brand logo

PHOTO | LIFE | INSPIRATION

Apr 2025

A Season In Hell : When Robert met Arthur
เมื่อเกย์หัวขบถของวงการภาพถ่ายและกวีมาพบกัน
เขียน : กิตติพล สรัคคานนท์
29 Jun 2021

“Love has to be reinvented, we know that.”

Arthur Rimbaud, A Season in Hell 

เมื่อเรานึกถึงช่างภาพเกย์ไอคอน คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่กล่าวถึงโรเบิร์ท แมปเปิลธอร์ป (Robert Mapplethorpe) ผู้ใช้นัยยะซาดิสม์ – มาโซคิสม์เพื่อเล่าถึงสุนทรียะของวัฒนธรรมย่อยของเกย์ในยุค 70s และหากพูดถึงในเชิงกวี คงต้องนึกถึงอาตูร์ แร็งโบด์ (Arthur Rimbaud) กวีชาวฝรั่งเศสผู้เขียนบทกวีชิ้นเอก A Season In Hell จากการคบหากับกวีในตำนานที่แก่คราวพ่อ ทั้งแมปเปิลธอร์ปกับแร็งโบด์ต่างเป็นศิลปินที่พูดถึงเพศสภาพของตัวเองอย่างกล้าหาญ งานของพวกเขาพูดถึงความสัมพันธ์ที่จัดจ้าน และมีชีวิตแสนสั้นเช่นเดียวกัน 

ด้วยส่วนที่คล้ายกันนี้ ทั้งสองจึงได้มาพบกันแม้แร็งโบด์จะเสียชีวิตไปตอนปีค.ศ. 1891 ก่อนที่แมปเปิลธอร์ปจะเกิดด้วยซ้ำ เนื่องจากกวี A Season In Hell ที่แร็งโบด์เขียนถูกแปลจากภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาอังกฤษตอนปีค.ศ. 1986 ในช่วงปีที่แมปเปิลธอร์ปโลดแล่นในวงการภาพถ่าย และมันเป็นกวีเล่มเดียวที่แมปเปิลธอร์ปตัดสินใจถ่ายภาพประกอบ 

บทความนี้จึงเชิญชวนผู้อ่านสำรวจ ว่าโรเบิร์ท แมปเปิลธอร์ปได้พบกับอาตูร์ แร็งโบด์ได้อย่างไร และอาตูร์ แร็งโบด์พบเจอช่วงชีวิต ‘นรก’ ที่กลายเป็นบทกวีสะพานเชื่อมทั้งสองได้อย่างไร 

โรเบิร์ทพบอาตูร์

ในช่วงระหว่างคริสต์ทศวรรษที่ 1980 – 1990 นั้น นับว่าเป็นห้วงเวลาที่โลกสูญเสียศิลปิน นักเขียน และผู้ทำงานสร้างสรรค์จำนวนหนึ่งให้กับโรค AIDS เกือบจะกล่าวได้ว่ามากที่สุด หนึ่งในนั้นได้แก่ นักร้องชื่อดัง เฟรดดี้ เมอร์คิวรี (Freddie Mercury) นักปรัชญาระดับโลก มิแช็ล ฟูโกต์ (Michel Foucault) นักเขียนนวนิยายไซ-ไฟ ไอแซ็ค อาซิมอฟ (Isaac Asimov) ศิลปินดาวดวงใหม่ เฟลิกซ์ กอนซาเลซ-ตอร์เรส (Félix González-Torres) ซึ่งก็รวมถึงโรเบิร์ท  แมปเปิลธอร์ป (Robert Mapplethorpe) ช่างภาพชาวอเมริกันผู้กำลังโด่งดังจากผลงานภาพถ่ายขาวดำ ตั้งแต่ภาพบุคคล – อัตบุคคลจนถึงหุ่นนิ่งต่างๆ ที่ล้วนแล้วแต่มีเสน่ห์และพลังดึงดูดสายตาอย่างน่าแปลกประหลาดใจจากเทคนิควิธีการทำงาน ซึ่งนักวิจารณ์บางคนยกย่องให้เป็นภาพถ่ายเชิงประติมากรรมสมัยใหม่ที่ผสมผสานองค์ประกอบความงามแบบยุคคลาสสิกเข้ากับสุนทรียะจัดจ้าน ยั่วล้อ ท้าทายศีลธรรมแบบศิลปะร่วมสมัย

The Perfect Moment (1989) นิทรรศการรวมผลงานในชีวิตการทำงานของแมปเปิลธอร์ปที่จัดขึ้นก่อนเขาจะเสียชีวิตเพียงเดือนเดียว ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์ภาพถ่าย เมื่อผลงานชุดหนึ่งของเขาได้ปลดเปลือยให้เห็นวัฒนธรรมย่อยของกลุ่มเกย์ในชุดเสื้อหนัง ถือโซ่ แส้ กุญแจมือ และแม้แต่ฉากการสังวาสอย่างเปิดเผย จนถึงภาพเปลือยของเด็กที่ถูกวิจารณ์ว่าเข้าข่าย child pornography ก่อเกิดเป็นประเด็นถกเถียงทางสังคมอย่างกว้างขวาง กลายเป็นคดีความฟ้องร้อง จนถูกยกเลิกการจัดงานไปในที่สุด

โรเบิร์ท  แมปเปิลธอร์ป เป็นชาวนิวยอร์กโดยกำเนิด เกิดและเติบโตขึ้นในครอบครัวคาธอลิกที่เคร่งครัด เป็นหนึ่งในบรรดาพี่น้อง 5 คนซึ่งฉายแววแปลกเด่นออกมาตั้งแต่ยังเด็ก ความสนใจในศิลปะทำให้เขาสมัครศึกษาที่สถาบันศิลปะเก่าแก่อย่าง Pratt Institute ภาควิชาจิตรกรรม เขาเคยเป็นอดีตคนรักของแพทที สมิธ (Patti Smith) กวีและนักร้องหญิงชาวอเมริกัน ผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยทำงานประจำอยู่ร้านหนังสือ เพื่อช่วยเหลือดูแลให้แมปเปิลธอร์ปได้ทำงานตามความฝัน และถึงแม้เลิกร้างห่างไกลกันไปแล้ว ทั้งคู่ก็ยังคงเป็นมิตรแท้ที่ดีต่อกันจวบจนฝ่ายหนึ่งสิ้นชีวิตไป

แมปเปิลธอร์ปค้นพบมนต์เสน่ห์ของภาพถ่ายในช่วงปลายของคริสต์ทศวรรษที่ 1960 เขาเริ่มต้นจากการใช้กล้องโพลารอยด์ (Polaroid) ก่อนจะขยับไปสู่ฮาสเซลบลัด (Hasselblad) กล้องมีเดียมฟอร์แมทที่ได้มาจากแซม แว็กสตาฟฟ์ (Sam Wagstaff) ภัณฑารักษ์ศิลปะ ซึ่งกาลต่อมาได้กลายเป็นทั้งเพื่อน คนรัก และผู้นำพาแมปเปิลธอร์ปเข้าไปยังอาณาจักรแห่งศิลปินและบุคคลสำคัญในแวดวงต่างๆ 

หากจะมีใครสักคนที่ให้อิทธิพลแมปเปิลธอร์ป ทั้งทางตรงทางอ้อม บุคคลนั้นน่าจะเป็นจอร์จ ดูโร (George Dureau) ศิลปินชาวอเมริกันที่ทำงานจิตรกรรมและภาพถ่ายขาวดำ ผลงานที่สร้างความประทับใจให้แมปเปิลธอร์ปก็คือภาพชุดขอทาน คนดำ คนแคระ และคนทุพพลภาพ ซึ่งดูโรสามารถถ่ายทอดแววตาและความมีชีวิตชีวาได้อย่างยอดเยี่ยม เราจะยังสามารถมองเห็นเค้ารอยแห่งอิทธิพลนั้นในงานภาพบุคคลของแมปเปิลธอร์ป โดยเฉพาะการจัดท่วงท่าและลีลาของแบบให้แลดูราวกับภาพประติมากรรมมีชีวิต 

ความแปลกใหม่และแตกต่างของแมปเปิลธอร์ปทำให้โลกวิชาการช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ชื่อของแมปเปิลธอร์ปถูกเอ่ยอ้างอย่างมีนัยสำคัญในหนังสือวิชาการภาพถ่ายตำนานหลายเล่ม ทั้ง La Chambre claire: Note sur la photographie (1980) หรือ Camera Lucida ของโรล็อง บาร์ตส์ (Roland Barthes) ในฐานะผลงานที่ลากเส้นแบ่งระหว่างภาพโป๊เปลือย (pornographic) กับภาพอีโรติก (erotic) โดยเฉพาะภาพอัตบุคคลของเขาเอง 

ซึ่ง Camera Lucida ได้ยกผลงานของแมปเปิลธอร์ปเป็นตัวอย่างอันดียอดของ ‘บาดแผล’ หรือ ‘ผลกระทบ’ ต่อจิตใจของผู้มอง ที่โรล็อง บาร์ตส์ นิยามด้วยคำว่า punctum อันเป็นรายละเอียดที่เกิดแก่ตัวบุคคลที่ได้แลเห็นภาพ ซึ่งมักไม่เกิดขึ้นในกรณีของภาพโป๊เปลือยที่อย่างมากที่สุดแล้วทำได้เต็มที่คือ ‘น่าสนใจ’ หรือที่บาร์ตส์เรียกว่า studium บาร์ตส์เห็นว่า คุณลักษณะนี้มีความเป็นภาษา วัฒนธรรม และการเมืองของความหมายมากกว่าอารมณ์ หรือประสบการณ์เฉพาะส่วนตัว ด้วยเหตุผลนี้เอง ผลงานของแมปเปิลธอร์ปในสายตาของบาร์ตส์จึงไม่มีความอนาจารแต่อย่างใด การขยับเคลื่อนกรอบของภาพให้พ้นจากการเผยให้เห็นเครื่องเพศตรงๆ เช่นที่ปรากฏในภาพโป๊เปลือยโดยทั่วไปนั้น สร้างผลกระทบต่อสายตาและอารมณ์ ภาพของแมปเปิลธอร์ปเป็นภาพที่ผู้มองต้องต่อเติมด้วยความรู้สึก ความทรงจำ หรือสิ่งที่อยู่นอกกรอบของภาพ

Robert Mapplethorpe, Self Portrait (1975)

ในปีค.ศ. 1986 ในช่วงที่รุ่งโรจน์ของชีวิตเขา ก่อนหน้าที่แมปเปิลธอร์ปจะทราบว่าเขาได้รับเชื้อ HIV เพียงไม่นาน เขาได้รับว่าจ้างให้ทำงานถ่ายภาพขาวดำ 8 ภาพสำหรับประกอบหนังสือบทกวีร้อยแก้วชิ้นสำคัญจากศตวรรษที่ 19 Une Saison en Enfer หรือ A Season in Hell ของอาตูร์ แร็งโบด์ (Arthur Rimbaud) ที่ตอนนั้นเพิ่งได้รับการแปลออกมาใหม่โดยพอล ชมิดท์  (Paul Schmidt) โดย A Season in Hell เป็นกวีที่พูดเกี่ยวกับฤดูกาลของชีวิตแร็งโบด์ที่อยู่ในความรักอันเจ็บปวดราวอยู่ในไฟนรก 

เหตุผลของการรับงานชิ้นนี้เป็นไปได้ว่า แร็งโบด์คือหนึ่งในอิทธิพลสำคัญที่มีต่อตัวของแพทที สมิธที่ ณ ขณะนั้นยังคงใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับแมปเปิลธอร์ป

ดังที่แพทริเชีย มาริสซู (Patricia Marissoe) ผู้เขียน Mapplethorpe (1996) หนังสือชีวประวัติของแมปเปิลธอร์ป ได้เล่าไว้ว่า แร็งโบด์คือรักแรกพบของแพทที ในทันทีที่เธอได้เห็นใบหน้าของเขาบนปกหนังสือ Illuminations และไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด หากเธอจะเห็นแมปเปิลธอร์ปเป็นภาพตัวแทนของแร็งโบด์ในโลกความเป็นจริง หรืออย่างน้อยเธอก็มีส่วนปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของแมปเปิลธอร์ปในวัยหนุ่มนั้นให้ทรงเสน่ห์แบบเทพบุตรมากขึ้น

ภาพขาวดำที่ใช้เทคนิคการพิมพ์ภาพแบบโฟโตกราวัวร์ (Photogravure) 8 ภาพ วางคั่นระหว่างบทและหน้าเปิดเป็นการนำเอาเนื้อหาในแต่ละบทมาตีความ หนึ่งในภาพชุดนี้ที่โดดเด่นออกมาก็คือภาพอัตบุคคลของแมปเปิลธอร์ปเองในรูปลักษณ์ของ ‘ปิศาจ’ หรือ ‘เทวทูต’ ที่หันมาสบตาผู้ชม

ด้วยที่ว่าทั้งสองคนนั้นถือเป็นสองศิลปิน-กวีแหวกขนบ หรือเป็นเด็กแสบ (enfant terribles) ในแวดวงของตนด้วยกันทั้งคู่ การมาพบกันระหว่างแมปเปิลธอร์ปกับแร็งโบด์ถือเป็นเรื่องน่าตื่นตะลึงใจ (อย่างน้อยก็สำหรับตัวผู้เขียนเอง) 

 

อาตูร์พบ ‘นรก’

อาตูร์ แร็งโบด์ เกิดที่ชาร์ลวีย์ (Charleville) เมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของฝรั่งเศสที่ติดกับพรมแดนของเบลเยียม ความสามารถทางด้านการเขียนบทกวีเริ่มเปล่งประกายให้เห็นตั้งแต่เขามีอายุได้ไม่ถึง 10 ขวบ จนเมื่ออายุได้ 14 ปี บทกวีภาษาละตินของแร็งโบด์ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวด

ครอบครัวของแร็งโบด์ไม่ได้ร่ำรวยเหมือนบรรดาพ่อค้ากระฎุมพีทั่วไป แต่อย่างน้อยมารดาของเขาก็สนับสนุนให้เรียนรู้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แร็งโบด์จึงได้อ่านผลงานที่กว้างขวางครอบคลุมตั้งแต่กวีนิพนธ์ ปรัชญากรีก-โรมันจนถึงตำราประวัติศาสตร์เล่มหนา 

อย่างไรก็ตาม แร็งโบด์ไม่สามารถซื้อหาหนังสือทุกเล่มได้ตามใจ เขาจึงอาศัยยืนอ่านตามร้านหนังสือ ซึ่งหนึ่งในเล่มที่เขาโปรดปรานคือวารสารกวีนิพนธ์ Le Parnasse contemporain ซึ่งเป็นวารสารกวีหัวก้าวหน้าที่รวบรวมผลงานของกวีผู้มีชื่อเสียงจากศตวรรษที่ 19 อาทิเช่น ชาร์ลส์ โบดแลร์ (Charles Baudelaire) สเตฟาน มัลลาร์เม (Stéphane Mallarmé) ปอล แวร์แล็ง (Paul Verlaine) ณ เวลานั้นกวีเหล่านี้ต่างนับเป็นกลุ่มนักเขียนหัวก้าวหน้าแห่งยุคสมัย และกลุ่มกวีที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารฉบับนี้ก็มักถูกเรียกอย่างลำลองว่า กลุ่มกวีปาร์นาส (Parnasse) หรือกวีปาร์นาซุส (Parnassus) อันมาจากชื่อหุบเขาที่ muse อยู่อาศัยในปกรณัมกรีก

แน่นอนว่า ผลงานของแร็งโบด์ไม่เคยถูกตีพิมพ์ในวารสารกวี Le Parnasse contemporain แต่เขาถือว่าได้รับอิทธิพลจากงานเขียนของกลุ่มกวีปาร์นาสอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปอล แวร์แล็ง ผู้เป็นทั้งอาจารย์ มิตรสหาย และชายคนรักของแร็งโบด์ ซึ่งแวร์แล็งเรียกกวีหนุ่มแร็งโบด์ว่าเป็น ‘เทวดาผู้ถูกขับ’ ด้วยทรงผมและดวงหน้าอันจิ้มลิ้มพริ้มเพราของเขา เขาดูเหมือนเทพบุตรมากกว่าจะเป็นปิศาจ แวร์แล็งรักและหลงใหลทั้งในตัวตนและความสามารถของแร็งโบด์ ซึ่งชัดเจนว่ากวีนิพนธ์ของเขาสามารถเทียบชั้นกับกวีรุ่นใหญ่ในกลุ่มปาร์นาสได้อย่างไม่ขัดเขิน

Étienne Carjat, Arthur Rimbaud (1871)

อย่างไรก็ตามเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างแวร์แล็งกับแร็งโบด์ดำเนินไปได้ราวปีกว่าๆ ด้วยการทำงาน การเดินทาง และการใช้ชีวิตอย่างสุดเหวี่ยงทั้งในปารีสและลอนดอน ความสัมพันธ์ก็มาถึงจุดที่ทั้งสองเริ่มมีปากเสียงกันไม่เว้นแต่ละวัน แร็งโบด์กลายเป็นเทวทูตจากขุมนรกสำหรับแวร์แล็งในหลายครั้งหลายครา สภาวะที่ประเดี๋ยวซึมเศร้าประเดี๋ยวกราดเกรี้ยวของแวร์แล็งทำให้การอยู่ร่วมกันของสองกวีเป็นไปได้ยาก กระทั่งครั้งหนึ่ง แวร์แล็งซึ่งมักจะขู่ฆ่าตัวตาย ได้ใช้ปืนยิงใส่แร็งโบด์ จนนำไปสู่การแจ้งความนำจับ แวร์แล็งต้องโทษทำงานหนักในเรือนจำ 2 ปี และกลายเป็นจุดยุติความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสอง 

ความรักกับแวร์แล็งคือต้นเรื่องของความรวดร้าวในกวี A Season in Hell ของแร็งโบด์ เขาเขียนบทกวี  A Season in Hell  ตลอดความสัมพันธ์ลุ่มๆ ดอนๆ นั้น และเมื่อความสัมพันธ์จบลง แร็งโบด์ได้นำเอาต้นฉบับ A Season in Hell มาเขียนต่อจนเสร็จสมบูรณ์ ก่อนจะนำไปตีพิมพ์ด้วยเงินตัวเอง มันเป็นบทกวีเดียวที่แร็งโบด์ตีพิมพ์ด้วยตนเองตลอดชีวิตของเขา

ทางหนึ่ง อาจมองได้ว่า ชื่อเสียงที่เสียไปจากความสัมพันธ์ ซึ่งถูกสาธารณชนเห็นว่า ผิดศีลธรรม (immoral) ระหว่างเขากับแวร์แล็งนั้น ทำให้ผลงานของแร็งโบด์ถูกนักวิจารณ์โขกสับไม่มีชิ้นดี แต่ในอีกทาง อาจมองได้เช่นกันว่า การก้าวออกมาจากอิทธิพลแบบกวีปาร์นาสที่โหยหาความอลังการเก่าแก่แบบคลาสสิกสมัย เพื่อไปหาสิ่งใหม่ สิ่งที่ “ทันสมัยโดยสมบูรณ์” เช่นที่ A Season in Hell พยายามจะนำเสนอนั้น ก็เป็นสิ่งที่ล้ำยุคเกินไป หรือโดยตัวมันเองแล้ว ถือเป็นการวิพากษ์และโจมตีความล้าหลังคร่ำครึของกวีกลุ่มปาร์นาสที่ติดอยู่กับความอลังการของสัมผัสและฉันทลักษณ์(verse) ด้วยการที่แร็งโบด์ประพันธ์ผลงานชิ้นนี้ด้วยรูปแบบกวีร้อยแก้วที่ไม่มีสัมผัสฉันทลักษณ์(prose) 

บทตอนหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการต่อต้านค่านิยมหลักของความรักต่างเพศ (ซึ่ง ณ ปัจจุบันอาจถูกมองว่าเหยียดเพศได้ง่ายๆ หากอ่านแบบข้ามบริบท) และเป็นที่มาของวาทะอันโด่งดัง “ความรักจักต้องถูกสร้างขึ้นมาใหม่” 

‘ข้าไม่อาจรักสตรี เราต่างก็รู้ว่า ความรักจักต้องถูกสร้างขึ้นมาใหม่ สิ่งเดียวที่สตรีสามารถจินตนาการได้คือความมั่นคงปลอดภัย เมื่อพวกเขาได้รับมา ความรัก ความงาม และทุกสิ่งทั้งหลายก็ถูกโยนออกไปนอกหน้าต่าง สิ่งที่คงเหลือไว้คงมีแต่ความชิงชังเหยียดหยาม นี่คือชีวิตสมรสในทุกวันนี้ บางครั้งข้าแลเห็นสตรีผู้ควรมีความสุขกับใครก็ตามที่ข้าคิดว่าควรจะเป็นมิตรสหายได้ แต่เธอรั้นกลับเต็มไปด้วยร่องรอยเสื่อมทรุดของอารมณ์ไม่ต่างจากซากขอนไม้เก่าๆ” 

‘นรก’ จากวันนั้นสู่วันนี้

A Season in Hell ถือว่าเป็นงานที่ขบถทั้งตัวรูปแบบและเนื้อหา เช่นที่อัลแบรต์ กามูส์ (Albert Camus) นักเขียนรางวัลโนเบล เคยได้เสนอไว้ว่า แม้ A Season in Hell จะไม่ได้รับการยอมรับในห้วงเวลาของมัน แต่มันก็เป็นเหมือนเค้าลางของมรสุมแห่งความเปลี่ยนแปลงที่จะก่อเกิดขึ้นในต้นศตวรรษที่ 20 โดยผู้รับช่วงต่อก็คือกลุ่มนักเขียนและกวีเซอร์เรียลลิสม์ (Surrealism) ที่นับแร็งโบด์เป็นหนึ่งในบรรพบุรุษของพวกเขา

Arthur Rimbaud, A Season in Hell (1986)

นี่เป็นเหตุผลให้ หนังสือ A Season in Hell ฉบับที่จัดทำโดยมีภาพประกอบของแมปเปิลธอร์ปในปี 1986 จึงถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์เล็กๆ ที่มีความสำคัญ ด้วยเพราะมันเป็นการมารวมตัวกันของคนสองคนที่พยายามสร้างสรรค์ศิลปะ และ ‘ความรัก’ ในรูปแบบใหม่ขึ้นมา ผลงานซึ่งยุคสมัยยังคงเห็นเป็นเรื่องท้าทาย หมิ่นเหม่ ศีลธรรม หรือกระทั่งเป็นความจริงที่ไม่ควรพูดออกมาดังๆ

 

อ้างอิง

 

-Banham, G. (2002). Mapplethorpe, Duchamp and the Ends of Photography. Angelaki, 7(1), 119–128. doi:10.1080/09697250220142083

-Chryslee, G. J. (1995). When the Scene Becomes the Crime: Censorship of Space in Cincinnati’s Exhibition of Robert Mapplethorpe’s Photographs. Free Speech Yearbook, 33(1), 116–127. doi:10.1080/08997225.1995.10556186 

-Meyer, R. (2001). Mapplethorpe’s Living Room: Photography and the Furnishing of Desire. Art History, 24(2), 292–311. doi:10.1111/1467-8365.00265

-Rimbaud, Arthur; Schmidt, Paul; Mapplethorpe, Robert (1997). A Season in Hell. Boston: Little, Brown.

 

พิสูจน์อักษร: ชลดา สวนประเสริฐ