brand logo

PHOTO | LIFE | INSPIRATION

Jan 2025

ตรัส - นภัสรพี อภัยวงศ์
Resonances of the Concealed
เรื่อง: กษิดิ์เดช มาลีหอม
ภาพ: ธันวา ลุจินตานนท์
29 Nov 2023

หลายเดือนก่อนหน้านี้อัลกอริทึมในอินสตาแกรมพาผมไปเจอกับภาพมนุษย์สวมชุดสีดำมากมายยืนนิ่งอยู่บนหลังคาบ้านภายใต้บรรยากาศที่แวบแรกพาไปนึกถึงกลิ่นอายในชนบทญี่ปุ่น ท่ามกลางแสงแดดที่อบอุ่นแต่ผมกลับไม่ได้รู้สึกปลอดภัยเมื่อจ้องภาพนานขึ้น มนุษย์เหล่านั้นปราศจากใบหน้าที่ชัดเจน อากัปกิริยาของกลุ่มมนุษย์ในภาพเชื่อมต่อกับประสบการณ์เรื่องความตายอย่างหลีกหนีไม่พ้น ความรู้สึกของการมองภาพนี้นำพาไปสู่คำถามทั้งต่อเรื่องราวข้างในและที่มาที่ไปของกระบวนการสร้างภาพใบนี้ขึ้นมา เมื่อใช้เวลาพิจารณาชั่วครู่นึง ผมก็เข้าใจว่าภาพที่กำลังทำงานกับผมอยู่ตอนนั้นมาจากฐานข้อมูลกว้างใหญ่ไพศาลเกินจะจินตนาการ ใช่แล้วล่ะ ภาพถ่ายที่ผมได้เห็นคือภาพที่ถูกสร้างผ่านโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ซึ่งห้าเดือนต่อมาภาพใบนี้ถูกจัดแสดงในนิทรรศการภาพถ่าย  Resonances of the Concealed โดยตรัส-นภัสรพี อภัยวงศ์ (pale flare) ที่คัดมันดู โฟโต้ แกลเลอรี สำหรับผมแล้วภาพถ่ายของตรัสเป็นเสียงสะท้อนที่น่าทึ่งในดินแดนที่ไร้ขอบเขต

แสงสว่างที่โดดเดี่ยว สายน้ำกำลังอาละวาด สัตว์ประหลาดขี้อายและพิธีกรรมของมนุษย์ชุดดำ พวกนี้เป็นสิ่งที่ผมจับได้หลังจากได้เข้าไปดูในอินสตาแกรม pale flare ในช่วงแรก มันน่าประหลาดใจอย่างนึงที่ภาพของเขาไม่ได้มีข้อมูลให้เราตัดสินว่าอะไรเป็นอะไรได้อย่างแน่ชัด แต่สามารถสื่อสารกับกลุ่มคนดูทั้งหลายให้สัมผัสถึงมวลความรู้สึกเดียวกันได้ บรรดาผู้ที่ได้ดูงานของตรัสเป็นครั้งแรกต่างพูดกันว่าเขาเห็น ‘ความตาย’

“ถ้าถามส่วนตัวเราไม่ได้รู้สึกว่ามันเศร้าอะไรขนาดนั้นนะ เราว่ามันสวย”

ตรัสคุยกับเราว่าจริงอยู่ที่เขานำเสนออารมณ์และความรู้สึกที่สื่อไปถึงเรื่องความตาย แต่ความตายที่เขาเห็นไม่ใช่ความรุนแรง เขาเพียงมองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของมนุษย์เช่นเดียวกับเรื่องความรัก ความตายอยู่ในกลุ่มของสิ่งนามธรรมที่เขาสนใจ เขาอยากรู้ว่ามหาสมุทรของข้อมูลจากปัญญาประดิษฐ์จะพาเขาไปถึงไหน เขาจะเจอรูปธรรมของสิ่งนามธรรมที่เขาสงสัยผ่านภาพถ่ายได้ไหม 

สิ่งที่มองไม่เห็น

ตรัสมองว่า ความตายไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวและสิ่งที่เขาสื่อสารผ่านภาพถ่าย เพื่อบันทึกความรู้สึกที่เราไม่สามารถมองเห็นหรืออธิบายได้ในเชิงรูปธรรม โดยเราทำได้มากสุดแค่เพียงสื่อสารผ่านสัญลักษณ์

ตอนทำไม่ได้วางแผนว่าจะเน้นเรื่องความตายขนาดนั้น เพียงแต่ว่าเกณฑ์ในการเลือกรูปมันก็ต้องมีเกณฑ์อะไรบางอย่าง เรารู้สึกว่าเราพยายามแคปเจอร์ในสิ่งที่จับต้องไม่ได้ คือความจริงมันไม่ได้มีแค่ของที่จับต้องได้ เช่น เราไม่สามารถถ่ายรูป ‘ความสุข’ ได้ ก็รู้สึกว่าสิ่งๆ นั้นมันเป็นสิ่งที่แทรกอยู่ในของที่เป็นรูปธรรม สมมติถ้าเราต้องการถ่ายรูปเรื่องอิสระภาพมันไม่สามารถถ่ายได้อยู่แล้ว อย่างมากสุดก็ถ่ายได้เชิงสัญลักษณ์ มันก็ไม่ได้มีกฎเกณฑ์อะไรต้องเป็นอย่างนั้น ซึ่งสำหรับเราความชอบความสนใจของคนเราบางทีมันก็ไม่ใช่ของที่มองเห็น”

Asphyxia คือชื่องานนิทรรศการแรกของตรัสที่ถูกจัดขึ้นที่ประเทศรัสเซีย งานนี้มีคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจนถึงเรื่องความตาย  โดย Asphyxia แปลว่า การตายโดยการขาดอากาศ ตัวงานนี้อ้างอิงจากนิยายแนวอิเซไก ที่เป็นเหมือนจักรวาลอีกใบของผู้คนในยุคร่วมสมัย หลายคนต้องการประตูอีกบานเพื่อเปิดออกไปสูดลมหายใจในสิ่งแวดล้อมอันอุดมคติ แต่จะเป็นเช่นไรหากโลกอีกใบที่เราหวังจะก้าวข้ามไปกลับปิดตายจนต้องติดอยู่ในสังสารวัฏ

“เราไปเห็นคลิปวิดีโอที่เขาบอกว่าเราโดดลงไปในหลุมดำ แล้วเราอาจจะตกไปในมิติคู่ขนานได้ เดี๋ยวนี้มันจะมีนิยายอิเซไกใช่ไหมที่เราหลุดไปต่างโลกเลย เราไม่รู้ว่าถ้าเกิดไปจริงๆ แล้วมันไม่ได้ดีแบบในนิยายมันก็อาจจะรู้สึกแย่ เราอาจจะติดอยู่ในนั้น เหมือนการขาดอากาศ  ถ้าเราตายแล้วเกิดใหม่วนไปเรื่อยๆ มันดูไม่มีทางออก” 

แรงสั่นสะเทือนที่หลบซ่อน

หลังจากที่ตรัสได้คลุกคลีอยู่กับวงการเจนเนอเรตภาพประมาณหนึ่งปี เขาเล่าให้เราฟังว่าภาพที่ออกมาจากโปรแกรม AI ของเหล่าครีเอเตอร์ทุกๆ คนเหมือนเป็นภาพสะท้อนอะไรบางอย่างที่สื่อสารไปถึงเรื่องภาวะร่วมสมัย ด้วยเทคโนโลยีที่สามารถทำลายข้อจำกัด ทำให้เครื่องมือนี้กะเทาะเข้าไปถึงแก่นของจิตใจมนุษย์นำสิ่งที่เขารู้สึกนึกคิดอยู่จริงๆ ออกมาเป็นภาพ และได้ปลดปล่อยให้พวกเขาหลุดพ้นจากพันธนาการเดิมๆ ซึ่งก็อาจจะพูดได้ว่าโปรแกรม AI เป็นเครื่องสะท้อนจิตใจของมนุษย์ผ่านเจตจำนงที่เสรี 

“ตั้งแต่ทำงานมา เราเห็นว่า AI มันสะท้อนตัวตนของคนที่เขียนพรอมต์ได้ค่อนข้างดีในแง่ที่เป็นรูปธรรม โอเคเราวาดรูปก็ได้แต่วาดรูปหรือถ่ายภาพมันสามารถทำโดยไม่คิดได้ สมมติถ่ายรูปเปิดกล้องมาถ่ายไปก็เป็นรูปแล้ว เวลาเราเจนเนอเรต AI เราต้องเขียนไปเลยว่าเราอยากได้อะไร มันจะได้ไม่ได้อีกเรื่อง มันต้องมีเจตนาในการอยากได้ คือด้วยตัววิธีการของมันไม่สามารถทำสุ่มๆ ได้ ตอนแรกที่เราบอกว่าทดลองเรื่องนามธรรม ซึ่งเราก็ต้องเขียนให้มันนามธรรมด้วย มันไม่ใช่แบบว่าปล่อยสมองได้ ถ้าเข้าไปในกรุ๊ปคนไทยมันก็จะเห็นได้ชัดเลยในเรื่องที่คนไทยเขาสนใจกัน ต่อให้สนใจเรื่องเดียวกันสิบคนทำผลลัพธ์มันก็จะต่างกัน เพราะมันไม่มีลิมิตว่าทำอะไรได้ไม่ได้” ซึ่งคำอธิบายนี้เป็นที่มาของชื่องาน Resonances of the Concealed 

“เจนวันนี้แล้ววันพรุ่งนี้ก็อาจจะไม่เหมือนเดิม”  แม้จะใช้ชุดคำสั่งเดียวกันแต่ถ้าเจนเนอเรตในเวลาที่ต่างกันเช่นวันนี้กับพรุ่งนี้ ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะต่างกัน ประเด็นตรงนี้ที่ตรัสพูดถึง ในความรู้สึกมันก็เหมือนภาพถ่ายโดยกล้องมากนะ ในช่วงเวลาที่เปลี่ยนสิ่งที่ปรากฏออกมาก็เปลี่ยนไปด้วย เพราะข้อมูลที่หลั่งไหลเข้ามาในแต่ละวันนั้นไม่เคยหยุดนิ่งเหมือนกับก้อนเมฆที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอด ซึ่งสิ่งที่เราคิดว่ามันจะเป็นอย่างใจนึก แต่จริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้เป็นผู้กุมทุกอย่างไว้ได้ หากแต่เป็นพลังของข้อมูลมากกว่าที่เลือกให้เราว่าจะไปทางไหน เพียงแต่ในเวลานี้เราได้รู้สึกเป็นผู้มีอำนาจสวมบทบาทในการเลือกได้ 

ความคลุมเครือของภาพถ่าย

ความคลาสสิกของภาพถ่ายคือการเป็นประโยคเปิดบทสนทนาต่อความทรงจำได้เสมอ แต่ในส่วนของภาพถ่ายจาก AI สามารถพูดถึงเรื่องมิติความทรงจำได้ไหม ผมถามตรัสด้วยในฐานะที่ตัวผมเองใช้ภาพถ่ายทำงานเกี่ยวกับเรื่องความทรงจำเป็นส่วนใหญ่ 

“โดยส่วนตัวไม่ค่อยอินกับมิติเรื่องความทรงจำเท่าไหร่ ก็เลยไม่ค่อยได้คิด แต่ถ้าให้เทียบกับ AI  ก็คิดว่าคล้ายกับความทรงจำในแง่ที่ว่ามันเป็นเหมือนภาพหรือชุดข้อมูลที่มีอคติ มันเกิดจากความจริงแต่มันไม่ถูกต้อง ไม่ถูกต้องในที่นี้หมายถึงว่า ความจำคนเรามันมาจากความจริง มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่ว่าความทรงจำคนเราไม่ได้แม่นยำเหมือนรูปถ่าย เช่นเราบอกว่าเราจำเพื่อนได้ แต่ว่าใส่เสื้อสีอะไรบางทีก็จำได้แต่อาจจะจำไม่ถูก หรืออาจจะจำเหตุการณ์ได้แต่จำหน้าเขาไม่ได้ ถ้าคล้ายก็อาจจะเป็นตรงนี้คือ AI บางทีมันแสดงถึงสิ่งนั้นได้แต่ความแม่นยำของมันที่ตรงกับความเป็นจริงอาจจะไม่ตรงร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็อาจจะคล้ายกับความทรงจำในแง่ที่ว่ามันมีเค้าโครงความจริง แต่มันไม่ได้ตรงกับความเป็นจริง เหมือนอย่างที่เป็นรูปคนบนหลังคานั้นที่หน้าเบลอๆ ถ้าเป็นความทรงจำบางอย่างเราจะจำว่ามีคนเยอะมากแต่เราจำหน้าใครไม่ได้ มันจะคล้ายกันในแง่นั้นมากกว่า” 

ช่วงเวลาในกระบวนการภาพถ่ายมักจะมีสิ่งที่เราเรียกว่าเสน่ห์ของความผิดพลาดเสมอ สะท้อนความไม่สมบูรณ์ของความทรงจำดังที่พวกเราคุยกันในข้างต้น แต่ประเด็นที่ตรัสหลงใหลในตัวภาพถ่ายตั้งแต่แรกเริ่มนั้นอันที่จริงแล้วไม่ใช่เรื่องนี้กลับเป็นเรื่องของภาพถ่ายในฐานะมีเดียมที่ตัวมันเองมีความชัดเจนของข้อมูลแต่ในบางเวลาก็ไม่สามารถเชื่อถือได้เลย

“บางคนบอกว่าชอบภาพถ่ายจากการจับโมเมนต์ แต่เราไม่ได้รู้สึกว่าชอบจากตรงนั้น หมายถึงว่าสิ่งนี้ไม่ได้เป็นแพสชันเรา แต่ที่ชอบภาพถ่ายเพราะว่ามันเป็นสื่อที่ให้ข้อมูลเยอะมาก แต่ในขณะเดียวกันมันก็ไม่ให้ข้อมูลอะไรเลย สมมติว่ามีรูปผู้ชายกับผู้หญิง ผู้ชายอายุ 50 ปี ผู้หญิงอายุ 10 ขวบ ใส่ชุดสีอะไรก็ว่าไป คนก็อธิบายได้ว่ามีอะไรในรูป ถามว่าสองคนนี้เป็นอะไรกัน เราไม่มีทางตอบได้เลย ที่คนพูดว่าภาพถ่ายแทนคำพูดเป็นล้านคำ แต่ถ้าล้านคำมันไม่ใช่สิ่งที่เราตามหามันก็บอกไม่ได้ ถ้ามีแคปชันประโยคเดียวบอกว่าทั้งสองคนเป็นพ่อลูกกันหรือว่าเป็นตากับหลาน มันก็ได้คนละฟีลทั้งที่เป็นรูปเดียวกัน แค่คำพูดสองคำ มันทำให้ความหมายในภาพเปลี่ยน ที่เราบอกว่าภาพถ่ายมันให้ข้อมูลเยอะมากแต่มันไม่บอกอะไรเราเลยและมันสามารถทำให้คนดูรู้สึกกำกวมได้ อันนี้คือสิ่งที่เราชอบในภาพถ่าย มันมีความชัดเจนในวิชวลแต่ว่าในความหมายบางทีเราก็ไม่รู้ หรือบางทีคนถ่ายก็เลือกที่จะไม่บอกได้” 

ตรัสไม่ชอบที่เปลือยข้อมูลใดๆ ในภาพเพราะเขาไม่อยากจะจำกัดความคิดของคนดู ทุกๆ อย่างในภาพไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ ตึกรามบ้านช่อง ต้นไม้และสัตว์ ล้วนเชื่อมต่อประสบการณ์ระดับปัจเจกได้ผ่านการคาดเดาแต่คุณจะไม่มีวันที่ได้คำตอบที่แน่ชัด หน้าตาที่เบลอและสถานที่ที่ไม่สามารถแสดงตัวตนได้เป็นเพียงองค์ประกอบของภาพในสถานะเดียวกับแสงและเงา

หากภาพถ่ายไม่ใช่ความจริง

หลายคนต่างพยักหน้ายอมรับเสมอเมื่อพูดถึงเส้นพรมแดนที่พร่าเลือนของ ‘ภาพถ่าย’ ระหว่างมนุษย์และ AI ที่ปรากฏให้เห็นภายใต้บรรยากาศแห่งการถกเถียงกึ่งยอมรับ สุดท้ายแล้วภาพที่ถูกเจนเนอเรตขึ้นมานั้นเป็น ‘ภาพถ่าย’ ไหม ดังที่เคยมีเรื่องราวของช่างภาพคนหนึ่งที่พยายามพิสูจน์ว่าผู้คนจะเห็นความแตกต่างของภาพถ่ายที่เขานั้นเจนเนอเรตขึ้นจาก AI ได้ไหมในงาน Sony World Photography Awards จนสร้างแรงกระเพื่อมต่อการรับรู้พลังการสร้างสรรค์ของ AI และสร้างการรับรู้ต่อสาธารณะถึงความซับซ้อนในการกระบวนการป้อนข้อมูลตัวอักษรในโปรแกรม

“ถ้าเกิดเราแบ่งแยกว่าการเจนเนอเรตร้อยเปอร์เซ็นต์จากข้อความว่าไม่ใช่รูปถ่าย มันก็เป็นคำถามต่อว่าคนที่ใช้โฟโตชอปเปลี่ยนต้นไม้เป็นต้นอื่นโดยใช้ AI เจนเนอเรตในส่วนนั้น เขาจะเรียกว่ามันเป็นรูปถ่ายไหม ถ้าเขาบอกว่าอันนั้นแค่แต่งภาพไม่เป็นไร แต่ถ้าเขาแต่งรูปแบบไม่เหลือเค้าโครงรูปเดิมแล้วล่ะ มันก็จะดูไร้ความหมายไหมเพราะสุดท้ายรูปเหมือนกันแต่อันนึงไม่ใช่รูปถ่ายแต่อันนึงเป็นรูปถ่าย เพราะว่าอันนึงใช้อัลกอริทึม อีกอันใช้แปรงลบออกไป คือถ้าหาคำตอบจริงๆ มันหาคำตอบยาก เมื่อก่อนที่มีฟิลเตอร์หน้าในอินสตาแกรมก็มีคนแอนตี้แต่ตอนนี้คนก็ใช้กันปกติ แต่ว่ามันอยู่ที่เรามองในฐานะอะไรมากกว่า ถ้าภาพเชิงสารคดีหรือในภาพข่าวเองมันก็คงต้องเป็นของจริง ภาพถ่ายในฐานะตัวแทนของความจริงมันไม่ได้เป็นทั้งหมดของการถ่ายภาพตั้งนานแล้ว เรารู้สึกว่ามันไม่ได้สำคัญมากว่าจะแบ่งอย่างไร  ซึ่งก็ดีที่ได้มาคุยกัน แต่สุดท้ายมันก็น่าจะอยู่ที่เราคุยกันถึงภาพถ่ายในบริบทไหน”

เมื่อต้นปีผมเพิ่งได้อ่านรายงานจากนักประสาทวิทยาที่ใช้ AI ในการอ่านคลื่นสมองของอาสาสมัคร เพื่อวิเคราะห์ภาพในหัวที่ในอนาคตจะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่ไม่สามารถสื่อสารได้ ในแง่นี้ก็น่าตั้งคำถามต่อว่าสรุปแล้วในท้ายที่สุด AI อาจจะพาเราไปสู่ความจริงได้มากกว่าการถ่ายภาพโดยกล้องใช่ไหม ระหว่างที่อ่านข่าวนี้ผมก็เผลอไปนึกถึงฉากในภาพยนตร์  Blade Runner (The Final Cut) ที่ริค เดดการ์ดถามคำถามราเชลด้วยชุดคำถาม Voight-Kampff ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตรวจสอบว่าใครเป็นมนุษย์หรือหุ่นยนต์ เนื่องจากเป็นการทดสอบที่ใช้ข้อความในการสื่อสารต่อภาพในหัวของแอนดรอยด์

“คือต่อไปมันอาจจะมีการเจนเนอเรตที่ออกมาจากภาพในหัวก็ได้ หรืออาจจะออกมาจากความทรงจำหรือความฝัน ซึ่งก็อาจจะออกไปแนวไซไฟ เพราะก็ไม่รู้ว่าจะเป็นจริงเร็วช้าแค่ไหน และถ้าเป็นอย่างนั้นนิยามของภาพถ่ายมันยิ่งตอบยากเข้าไปใหญ่ ถ้าพูดถึงความฝัน การใช้ AI มันอาจจะเป็นการเข้าใกล้ความจริงของความฝันได้ใกล้ที่สุดแล้ว ที่แน่ๆ มันจะจริงกว่าการถ่ายรูปเพราะมันถ่ายรูปไม่ได้ในความฝัน”

สุดท้ายเราก็มานั่งสรุปกับตรัสว่าภาพที่เจนเนอเรตขึ้นทั้งหมดนั้นจะขาดความคิดตั้งต้นไม่ได้เลย เช่น เทคนิคและความรู้ด้านภาพถ่าย สุนทรียของภาพถ่ายและประวัติศาสตร์การถ่ายภาพ ทุกสิ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการป้อนข้อมูลตัวอักษรเข้าโปรแกรม รวมถึงคอนเซ็ปต์การเล่าเรื่องก็มาจากความสนใจในประเด็นเดิมเช่นเดียวกับตอนที่เขาทำงานภาพถ่ายผ่านกล้องอยู่ ซึ่งสิ่งพวกนี้จำเป็นต้องมีอย่างยิ่งถ้าอยากให้ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาดี 

แม้ดูแล้วเจ้าตัวคงยังไม่หมดรักกับปัญญาประดิษฐ์ไปเร็วๆ นี้แน่นอน แต่ก็อยากถามไว้ก่อนว่าหลังจากนี้ตัวเขาเองจะมีโอกาสผลิตงานจากการถ่ายภาพโดยกล้องเหมือนก่อนหน้านี้ไหม

“มี แต่ก็คงเป็นอะไรที่ AI ทำให้ไม่ได้ แต่ตอนนี้ AI ยังตอบโจทย์ในรูปแบบงานของตัวเองอยู่ ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปไวมาก ถ้าเราไม่ทำ มันอาจจะทำไม่ได้แล้ว” ซึ่งการเป็นส่วนหนึ่งและร่วมเรียนรู้ไปกับปรากฏการณ์ร่วมสมัยดูแล้วน่าจะสำคัญกว่าการถกเถียงกันว่าสิ่งไหนใช่หรือไม่ใช่ภาพถ่าย

พิสูจน์อักษร: ชลดา สวนประเสริฐ