brand logo

PHOTO | LIFE | INSPIRATION

Jan 2025

โตส - ยศธร ไตรยศ
The Outsider
เรื่อง: กษิดิ์เดช มาลีหอม
ภาพ: ธันวา ลุจินตานนท์
6 Dec 2023

“กฎอัยการศึก เป็นกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงอีกฉบับ ให้อำนาจเต็มแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารในการตรวจค้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจค้นตัวบุคคล ยานพาหนะ เคหสถาน หรือที่ใดๆ และไม่ว่าเวลาใด ตรวจข่าวสาร จดหมายสิ่งพิมพ์ การเกณฑ์พลเมือง ห้ามการชุมนุมมั่วสุม ห้ามเผยแพร่สิ่งพิมพ์ วิทยุ ทหารมีอำนาจกักตัวบุคคลไว้ไม่เกิน 7 วัน เพื่อซักถาม หากบุคคลได้รับความเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ ”  เนื้อหาจากข่าว “จับตา “กฎหมายพิเศษ” ในชายแดนใต้ หลังต่ออายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ 1 เดือน” ในบีบีซีไทย เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2566

ตลอดระยะเวลาที่มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวองค์กรและกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนได้พยายามเรียกร้องและชี้แจงต่อรัฐว่าการกระทำเหล่านี้ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล ในแวดวงการภาพถ่ายหากไม่นับช่างภาพที่ลงไปในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อทำข่าวหรือเก็บภาพส่งให้เอเจนซีภาพถ่าย เราก็แทบจะไม่มีโอกาสเห็นงานภาพถ่ายที่สื่อสารเรื่องราวในเชิงการตีความผ่านกระบวนการทางศิลปะ หรือการใช้ภาพถ่ายเล่าเรื่องมุมมองหลายๆ ด้านในบริบทพื้นที่จริง สาเหตุอาจเป็นเพราะเรื่องการทำงานรูปแบบระยะยาวที่ต้องแลกกับรายได้ที่สูญเสียไป งานประเภทนี้จึงเป็นการคัดกรองคนที่จะมาอยู่ในพื้นที่เป็นอย่างมาก แม้จะได้รับเงินจากแหล่งทุน แต่กว่าจะได้มาต้องลงมือเขียนโครงการด้วยแพสชันอันแรงกล้าและต้องเชื่อมั่นในตัวเองด้วยว่าไฟที่เริ่มจุดแล้วในวันแรกจะไม่มอดดับเมื่อเวลาผ่านไป

ในช่วงเวลาเดียวกันที่มีการประกาศขยายเวลากฎหมายพิเศษตามข่าว ณ บริเวณผนังโค้ง ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร มีการจัดแสดงนิทรรศการ The Deep Places in the Deep South โดย โตส-ยศธร ไตรยศ ช่างภาพสารคดีที่ทำงานเชิงลึกในประเด็นสิทธิมนุษยชนและคนชายขอบอย่างแข็งขัน หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Realframe เนื้อหาในนิทรรศการเป็นการเล่าเรื่องพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านมุมที่สงบและอบอุ่นภายในบ้านที่หลับนอนของ 15 ครอบครัวซึ่งดูตรงข้ามจากภาพข่าวที่ดำเนินขนานไปบนสิ่งพิมพ์กระแสหลัก ซึ่งปัจจุบันตัวนิทรรศการถูกนำไปจัดแสดงต่อที่จังหวัดปัตตานี  

ชุดผลงานนี้เป็นการเล่าเรื่องที่เชื่อมโยงจาก Gray Zone เซ็ตภาพถ่ายขาวดำที่โตสติดตามชีวิตผู้ต้องหาในคดีความมั่นคง โดยมีตัวละครบางคนจาก Gray Zone ไปอยู่ใน The Deep Places in the Deep South เพื่อเป็นการเชื่อมต่อของเรื่องราวที่โตสตั้งใจร้อยไว้แต่แรก

อดีตเจ้าหน้าที่เอ็นจีโอทำงานด้านประชาธิปไตยในประเทศพม่าเริ่มสนใจงานภาพถ่ายอย่างจริงจัง เนื่องจากภาพถ่ายเป็นสื่อกลางที่ทำให้เขาสามารถสื่อสารประเด็นที่เขาสนใจต่อสาธารณะได้ โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่มีองค์กรหรือกลุ่มถ่ายภาพที่ทำงานประเด็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เขาและเพื่อนอีกสองคนจึงก่อตั้งกลุ่ม Realframe  ขึ้นมาเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับชีวิตที่ถูกทำให้ต้องหลบซ่อนของสังคมนี้แต่ในอีกด้านหนึ่งวงการศิลปะเองบ้านเราก็ไม่ได้สนับสนุนภาพถ่ายสารคดีจากประเด็นการเมืองและสิทธิมนุษยชนมากเท่าที่ควร

ในบทสัมภาษณ์นี้เราจะคุยกับโตสตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการลงไปทำงานภาพถ่ายประเด็นสิทธิมนุษยชน การนำวิธีทางมานุษยวิทยาเข้ามาประยุกต์กับการถ่ายภาพสารคดี กระบวนการทำงานในพื้นที่ภายใต้สถานการณ์จริง และอนาคตของภาพถ่ายเชิงการเมืองและสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ทางศิลปะ

อะไรคือจุดเริ่มสิ่งที่ทำให้คุณโตสสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

ตอนนั้นรู้สึกว่าเป็นงานของแอมเนสตี้หลายปีแล้วก่อนที่จะทำ Gray Zone รู้สึกว่าบริบทในพื้นที่มันไม่ได้เป็นเหมือนที่เราจินตนาการไว้เลย โดยเฉพาะในเมือง มันสบายๆ สนุกสนาน มีความแฟชั่นเหมือนเชียงใหม่เลย แต่มันไม่ถูกพูดถึง มันถูกพูดถึงแต่ความรุนแรง เวลาช่างภาพไปทำงาน มันไปตอกย้ำไปสร้างวาทกรรมเดิมให้แข็งแรงขึ้น ก็จะมีภาพทหารถือปืนคุ้มครองเด็ก ถ้าลองจินตนาการภาพในหัวก็จะมีภาพพวกนี้ลอยขึ้นมา ผมรู้สึกว่ามันห่างไกลจากความเป็นจริงไปเยอะ คือเราก็ไม่ได้ปฏิเสธว่ามันไม่มี (ความรุนแรง) มันยังมีอยู่เพียงแต่ว่ามันมีมุมอื่นๆ ด้วย ที่ผ่านมามันถูกนำเสนอแต่มุมเดียวมาเรื่อยๆ ก็เลยรู้สึกว่ามันต้องย้อนไปหาสาเหตุของเรื่องพวกนี้ว่ามันเป็นอย่างไร จริงๆ แล้วคนพวกนี้เขาน่ากลัวขนาดนั้นรึเปล่า

มานุษยวิทยากับภาพถ่ายสารคดี

ระหว่างการเตรียมข้อมูลสัมภาษณ์ได้ไปเจอชื่อของโตสอยู่ในระบบของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร สำหรับผมสิ่งนี้น่าจะเป็นตัวการันตีได้ว่า เขาเป็นผู้ที่สนใจในประเด็นเกี่ยวกับมิติชีวิตของมนุษย์อย่างจริงจังและมีการทำงานที่เข้มข้น ซึ่งช่างภาพสารคดีที่ทำงานประเด็นสิทธิมนุษยชนในประเทศนี้ก็แทบจะนับนิ้วได้ ซึ่งบ่อยครั้งที่โตสให้สัมภาษณ์จะกล่าวถึงวิธีทางมานุษยวิทยาเสมอว่าเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานของช่างภาพสารคดีแบบเขาด้วย 

ประสบการณ์อันโชกโชนในการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลและถ่ายภาพประเด็นเชิงสิทธิมนุษยชนทำให้โตสได้รับเชิญไปร่วมวงเสวนาท่ามกลางนักมานุษยวิทยาบ่อยครั้ง โตสเล่าถึงครั้งหนึ่งที่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับอาจารย์จุ้ย-ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ ถึงมุมมองที่เขาได้รับจากสายตาของนักมานุษยวิทยาในการมองผ่านภาพถ่ายและกระบวนการทำงาน ซึ่งโตสบอกกับพวกเราว่าเวลาลงพื้นที่ในแต่ละครั้ง มานุษยวิทยานั้นเป็นเหมือนกำแพงที่สามารถเอาหลังพิงได้ 

ตอนที่ได้แลกเปลี่ยนการทำงานภาพถ่ายกับนักมานุษยวิทยา มีประเด็นไหนบ้างที่ทำให้เรารู้สึกสนใจวิธีทางมานุษวิทยามากขึ้น

ผมรู้สึกว่านักมานุษยวิทยาตีความอะไรในมุมที่ผมเองก็ไม่เห็น คือเป็นความละเอียดละออ มันเป็นความโรแมนติกบางอย่าง ผมรู้สึกว่าตอนผมถ่าย ผมไม่ได้คิดขนาดนั้น แกก็ชี้ให้เห็นมุมมองอะไรบางอย่าง เออซึ่งมันก็จริง เหมือนเราทำไปแล้วแต่เราไม่ได้รู้ตัว เหมือนเรามีกระบวนการที่เราทำจนมันเป็นคู่มือของเราไปแล้ว พอเขามาถอดให้เรา เราก็รู้สึกว่าน่าสนใจเหมือนกันกับวิธีทางมานุษยวิทยา แล้วเขาเองก็รู้สึกว่าวิธีการที่ช่างภาพทำงานน่าสนใจก็พยายามให้เราไปแลกเปลี่ยนที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ผมคิดว่าสายตาของนักมานุษยวิทยามีความละเอียดละออ ความละเมียดละไมมากกว่าสายตาช่างภาพสารคดีอย่างผม คือบางทีเราไปติดกับรูปแบบของภาพถ่ายเสียมากกว่า

คุณโตสนำวิธีทางมานุษวิทยามาปรับใช้ในงานภาพถ่ายอย่างไรบ้าง 

จริงๆ ผมไม่ได้นำมาใช้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เหมือนว่าสิ่งที่เราทำอยู่แล้วมันก็เป็นส่วนหนึ่งที่พวกเขาทำอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันไม่ได้ทับกันพอดีขนาดนั้นและผมก็ไม่สามารถไปเอาวิธีการแบบนั้นมาใช้ ซึ่งมันมีความเกรงใจและมีความกังวลอะไรบางอย่าง วิธีแบบนักมานุษยวิทยาเวลาเข้าไปเขาไม่อยากกระทบความรู้สึกคนให้ข้อมูล ซึ่งมันเปราะบางมากๆ ผมก็ไม่สามารถทำงานแบบนั้นได้ เราก็ปรับจนมันเป็นวิธีที่เหมาะสมกับตัวเรา วิธีการคือเราใช้เวลาเหมือนเขาในการเข้าไปสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจเพียงแต่ว่าเราอาจจะไม่ได้แบบระวังตัวหรือถ่อมตัวมากๆ คือผมก็จะตีสนิทเป็นเพื่อนเลย อย่างนักมานุษยวิทยาอาจจะไม่ต้องการความเป็นเพื่อนเสมอไป เขารู้สึกว่ามันจะสูญเสียอะไรบางอย่างถ้าล้ำเส้นกัน แต่ส่วนตัวผมก็ไม่ได้มีเส้นอะไรขนาดนั้น

คนนอกวัฒนธรรม

ช่วงที่เข้าไปทำงานในพื้นที่ตอนถ่ายงาน The Deep Places in the Deep South กับงาน Gray Zone ได้สร้างความเป็นคนในไหม

ผมรักษาความเป็นคนนอกไว้ตลอด ผมไม่มีความจำเป็นต้องไปทำตัวให้เป็นคนใน ซึ่งมันมีสิทธิพิเศษของการเป็นคนนอกอยู่เหมือนกันนะ มีความเป็นแขก ความอะลุ่มอล่วย ผิดพลาดอะไรบ้างเขาก็จะรู้สึกว่ามันไม่รู้เรื่อง ขำเรา ผมจึงรู้สึกว่าอันนี้ดีไม่ต้องไปพยายามเข้าใจเขาไปทั้งหมด เราก็พยายามเคารพกัน แต่ผมรู้สึกว่าไม่ว่าจะอย่างไรคนนอกคือคนนอกพลาดกันอยู่แล้ว แต่พอเขาเข้าใจเขาก็จะอภัยให้ ซึ่งผมมองว่ามันเป็นสิ่งที่ดี ทำให้การทำงานเป็นไปได้มีความเอ็นดูอะไรบางอย่าง

ถึงไปเป็นคนนอกก็จริง แต่ภาพที่ถ่ายออกมาดูเป็นคนในมากๆ เลยนะครับ

(ยิ้ม) ก็พยายามทำให้มันลึก งานชุดใหม่ที่ผมตั้งชื่อว่า The Deep Places in the Deep South ผมรู้สึกว่า คำว่า place มันมีนัยยะของความเป็นส่วนตัวของพื้นที่อยู่ คือตอนแรกผมจะทำให้มันเป็นห้องรับแขก คอนเซ็ปต์จะเป็น The Living Room in the Deep South แต่ว่าทำไปทำมานิยามของห้องรับแขก มันเป็นคำที่เราเอาเข้าไปใส่และเป็นคำจากต่างประเทศด้วยซ้ำ ซึ่งความเป็นจริงมันไม่ได้มีขนาดนั้น มันเป็นห้องเอนกประสงค์ที่ทุกคนอาจจะกินและนอนได้ ทำกับข้าวอะไรอย่างนี้ อาจจะเป็นคนอีลิทหรือชนชั้นกลางขึ้นไปที่จะมีห้องรับแขกจริงๆ ถ้าคนส่วนใหญ่ที่เป็นชาวบ้านธรรมดาเขาไม่ได้มีคำนั้น ผมรู้สึกว่าต้องขยายนิยามออกไปให้งานมันทำงานได้ดีขึ้นด้วยและผมรู้สึกว่าอยากให้มันเกิดการตีความที่ขยายออกไปแล้วเห็นความเป็นจริงที่เป็นอยู่ในพื้นที่ด้วย ก็พอทำไปสักพักทำให้ผมเห็นว่าคำว่า place มันขยายความเป็นส่วนตัวที่คนไม่เคยเห็น

แสดงว่าผลงานชุดนี้จริงๆ แล้วก็พูดถึงพื้นที่ชีวิตภายใต้กฎหมายพิเศษอยู่เพียงแต่ถ่ายทอดกันคนละรสกันจาก Gray Zone

มันพูดง่ายกว่าถ้าถอยออกมานิดนึงพอมันพูดเจาะจงเรื่องกฎหมายมันถูกปฏิเสธจากคนบางกลุ่ม ในชนิดที่แบบว่าไม่อยากให้นำเสนอหรือแม้กระทั่งไม่เชื่อเวลาเรานำเสนอผ่านคนที่เป็นผู้ต้องหาภัยความมั่นคง มันก็จะถูกอคติบางอย่างบังไปก่อนแล้ว ผมจึงถอยออกมาหน่อยและเคลือบๆ ซ่อนไว้

ทราบมาว่าในงานชุดนี้นอกจากชาวไทยมุสลิม มีครอบครัวที่เป็นแรงงานชาวกัมพูชาด้วย เลยสนใจว่าในงานครั้งต่อๆ ไปจะมีการถ่ายทอดมุมมองชาวไทยพุทธที่ดูเป็นคนชายขอบในพื้นที่เพิ่มเติมไหม

เรื่องความเป็นชายขอบสำหรับไทยพุทธที่นั่นเป็นชนกลุ่มน้อยจริงๆ ซึ่งก็น่าสนใจ ผมคิดว่าเสียงของคนพุทธในพื้นที่ที่เข้าไปคุยก็สำคัญอยู่ โดยเฉพาะคนพุทธที่อยู่ห่างจากเมืองออกไป เพราะในเมืองมันไม่มีปัญหา มันมีความเจริญแล้วเหมือนกรุงเทพฯ เลย พอออกไปมันมีความเงียบ ความแยกจากกันชัดเจนมาก หมู่บ้านไทยพุทธแยกกันกับหมู่บ้านไทยมุสลิม ถึงเขาจะตั้งติดกันแต่จะมีรั้วลวดหนามบนถนนที่กั้นไว้ มันก็มีความแบ่งแยกกันอยู่ประมาณนึง คนกลุ่มนี้ก็ยังมีความอยากให้เจ้าหน้าที่ทหารมีอยู่ ในขณะที่เรารณรงค์ให้ออกไป ซึ่งเสียงของชาวพุทธกลุ่มนี้ก็ควรต้องรับฟังว่าความกลัวของพวกเขาเกิดจากอะไร และกลุ่มเจ้าหน้าที่อยากให้มีกฎหมายพิเศษบางอย่างเอาไว้อยู่ จริงๆ คือเขาก็เคยมีผู้สูญเสียในช่วงที่มันแรงมากๆ ที่ฆ่าตัดคอกัน คือบางคนก็มีญาติที่เป็นผู้ประสบเหตุ บางคนก็ถูกระเบิด เรื่องราวที่เกิดขึ้นจึงเป็นความกลัวที่ยังคงอยู่ในฐานะผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

ตัวผมเองชื่นชมและเคารพในวิถีการทำงานของช่างภาพสารคดีเสมอมา เพราะนอกจากจะต้องรู้จักหาช่องเข้าถึงแหล่งข้อมูลอย่างใจเย็นแล้ว จะต้องมีหัวใจที่แข็งดั่งเพชรอดทนต่อสถานการณ์และแรงกดดันจากกรอบเวลา เพื่อเล่าความเจ็บปวดผ่านเสียงสดับลอยตามลมและติดตัวเขากลับไปบ้านจนถึงเวลาเข้านอน 

แต่มันก็ช่างเป็นเรื่องที่น่าตลกร้ายมากในสังคมนี้ที่ผู้ถ่ายทอดความเจ็บปวดของผู้อื่นจะต้องมาเผชิญความเจ็บปวดเสียเองจากโครงสร้างของแวดวงศิลปะที่ปฏิบัติต่อพวกเขาเหมือนเป็นคนนอกวงโคจรที่ไม่มีใครอยากสบตา

ทั้งสองมีมิติของคำว่า ‘คนนอก’ เชื่อมโยงกันอย่างน่าแปลกใจ ในแบบแรกเป็นแขกต่างวัฒนธรรมที่เจ้าบ้านรอต้อนรับ ในแบบหลังเป็นคนนอกที่ยืนต่อแถวและไม่มีวี่แววจะมาถึงคิวของพวกเขาสักที แม้ตัวโตสเองจะบอกพวกเราว่าเขามีการถอยวิธีการเล่าที่ดูตึงเครียดแบบเดิมมาสู่เรื่องวิถีชีวิตมากขึ้นแล้ว แต่เขาก็ยังรู้สึกว่างานตัวเองยังไม่ได้ถูกให้ความสำคัญจากชุมชมศิลปะในประเทศนี้อยู่ดี

คนนอกสายตา

ในฐานะช่างภาพสารคดีทำงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน คุณโตสมีเป้าหมายของตัวเองไหมว่าอยากจะพูดเรื่องอะไรออกไปมากที่สุดที่เป็นเรื่องที่พูดแล้วจะรู้สึกบรรลุ 

ผมรู้สึกว่าเป้าหมายในเชิงสังคมทั่วไป ผมโอเคกับมันประมาณนึงนะ มันถูกยอมรับในพื้นที่ของมัน ในระดับคนที่ทำงานในเชิงสิทธิมนุษยชนที่ผมทำอยู่ ในต่างประเทศมีการสัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศอยู่

แต่ที่ผมคาดหวัง คือรู้สึกว่าอยากให้วงการถ่ายรูปหรือวงการศิลปะ มองงานแบบนี้ให้เข้าไปอยู่ในแกลลอรี่แบบอื่นบ้าง ผมรู้สึกว่ามันไม่ได้มีโอกาสได้เข้าไปอยู่ในแกลเลอรีปิดที่ทำงานกับอารมณ์ความรู้สึกของคนดูมากขึ้นกว่านี้ เหมือนกับตอนนี้ที่ผมโชว์งานอยู่ คือผมโอเคกับการที่มีคนผ่านไปมาแล้วก็เข้ามาดูแล้วเขาได้รับอะไรบ้างไม่มากก็น้อย แต่ผมก็อยากจะจินตนาการเหมือนกันว่าถ้ามันไปอยู่ในพื้นที่ศิลปะหรือพื้นที่ที่คนตั้งใจมาเพื่อเอาประสบการณ์บางอย่างที่เราสื่อสารกับเขาได้ลึกกว่านี้มันจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งตรงนี้มันไม่ถูกพูดถึง ผมไม่อยากไปเรียกร้องมากกว่านี้ มันพูดได้เบาๆ พอเราพูดมากๆ ก็เป็นว่าถ้างานคุณดีมันก็ไปถึงเอง แต่ผมรู้สึกว่าบางอย่างมันต้องการใครสักคนเปิดทางให้มันก่อน แม้กระทั่งองค์กรถ่ายภาพระดับประเทศ คุณเคลมว่าแห่งประเทศไทยสายตาคุณต้องกวาดมองงานภาพถ่ายว่ามีแขนงไหนอยู่บ้างในสังคมนี้ พอผมไปพูดเหมือนกับว่าผมไปโปรโมตงานตัวเอง แต่ถ้าผมเป็นคนที่ยืนอยู่บนนั้น ผมต้องมองแล้วว่ามันมีภาพอะไรบ้างแล้วความเป็นจริงมันให้อะไรกับสังคมนี้ที่เราอยู่บ้าง 

ส่วนตัวก็เสียดายที่งานในแนวนี้ไม่ได้ถูกนำเสนอในสถานที่ปิดอย่างที่ว่า สำหรับผมงานสไตล์นี้ควรได้ไปอยู่ในพื้นที่ที่หลากหลายกว่านี้ที่ไม่ใช่แค่หน้าข่าวหรือเล่มสารคดี คุณโตสมองว่าปัญหาคือเรื่องอะไร

ผมว่าบ้านเรามีอินฟูลเอนเซอร์หรือคนกำหนดเทรนด์ที่เขาไม่ได้เล่นงานแนวนี้ซึ่งก็จบเลย อินฟูลเอนเซอร์ในวงการพวกเขาอาจจะรู้สึกว่าความสนุกหรือสุนทรียมันเป็นเรื่องที่สำคัญของงานภาพถ่าย แต่สำหรับผม ผมรู้สึกว่าผมไม่ได้อยากเล่าเรื่องส่วนตัว ผมอยากเล่าเรื่องความทุกข์ของคนอื่น ความคิดมันก็คนละแบบเลย ถ้าผมจะทำตรงนี้ได้คือผมต้องอยู่ตรงนั้นเอง คือผมต้องเป็นอินฟูลเอนเซอร์เอง แล้วมีคนที่เชื่อมั่นในตัวผมมากพอ ถ้าอยากเปลี่ยนอะไรเราต้องสร้างเอง จนผมคิดว่าต้องทำ Realframe ขึ้นมา คิดว่าวันนึงมันต้องมีคนเห็นเราแต่ว่ามันใช้เวลามากๆ มันไม่มีทางลัดไง ถ้ามันมีอินฟูลเอนเซอร์มาเยี่ยมเยือนก็อาจจะทำให้เกิดทางลัดได้ แต่มันแค่ไม่มี ถามว่ามันอยากมีไหม มีก็ได้แต่ถ้าไปเครียดกับมันก็ประสาทแดก สุดท้ายเราก็อยู่ในเส้นทางของเรา ที่พิสูจน์มาอย่างนึงคือมันอาจจะช้าหน่อยแต่ว่ามันก็เติบโตไปเรื่อยๆ 

ดีนะที่ D1839 มาคุยเรื่องนี้ผมก็รู้สึกว่าไม่รู้จะไปคุยเรื่องนี้ที่ไหน อย่างที่บอกว่าถ้าพูดไปก็เหมือนโปรโมตตัวเอง มันมีนัยยะของการที่เราไปวิพากษ์คนอื่น บางทีผมก็ดีใจนะที่งานมันมีพร้อมกับงานของเจมส์ แนชท์เวย์ มันก็ทำให้บางคนเขาตัดสินใจง่ายขึ้นเวลามาดู เราก็ได้ผลพลอยได้ มาดูเจมส์ก็แวะดูงานเรา 

สำหรับผมมันฟินแล้วที่ผมเจอคนที่ผมไม่รู้จักเลย แล้วเขามาคุยกับผมว่าชอบงานพี่มาก ภาพทำงานกับเขามาก น้ำตาไหล เสียงสั่นเครื่อ นี่แหละเราได้ทำงานที่เราตั้งใจ 

ภาพถ่ายประเด็นการเมืองหรือสิทธิมนุษยชนมักจะถูกมองว่าจะสร้างความแบ่งแยกทางความคิด หลายครั้งจะต้องมีวาทกรรม ‘เป็นกลาง’ เพื่อเป็นเหตุผลในการปฏิเสธชิ้นงานนั้นๆ ไป แต่ผมจำได้ว่า Realframe เคยบอกว่าภาพถ่ายไม่มีความเป็นกลาง 

ใช่ มันก็เป็นภาพที่เราเลือกมาอยู่แล้วว่าจะถ่ายทอดแบบนี้ จริงๆ ผมก็เคารพเจมส์ แนชท์เวย์เป็นไอดอลของผมเหมือนกันนะตอนเด็กๆ เพียงแต่ผมเดาว่าเจมส์ เขาก็คงอยากโชว์ภาพเมืองไทยอยู่แล้ว เขามาแสดงที่นี่มันก็เป็นการให้เกียรติสถานที่ด้วยนะ แต่พอไม่มีก็ไม่ได้แปลกใจเท่าไหร่ ซึ่งต่อให้เราถอยประเด็นออกมาจากความรุนแรงหรือการเมืองมากๆ ไม่ได้มีคำว่าการเมืองหรือสัญลักษณ์ของพรรคไหนเลยตอนนี้งานผมก็ยังถูกตัดสินว่าเป็นงานที่เครียดอยู่

ผมถ่ายทำเรื่องพวกนี้เพราะผมรู้สึกว่าผมเป็นส่วนหนึ่งของความเจ็บปวดบางอย่าง ซึ่งผมไม่รู้ว่าบางทีแวดวงศิลปะเขาไม่ได้คิดเหมือนผม คือเขาก็อยากครีเอทีฟอะไรก็แล้วแต่เราก็ไม่ได้ไปก้าวล่วง งานผมอาจจะไม่ได้ซับซ้อนมากก็ได้ ผมอยากให้คนรู้สึก อยากให้มันมีเรื่องพวกนี้อยู่ในสังคมในฐานะที่เราเป็นเพื่อนร่วมชะตากรรม ผมไม่รู้ว่าพวกเขามองงานว่ามันง่ายรึเปล่านะ แต่ผมคิดว่ามันมีความยากง่ายของแต่ละงานในแต่ละสาขา ผมไม่ได้มองเรื่องวิชวลหรืองานภาพ ผมรู้สึกว่าผมมองหาประเด็นก่อน

จริงๆ ก็คิดว่าสิ่งที่ช่างภาพข่าวอย่างเจมส์ แนชท์เวย์เองก็ดีหรือคุณโตสก็มีจุดร่วมเดียวกันคือการเอาตัวไปอยู่ในพื้นที่แหล่งข้อมูลที่จะถ่ายภาพออกมา เป็นเรื่องที่ช่างภาพต้องเอาตัวเข้าไปอยู่ในพื้นที่เหมือนกัน 

ผมก็เห็นเขารีวิวเจมส์ แนชท์เวย์กัน จะมีใครพูดถึงงานผมในมุมแบบนี้บ้าง ลงมาชั้นล่างบ้างไหม คือคุณสนใจเหตุการณ์นอกประเทศมากกว่าในประเทศ คนตายมายี่สิบปีแล้ว ระเบิดกันมาเท่าไหร่แต่ไม่มีใครพูดถึง

พิสูจน์อักษร: ชลดา สวนประเสริฐ