brand logo

PHOTO | LIFE | INSPIRATION

Dec 2024

เล็ก - เกียรติศิริขจร
Floating on Cloud Nine
เรื่อง : กษิดิ์เดช มาลีหอม
ภาพ : ธันวา ลุจินตานนท์
25 Aug 2023

“สำหรับเรา เราคิดว่าภาพถ่ายจะยังคงอยู่ไปเรื่อยๆ เพราะมันมีลักษณะเฉพาะของตัวมันเอง คือเวลาที่มันถูกถ่าย (เวลาในภาพถ่าย) และเวลาในขณะที่คนดูยืนดูมัน (เวลา ณ ปัจจุบัน) รูปแบบและลักษณะความเป็นจริงของภาพถ่ายที่มันอาจจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ได้ การรับรู้เรื่องระยะห่างของเวลาและความรู้สึกในการรับรู้ความจริงของภาพถ่ายมันไม่เหมือนสื่ออื่น ในความคิดของเรา เราว่ามันเป็นความพิเศษที่สุดของสื่อภาพถ่าย” – เล็ก  เกียรติศิริขจร

ฉากเบื้องหลังของชีวิตมนุษย์ตัวเล็กที่ถูกถาโถมจากโครงสร้างสังคมกับซากเมืองรกร้างเสมือนโลกดิสโทเปีย เป็นภาพจำในหัวผมที่แกะอย่างไรก็ไม่ออกเมื่อนึกถึงชื่อของเล็ก เกียรติศิริขจรกับผลงานในชุด Lost in Paradise มักทำงานกับความรู้สึกของผมเสมอเมื่อชีวิตได้วนไปเจอกับภาพชุดนั้น 

ในโลกความสนใจส่วนตัวของเล็ก เขามักจะจับจ้องเหตุการณ์ในสังคมไทยจากระยะไกลเหมือนว่าเขาไม่ได้มีตัวตนอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับซับเจคในภาพ ซึ่งทำให้รู้สึกว่าสไตล์ภาพที่เล็กถ่ายทอดออกมาก็ชัดเจนในระดับนึงว่า เขาพยายามวางตัวเป็นสายตาที่เฝ้าดูเรื่องราวที่ดำเนินเกิดขึ้นบนโลกใบนี้อย่างไม่ร้อนรน 

จากตะกอนฝันของเสือตัวที่ห้าแห่งเอเชียสู่จินตนาการของความเป็นชาติที่เล็ก เกียรติศิริขจรมองเห็นออกมาเป็นนิทรรศการเดี่ยวล่าสุดของเขา “UNDER THE BURNING SUN THE GRASS IS GREENER THAN EVER”

“แดดมันแรง หญ้ามันไม่ควรเขียว ถ้ามันเขียวแสดงว่ามีอะไรผิด” ผมถามเล็กว่าหญ้าที่สวยขึ้นในทุกๆ วันมันไม่ดีอย่างไร เล็กให้ปริศนากับผมหลังจากที่ได้เดินดูผลงานของเขาทั่วห้อง ทั้งการจัดแสดงและวิธีการนำเสนอข้อมูลของนิทรรศการ ชวนกระตุ้นให้มนุษย์สงสัยใคร่รู้ในปริศนาที่ทิ้งไว้ในแต่ละภาพเหลือเกิน เนื้อหาในนิทรรศการชุดนี้เป็นการเชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์ทางวัฒนธรรมและกิจกรรมการท่องเที่ยวส่งเสริมความเป็นชาติไทยผ่านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมและศาสนา กับเหตุการณ์การเมืองไทยในอดีตช่วงปีพ.ศ. 2519 โดยในส่วนของวิชวลทั้งหมดมีที่มาจากงานภาพถ่ายในชุด Postcards from Heaven 

“เราถ่ายงานชุด Postcards from Heaven ก่อน แรงบันดาลใจมันก็มาจากโปสการ์ดช่วง ‘60s-‘70s ของประเทศไทย ในยุคการท่องเที่ยวกำลังถูกโปรโมท สหรัฐอเมริกาเข้ามาในประเทศไทยเพื่อเตรียมรับมือต่อการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท.) ก็ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อกระจายรายได้สู่ชนบท ดึงนักท่องเที่ยวอเมริกันเข้ามา ยุคนั้นก็มีโปสการ์ดพวกนี้ออกมาด้วย มันเป็นสีประหลาดๆ ด้วยเทคนิคการพิมพ์ที่ไม่ดีเท่าสมัยนี้ เราก็มีโปสการ์ดพวกนั้นเพราะสะสมตั้งแต่ตอนเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว เก็บไว้ตลอดแล้วมันก็ให้แรงบันดาลใจเรา

เราได้เห็นเหตุการณ์ในบ้านเราช่วงสองสามปีหลัง ที่มีกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่เขาทำเพื่อจะโปรโมทความเป็นไทยหรือสำนึกความเป็นไทย เราก็เลยเอาสุนทรียะของโปสการ์ดสมัยนั้นมาเป็นต้นแบบในการถ่ายเหตุการณ์กิจกรรมทางวัฒนธรรมในปัจจุบัน”

การโต้ตอบระหว่างความจริงกับความจริง

โดยผลงานชุด Postcards from Heaven ถูกถ่ายไว้เมื่อสองปีที่แล้ว ซึ่งเหตุการณ์ทางการเมืองในอดีตเป็นการนำมาผูกโยงภายหลัง “พอทำออกมาเป็นนิทรรศการแล้วมันมีเรื่องสามารถพูดถึงได้เยอะ เราก็คิดว่าช่วง ‘60s-‘70s เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองอะไรบ้าง เราก็ควบรวมออกมาเป็นช่วงเหตุการณ์ตุลา 16 กับ ตุลา 19 ก็มาคิดเออมันก็ย้อนแย้งดีกับเหตุการณ์ทางการเมืองในยุคนั้น มันค่อนข้างที่จะตึงเครียด ในขณะที่ภาพส่งเสริมการท่องเที่ยวมันดูสวยงามและสันติสุข เราก็เลยเอาไอเดียตรงนี้มาเล่นกับความย้อนแย้งของสถานการณ์ในปัจจุบัน” 

สิ่งที่แตกต่างไปจากงานในชุดก่อนๆ ของเล็กคือก่อนหน้านี้เขาจะทำงานกับเหตุการณ์ที่เขานั้นมีความทรงจำร่วมในช่วงชีวิตของเขาไม่ว่าจะเป็นชุด Lost in Paradise หรือเหตุการณ์น้ำท่วมกับชุด Flowing Through The Wreckage of Despair หรือแม้แต่ As Time Goes By โปรเจกต์บันทึกบ้านและครอบครัวตัวเอง ซึ่งชุดงานภาพถ่ายทั้งหมดนี้ตัวเขาเองยังสามารถบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทัน และยังพอมีสถานที่ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์แทนบางสิ่งให้บันทึก แต่สำหรับ UNDER THE BURNING SUN THE GRASS IS GREENER THAN EVER เขาต้องทำงานมากขึ้นกว่าเดิมในการหาวิธีสื่อสารข้อมูลออกไปให้กลมกลืนกับภาพ

“จะแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นสิ่งที่เราบันทึกเหตุการณ์จากงานอีเวนต์ทางวัฒนธรรมต่างๆ กับส่วนที่สองคือการอ้างอิงถึงเหตุการณ์ในยุคตุลา 19 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนเราเกิดอีก คือเป็นไทม์ไลน์ที่มันถูกขยายไปสู่เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เรายังไม่เกิด เหตุการณ์เหล่านั้นก็ไม่ได้หลงเหลือสัญลักษณ์อะไรมากมายให้เราบันทึกแล้ว และทีนี้เราจะควบรวมมันได้อย่างไร เราก็เข้าไปรีเสิร์ชที่หอสมุดแห่งชาติ และก็ไปดูนิทรรศการ “6 ตุลา เผชิญหน้าปีศาจ” ที่จัดที่คินใจ คอนเทมโพรารีด้วย เราก็เลยคิดว่ามันน่าสนใจที่จะใช้พาดหัวข่าวเป็นตัวเชื่อมโยงเพื่อที่จะขยายไทม์ไลน์ในสิ่งที่เราอยากสื่อสารให้ครอบคลุมไปสู่เหตุการณ์ตุลา 19 ได้”

เทคนิคการพิมพ์ภาพอย่างการใช้เทคนิคยูวีพรินต์ (UV Print) พิมพ์ลงบนแผ่นอะครีลิคและพิมพ์ข้อความที่มีความโปร่งแสงลงบนด้านหน้าของภาพมีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างประสบการณ์ให้เราเข้าถึงข้อมูลไม่ได้ด้วยการมองดูแบบปกติ จึงทำให้เกิดความรู้สึกถึงภาวะก้ำกึ่งระหว่างความจริงและไม่จริง และมีการใช้ความคิดเกี่ยวกับขนาดของตัวผลงานและลักษณะการติดตั้งเพื่อเข้ามาช่วยสนับสนุนในการส่งผ่านความคิดที่เขาอยากจะสื่อสาร

“คือจริงๆ แบคกราวด์เราเรียนศิลปะจบสาขาจิตรกรรมมา แล้วมันก็มีวิธีการทำงานและเล่าเรื่องแบบงานไฟน์อาร์ตที่เราเอามาใช้ในงานนี้ เพราะว่าข้อมูลของโปรเจกต์นี้สำหรับเราแล้วอย่างที่บอกมันมีเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตที่เราไม่สามารถถ่ายมันได้ เราก็เลยต้องเอากรรมวิธีการสื่อสารที่เราเคยถูกสอนมาในการทำงานศิลปะไฟน์อาร์ตมาควบรวมด้วยเพื่อทำให้ตัวงานสามารถสื่อสารได้ดีขึ้น ไม่งั้นโปรเจกต์นี้นะถ้าแค่แสดงภาพสองมิติที่เราถ่ายมา แล้วจัดแสดงแบบขนบที่เราเคยทำ ภาพสองมิติในเฟรมมันจะพูดได้ไม่เยอะ แล้วกลายเป็นต้องเขียนอธิบายเยอะมาก กลายเป็นภาพประกอบบทความ ซึ่งมันไม่ควรจะเป็นแบบนั้น เราต้องใช้กรรมวิธีในด้านศิลปะเข้ามาช่วย อย่างเช่น ขนาดภาพที่เราเห็นมันเป็นขนาดของหนังสือพิมพ์หน้าคู่ แล้วเทคนิคการพิมพ์มันเป็นการพิมพ์แบบยูวีพรินต์ (UV Print) ที่เขาใช้ในงานโฆษณา แล้วก็ตัวแผ่นอะครีลิคเองมันเป็นเหมือนวัสดุสำหรับศิลปะราคาถูกที่มีอยู่ดาษดื่นทั่วไป (Kitsch) และเป็นเหมือนวัสดุชั่วคราว เหมือนบางเหตุการณ์ที่อยู่ในรูป ซึ่งเป็นอีเวนต์เชิงวัฒนธรรมที่ใช้วัสดุชั่วคราวไม่คงทนและราคาไม่แพง มาตกแต่งเพื่อการจัดแสดง และพวกวิธีการวางผลงานก็เหมือนชั้นวางในห้องสมุดสาธารณะเป็นชั้นที่มีความลาดเอียงสำหรับวางหนังสือพิมพ์” 

ช่างภาพผู้บันทึกสังคม

เล็กเริ่มให้ความสนใจอย่างจริงจังกับการถ่ายภาพหลังจากเขาเรียนจบจากมหาวิทยาลัยศิลปากร การที่ภาพถ่ายนั้นเป็นสื่อที่สามารถไปอยู่ในทุกหนทุกแห่งตั้งแต่ปกแมกกาซีนสู่ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ได้ดึงดูดให้เขาอยากจะลองใช้ภาพถ่ายบอกเล่าสิ่งที่เขาคิด เขาจึงตัดสินใจไปเรียนต่อด้านการถ่ายภาพที่ The Arts Institute at Bournemouth ประเทศอังกฤษ และที่นั่นเขาได้เรียนรู้พลังของภาพถ่ายในการบันทึกความเป็นไปในสังคม นอกจากการนำเสนอสิ่งที่เราต้องการให้คนอื่นเห็น ภาพถ่ายยังสามารถตั้งคำถามและให้ผู้คนมาร่วมเรียนรู้บางสิ่งบางอย่าง เช่น ความจริงบางชุดที่ไม่เคยถูกปรากฏในสังคมกระแสหลัก 

“เราไปเรียนคอร์สถ่ายภาพคอมเมอเชียลที่อังกฤษ แต่เขาสอนพวกประวัติศาสตร์ภาพถ่ายด้วย ว่ามันมีแนวสารคดีด้วยนะ เราชอบการบันทึกสังคม เพราะว่าไปเห็นงานช่างภาพอเมริกันและช่างภาพอังกฤษหลายๆ คนที่เขาบันทึกสังคมก็เลยคิดว่ามันสำคัญ เพราะการบันทึกสังคมโปรเจกต์นึงไม่ว่าจะจากช่างภาพคนไหนก็แล้วแต่ ภาพของแต่ละคน มันทำให้เห็นภาพรวมแบบหนึ่งในสังคมนั้นๆ อย่างผลงานของโรเบิร์ต แฟรงค์ (Robert Frank) ชื่อ The Americans ก็เป็นการบันทึกด้านที่ไม่สวยงามของสังคมอเมริกันในยุค ‘50s ซึ่งคนอเมริกันในยุคนั้นยังมองไม่เห็นสังคมตัวเองในแบบที่โรเบิร์ต แฟรงค์มอง ความน่าผิดหวังในสังคมอเมริกันมันมาเผยตัวให้คนอเมริกันเห็นอย่างชัดเจนในยุค ‘60s-‘70s จากเหตุการณ์ทางการเมืองหลายๆเหตุการณ์ ซึ่งโรเบิร์ต แฟรงค์ เห็นตั้งแต่ ‘50s แล้ว เราคิดว่าตรงนี้มันสำคัญต่อการบันทึกสังคมๆ หนึ่ง เพื่อที่คนในอนาคตสามารถมองกลับมาว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง งานชุดนี้มันเป็นส่วนนึงจากฐานทางความคิดในการถ่ายภาพของเราอยู่แล้ว คือการบันทึกสังคมไทยในช่วงที่เรายังมีชีวิตอยู่ อันนี้เป็นความคิดหลักในการทำงานแล้วก็แยกย่อยไปตามสิ่งที่เราสนใจในช่วงชีวิตนั้นๆ ของเรา” 

สำหรับนิทรรศการ UNDER THE BURNING SUN THE GRASS IS GREENER THAN EVER ที่มีพื้นฐานมาจากเหตุการณ์ในบ้านเมืองช่วงห้าปีหลัง ที่เกิดปรากฏการณ์ทางการเมืองต่างๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน รวมถึงเสียงเพรียกหาบางอย่างจากอดีตได้โชยพัดผ่านมาให้เล็กสงสัยในความจริงของข้อมูลบางอย่างที่ตลอดชีวิตเขาไม่เคยได้รู้จนกระทั่งเขาได้ยิน

“ได้ดูงานโรเบิร์ต แฟรงค์ ในหนังสือ The Americans และงานโจเอล สเติร์นฟิลด์ (Joel Sternfeld) ในหนังสือ American Prospects เราชอบมันมากเลย คือวิธีการมองสังคมของแต่ละคนไม่เหมือนกันอยู่แล้ว แต่มันจะมีชุดความคิดหลักที่ครอบอยู่ทั้งในสังคมอเมริกันหรือที่ไหนก็แล้วแต่ มักจะถูกสอนหรือถูกปลูกฝังจากครอบครัวเรื่องหลักคิดต่อตัวเองหรือสังคม ซึ่งมันอาจจะมีความสำคัญในการสร้างสำนึกความเป็นชาติหรืออะไรก็แล้วแต่  ไม่ใช่แค่ประเทศเราด้วยนะเพราะว่าเชื่อว่าทุกชาติมี 

ในฐานะช่างภาพเราเป็นเหมือนผู้สังเกตุการณ์ เมื่อเราเห็นสถานการณ์ๆ นึงที่มันสร้างคำถามในใจเราหรือ มันดูผิดแปลกในความรู้สึกของเราซึ่งอาจจะแตกต่างจากคนกลุ่มใหญ่ที่เขารู้สึก อันนี้มันน่าสนใจ แล้วมันก็สำคัญในการที่จะต้องบันทึกเอาไว้ อย่างที่โรเบิร์ต แฟรงค์ทำ เค้าก็โดนคนอเมริกันวิจารณ์ว่าเค้าไม่ใช่คนอเมริกัน แต่อย่างน้อยมันสำคัญไง มันสร้างข้อถกเถียงว่าจริงๆ แล้วสังคมที่เราอยู่มันเป็นแบบนี้รึเปล่านะ คือมันเป็นทางเลือกในการมองตัวเอง ไม่ใช่แค่มองอยู่มุมเดียวในสิ่งที่เราถูกปลูกฝังมา เพราะมันเป็นแค่ความจริงชุดหนึ่ง”

 

พิสูจน์อักษร: ชลดา สวนประเสริฐ