้ก่อนเลยไหมว่าจะนำมาวางคู่กับภาพถ่ายในนิทรรศการ
คิดมาไว้ตั้งแต่แรกว่ามันควรจะมาคู่กันแต่ไม่รู้ว่าจะใช้มันยังไง เวลาเราทำงานอะไรที่มันเป็นงานส่วนตัวมากๆ เราจะไม่คิดจบขนาดนั้น เพราะว่าปกติงานที่เราทำมันต้องใช้ความเป็นมืออาชีพ หมายความว่า ถ้าคุณมีไลน์อัพหรือเนื้อหาที่คุณต้องเก็บให้ได้และคุณต้องคิดในขั้นพรีโพรดักชันให้จบประมาณนึงว่าทำยังไงถึงจะเก็บได้ครบ แต่พอเป็นงานส่วนตัวเราอยากเข้าไปเรียนรู้ในพื้นที่ เข้าไปซึมซับความรู้สึกตรงนั้นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วเราจะพรีเซนต์มันออกมาแบบไหน
ยังติดต่อกับครอบครัวผู้เสียชีวิตอยู่ไหม
ก็ยังติดต่ออยู่ วันเปิดก็มีมาครอบครัวนึง จริงๆ ความยากของงานนี้มันคือการไปรับฟังคนธรรมดาที่ไม่ได้คุ้นเคยงานเขียน เราก็ปรึกษาฝ่ายนักเขียน ถ้าเราใช้กลไกนี้เข้าไปทำงาน มันจะเจอปัญหาอะไรบ้างไหม หลายๆ คนทักว่า คนที่เขาไม่คุ้นเคยการเขียนก็อาจจะเขียนไม่ได้ แต่ปรากฏมีครอบครัวนึง แกมีทำอาชีพวินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งคือคนที่เขียนยาวที่สุด และช่วงที่เข้าไปฟังครอบครัวเขาเล่าระบาย มันเป็นความรู้สึกที่หนักมาก
แล้วเราจัดการความรู้สึกตัวเองอย่างไร
เราคิดว่าแรงผลักดันที่ทำให้เราอยากทำงานนี้ มันผลักให้เราทำต่อ คือเวลาเราทำโปรเจกต์หรือเวลาแนะนำช่างภาพคนอื่นๆ เราพยายามหาว่าโปรเจกต์ไหนที่เขาอยากทำ ซึ่งก็ไม่มีใครรู้หรอกว่ามีโปรเจกต์ไหนที่อยากทำจริงๆ รึเปล่า แม้แต่เราเองที่เจอประเด็นน่าสนใจ กลไกน่าสนใจแต่เข้าไปทำปุ๊ปไม่ได้อินขนาดนั้น มันก็มี แต่วิธีเดียวที่จะรู้คือเราต้องลงไปทำ และถามตัวเองไปพร้อมกัน ว่าทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร
มีคำถามต่อตัวเองเกิดขึ้นบ่อยไหมตอนทำงานชุดนี้
จริงๆ เรามีคำตอบอยู่แล้วว่างานของเราทุกชิ้นเราอยากบันทึกประวัติศาสตร์ ซึ่งมันอาจจะสร้างการเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้ งานที่เป็นกระบอกเสียงได้ เราจะทำ
สังเกตได้ว่าหลายครอบครัวที่เข้าไป ถ้ามองจากปัจจัยทางเศรษฐกิจจะอยู่ระดับใกล้เคียงกัน ตั้งใจนำเสนอคนที่ดูเป็นคนธรรมดามากๆ รึเปล่า
ไม่ได้ตั้งใจนะ งานที่ออกมาแบบนี้มันเกิดขึ้นเอง สมมติว่ามีคนตายร้อยคน ถ้าคุณไปดูคุณอาจจะเห็นคนรวยสักหนึ่งคนหรือสิบคน สิบคนก็อาจจะเยอะไปด้วยซ้ำ คุณจะเห็นกลุ่มคนที่ตายส่วนใหญ่เป็นตั้งแต่ระดับกลางค่อนลงมาจนถึงระดับล่าง
หรือสิ่งพวกนี้มันก็สะท้อนประเด็นเรื่องโครงสร้างเหมือนกัน
แน่นอนครับ จริงๆ มิติพวกนี้มันซ่อนอยู่ในงานอยู่แล้ว เรากำลังพูดถึงยุคที่คนตั้งคำถามต่อโครงสร้างของประเทศ
แบ็คกราวน์เราเป็นเอดิเตอร์ หน้าที่ของเอดิเตอร์มันคือทำงานกับวิธีที่ที่คนดูรูป เราก็เลยเลือก วิธีการที่คนดูรูป มาผสมด้วย เช่น รูปบ้าน บ้านมันเป็นรูปโคตรน่าเบื่อ ไม่มีใครอยากดูบ้านคนอื่นซึ่งความรู้สึกนี้ เราว่ามันตรงกับสถานการณ์โควิดตอนนั้นที่คนตายเยอะจนไม่มีใครมีเวลาดูความตายของคนอื่นๆ เราก็ต้องดูครอบครัวเรา รัฐบาลรับมืออะไรไม่ได้เลย คนป่วยคนตายเยอะจนรัฐบาลก็ไม่มีเวลามาห่วงครอบครัวทีละครอบครัว เราก็เลยคิดว่าไอ้ความน่าเบื่อของรูปบ้าน เป็นเครื่องสะท้อนสถานการณ์บ้านเมืองตอนนั้นที่น่าสนใจ
การที่ต้องใช้เวลาดูพอสมควร ถ้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์มันก็น่าจะดูยากขึ้นใช่ไหม
เราคิดว่าการดีไซน์นิทรรศการนั้นสำคัญ พื้นที่มีผลต่อการดูอยู่แล้ว บางที ถ้าเป็นออนไลน์อาจจะยิ่งสะท้อนมิติเรื่อง ความน่าเบื่อของรูปบ้านได้มากขึ้น เช่น ลงรูปบ้านแล้วเก็บสถิติว่าคนไถผ่านเร็วแค่ไหน สำหรับเราอยู่บนพื้นที่ไหนก็ได้ แค่คุณต้องดีไซน์โชว์ให้เหมาะสมกับพื้นที่นั้น จริงๆ
สารคดีความตายที่ทำมาก่อนหน้านี้ ตอนนั้นทำเกี่ยวกับเรื่องอะไรครับ
สังเกตสังคมไทยว่าสัมผัสความตายในรูปแบบไหนบ้าง ตอนทำมันก็จะมีทั้งจุดที่พูดไม่ได้ กระอักกระอ่วนก็มี จุดที่ไม่ได้กระอักกระอ่วนมากก็มี เป็นประสบการณ์ในฐานะคนกลางระหว่างความตายกับคนแวดล้อม ซึ่งก็มีประสบการณ์ที่หนักต่างกัน เช่น ตอนไปถ่ายเด็กกลุ่มที่เป็นมะเร็ง มีหน่วยงานนึงที่เขาทำงานกับเด็กที่เป็นมะเร็งแล้วก็ถามเด็กว่าความฝันของเด็กคืออะไร แล้วเขาจะสานฝันให้เด็กๆ ความฝันของเด็กๆกลุ่มนั้นคืออยากไปทะเล เขาไม่เคยเห็นทะเล หน่วยงานนั้นก็จัดทริปพาเด็กไปทะเล เหตุการณ์ที่เราถ่ายคือ เด็กไม่มีผมกลุ่มนึงกำลังเล่นน้ำ ถ้ามองในแง่ปรัชญามันก็ตั้งคำถามได้เยอะ ถ้ามองในแง่ชีวิตเราก็รู้สึกแปลกๆ ไม่รู้จะไปพูดกับเด็กๆ ยังไง มันก็ทั้งดีใจและก็น่าเศร้าประมาณนึงที่เห็นเขามีความสุข เด็กๆ ที่เพิ่งเกิดมาไม่นานกลุ่มนี้เขาจะรู้ไหมว่าเขาเข้าใกล้ความตายมากแค่ไหน อีกเคสที่รู้สึกกระอักกระอ่วนมากคือ เคสที่ได้ถ่ายการสั่งเสียดูใจเป็นครั้งสุดท้ายของครอบครัวหนึ่ง เราถ่ายตั้งแต่คนๆ นั้นยังมีลมหายใจจนค่อยๆ หยุดหายใจโดยมีลูกหลานล้อมเตียงที่โรงพยาบาล ตอนถ่ายก็ถามตัวเองนะ กูมาทำอะไรตรงนี้วะ เขาสั่งเสียกันกูกดชัตเตอร์รั่วๆ ดังลั่นเลย กูไม่ให้ความเคารพใครเลย ถึงแม้จะหาข้ออ้างว่ากูทำด้วยความเคารพก็ตาม
ตัวงาน Closure เสร็จตอนปี 2021 แต่ทำไมถึงเริ่มจัดแสดงงานในปีนี้ มีเหตุผลอะไรไหมครับ
ไม่ได้มีเหตุผลขนาดนั้น แต่ถ้าถามเรื่องเวลาเราก็คิดว่าเป็นเวลาที่ดี ถ้าจัดตอนประเด็นกำลังร้อน มันก็ได้ความสนใจหรือบรรยากาศอีกแบบนึง จัดตอนนี้มู้ดมันก็เปลี่ยนไป เหมือนจริงๆ ตัวเนื้องานให้ความสำคัญกับการระลึกถึงว่ามันเคยมีและมันหายไปแล้ว แล้วหลงเหลืออะไรอยู่ การมาจัดช่วงเวลานี้ก็เหมาะสมดี ช้ากว่านี้อาจจะไม่เหมาะสมแล้ว
ชอบความหมายที่บอกตอนแรกว่าคนที่อยู่ได้ทำอะไรสักอย่างเพื่อเป็นพิธีกรรมให้แก่ตัวเอง
ทำให้เรารู้สึกว่าเราทำให้เขาแล้ว นิทรรศการเดี่ยวแรกที่เราทำ คืองานเผาศพตาเรา เรารู้ว่าตาแก่แล้ว ยังไงวันนึงเขาก็ต้องตาย เราก็ถ่ายรูปตาเรามาเรื่อยๆ แล้วพอตาเราเสียตอนเราอยู่ต่างประเทศ เราไม่มีตังกลับ กลับมาก็ไปไม่ได้แล้ว เราก็อยู่รอให้เราเสร็จธุระที่นั่น มันก็ประจวบกับจะร้อยวันพอดี ก็กลับมาก็จัดนิทรรศการ ซึ่งตอนนั้นแหละมันทำให้เรารู้ว่า ภาพถ่ายคือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเรา เราได้ให้สิ่งที่สำคัญที่สุดให้กับคุณตาเรา เราก็เลยแบบไม่ได้เศร้าขนาดนั้นเราทำให้เต็มที่แล้ว เราเห็นญาติๆ บางคนร้องไห้ เราเลยคิดว่า ศิลปะเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากที่จะเยี่ยวยาและค้ำชูหัวใจทั้งคนทำและคนดู