brand logo

PHOTO | LIFE | INSPIRATION

Apr 2025

หมีควาย - ธนิน นิติวดีลักขณา
Tattoo Colour Photographer
เรื่อง และภาพ : ธันวา ลุจินตานนท์
30 Nov 2022

ช่วงเวลากว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาเราได้เห็นกระแสการกลับมาของคอนเสิร์ตทั่วสารทิศทั้งศิลปินไทยก็ดี ศิลปินต่างชาติอีกมากมายก็ดีที่ต่างมีการแสดงของตัวเองที่บ้านเราแต่หากให้นึกถึงหนึ่งในวงดนตรีไทยที่เรียกได้ว่ามีการคัมแบ็คอย่างยิ่งใหญ่คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Tattoo Colour  ของสี่หนุ่ม ดิม  (หรินทร์ สุธรรมจรัส , นักร้องนำ), รัฐ (รัฐ พิฆาตไพรี , กีตาร์), ตง (เอกชัย โชติรุ่งโรจน์ , กลอง) , จั๊มป์ (ธนบดี ธีรพงศ์ภักดี , เบส) คือวงนั้น ไม่ใช่เพียงแค่งานดนตรีแต่รวมถึงช่อง Youtube อย่าง TCTV (Tattoo Colour TV) ของพวกเขาก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามรวมไปถึงงานภาพถ่ายของวงที่ดูมีชีวิตชีวา มีสไตล์ หนำซ้ำยังโดดเด่นขึ้นมาอย่างทะลุปรอท

หมีควาย หรือบิ๊ก ธนิน – คือช่างภาพที่อยู่เบื้องหลังงานภาพของวง Tattoo Colour วงนี้ผ่านสายตาของการเป็นช่างภาพคอนเสิร์ตที่อยู่กับวงมากว่า 7 ปีจนตัวเขาได้มีโอกาสฝากฝีมือให้กับ ‘ภาพ’ ของวงมากขึ้นทั้งโปสเตอร์คอนเสิร์ต ‘Tattoo Colour กาลครั้ง 4 Happy Birthday Concert’ ปกซิงเกิ้ล ‘อย่าอยู่เลย’ และล่าสุดกับปกอัลบั้ม ‘เรือนแพชุดที่ 6’ ที่แฟนคลับแทททูคัลเลอร์หรือที่เรียกกันว่า ชาวนัว นั้นน่าจะเห็นกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วซึ่งเราได้เห็นความมากฝีมือของช่างภาพประจำวงรายนี้แบบสุดๆ แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้และภาพของการถูกมองว่าเป็นช่างภาพคอนเสิร์ตนั้นมันเป็นยังไงเราเลยชักชวนเขามาพูดคุยกับเราในวันนี้

MHEEKWAI

แรกเริ่มผู้เขียน สงสัยอยู่เหมือนกันว่าช่างภาพประจำวงแทททูคัลเลอร์เขามีอินสตาแกรมชื่อว่า Mheekwai แล้วมันต้องอ่านว่ายังไง หมีควาย ? ใช่เหรอ จนเราไปดูในรายการยูทูปของแทททู คัลเลอร์เราก็เลยได้รู้นี่แหละว่าเขาชื่อว่า หมีควาย แต่ยังอดสงสัยไม่ได้อยู่ดีเราเลยขอถาม และสร้างความกระจ่างขึ้นมาดีกว่า

“จริงๆ ชื่อเล่นชื่อบิ๊กครับ หมีควายจริงๆ เป็นชื่อเล่นเหมือนกันแต่เป็นชื่อที่แม่ตั้งให้แรกๆ เพราะเราตัวใหญ่แล้วผิวคล้ำๆ แต่พ่อบอกว่าโตไปมีแต่คนเรียกควายกันหมด (หัวเราะ) พ่อเลยเปลี่ยนให้ แล้วก็ใช้บิ๊กมาตลอดจนมาเป็นช่างภาพแทททู พี่ดิม ก็บอกว่าให้ใช้หมีควายเลยมัน iconic ดี”

เรานั่งลงยิงคำถามให้หมีควายฟังไม่ทันไรเขาก็ตอบเราได้อย่างยิ้มแย้มและสนุกสนาน จากตอนแรกที่เราคิดว่าหมีน่าจะเป็นสไตล์คนเท่ห์แต่เอาเข้าจริงเป็นคนสบายๆ สนุก มัน เหมือนกับวงแทททู คัลเลอร์ นั่นแหละ

“สมัยเรียนมหาวิทยาลัยผมไม่มีสิ่งที่ตัวเองชอบที่ตัวเองเก่งแล้วตอนนั้นมันปีสามกำลังขึ้นปีสี่ เราก็รู้สึกว่า ‘กูไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นเลยนี่หว่า’ เลยขอเงินที่บ้านซื้อกล้องเพราะเราเรียนอยู่ที่ ม.กรุงเทพฯ ผู้หญิงน่ารักๆ เยอะก็กะจะเอามาเริ่มถ่ายวันละคนพอแล้วชีวิตมีความสุขดี แต่พอซื้อกล้องมาจริงๆ เรารู้สึกว่าการถ่ายพอเทรตเป็นเรื่องยาก ถ่ายรูปอะมันถ่ายได้แต่ถ่ายให้ดีอะเป็นเรื่องยาก” 

“ตอนนั้นก็ต้องการหาที่ฝึกงานด้วยแล้วไม่มีที่ฝึกงาน เราส่งไปสองที่คือบ้านและสวนกับสมอลล์รูม แต่พอร์ทเราไม่ได้เป็นบ้านและสวนเป็นแค่พอเทรตแบบที่เราบอกเลย แต่มีรุ่นพี่ชวนไปถ่ายคอนเสิร์ตสมอลล์รูมเราก็โอเค เราก็เป็นช่างภาพคอนเสิร์ตคนเดียวเลยตอนนั้น ถ่ายทุกอย่างที่เป็นคอนเสิร์ตทุกวง สมัยนั้นช่างภาพคอนเสิร์ตก็มีเรา พี่อูฐ (ชาคริต ลีลาชูพงษ์ ช่างภาพประจำของ เล็ก Greasy Cafe) แล้วก็พี่ฟาง ”

แพสชั่นที่เจอเมื่อจับกล้อง และเบื้องหลังของจังหวะ

“ตอนกลับไปเรียนเราก็ยังตามถ่ายคอนเสิร์ตให้กับสมอลล์รูมอยู่แต่เราก็รู้เราไม่ไหวแล้วเพราะเราต้องเรียนด้วย ตัวเราก็อยากถ่ายอยู่เพราะรู้สึกว่าอย่างเราที่ตอนแรกถ่ายรูปไม่เป็นเลยแล้วเราเริ่มจากงานถ่ายคอนเสิร์ตจนมันกลายเป็นอะไรที่เราชอบ แต่จบงานตีสองทำรูปถึงตีสามตีสี่แล้วตื่นไปเรียนแปดโมงมันไม่ไหว ตอนนั้นเรารู้จักกับวงอยู่แล้วก็เลยทักไปหาพี่ดิมเลย เราก็เลือกวงที่เราน่าจะได้ถ่ายเยอะสุดก็บอกเขาไปว่ายังอยากถ่ายอยู่นะ แต่ขอไปถ่ายแค่วงพี่วงเดียวเลยได้มั้ย”

“พี่ดิมเขาก็บอกให้เข้ามาคุยกันแล้วก็จ้างให้เราเป็นช่างภาพวงเลยแล้วก็อยู่มายาว ตอนแรกก็ไม่ได้คิดหรอกว่าจะทำเป็นงานเลย”

หมี อยู่กับวงมาตั้งแต่สมัยที่เขายังเรียนอยู่ทำให้ปัจจุบันเขาอยู่กับวงมาประมาณ​ 7 ปีแล้ว (ตัวเขาเองก็บอกเราว่าไม่มั่นใจแต่ประมาณนั้น) ทำให้เราสงสัยอยู่เหมือนกันว่าอะไรที่ทำให้เขาสามารถอยู่มาได้นานขนาดนี้ สำหรับเราก็มองว่ามันน่าจะเป็นแพสชั่นของตัวเขาเองด้วย

“อย่างแรกเลยเราชอบคอนเสิร์ต กับอยู่กับวงแล้วเหมือนไม่ได้ทำงานมันเหมือนได้ไปเล่นอะไรบางอย่างแบบวันนี้อยากถ่ายอันนี้วันนี้อยากถ่ายอันนั้นแล้วเขาก็ไม่ได้มีสโคปครอบให้เราว่ายังไง แต่มันก็จะมีสโคปอยู่บ้างนะเช่น พี่ดิม บอกกับเราว่าอยากได้รูปที่มีคนเยอะเห็นคนเยอะ เราก็ทำให้ได้ไม่ใช่เรื่องยาก คือมันแล้วแต่เราเลย”

พอไม่มีกรอบกำหนดจากทางวงและมีการเชื่อใจกันระหว่างช่างภาพกับวงเราก็เลยคาดเดาว่ามันเป็นเหตุผลที่ทำให้ผลงานของ หมี นั้นสามารถเริ่มใส่ตัวตนของเขาเข้าไปได้มากขึ้นและยังมีลูกเล่นอย่างการใช้ฟิลเตอร์ดาว มัว การใส่เอฟเฟกต์ต่างๆ หรือเทคนิคการลากชัตเตอร์ต่างๆ

“ที่เรากล้าเพราะว่าเรารู้โชว์ของวงว่าจังหวะนี้กระโดด จังหวะนี้ชูไมค์ จังหวะนี้คนเปิดแฟลช เราก็เลยรู้ว่าวันนี้เราอยากได้กระโดดแบบลากชัตเตอร์ช่างภาพวงจะได้เปรียบตรงนี้ คือเรารู้ว่าถ้าเราหลุดเพลงนี้เรายังมีอีกเพลงที่จังหวะเหมือนกันรูปมันเลยทดลองได้ขนาดนั้น”

“ผมว่าช่างภาพทุกคนมันอยากเก่งขึ้นทุกวัน แล้วการที่วงไม่มีกรอบครอบทำให้เราได้ทดลอง แล้วเราก็ได้หาว่ารูปอะไรที่ควรเป็นแบบแทททูคัลเลอร์ พอดูรูปแล้วจะได้ไม่เหมือนวงอืนเลยเริ่มใช้ฟิลเตอร์ ชัตเตอร์ลากๆ เราก็หาความที่อยากทดลองแล้วงานก็โตขึ้นประมาณนั้น”

เรายิงถามหมีถึงความเป็น ‘แทททู คัลเลอร์’ ในภาพถ่ายของเขา หมี บอกกับเราว่ามันยากที่จะเล่าออกมาเพราะหลายครั้งมันคือการเลือกจับจังหวะจับโมเมนต์ต่างๆ ของวงและสำหรับเขาแล้วภาพถ่ายมันเป็นเรื่องของช่างภาพมากกว่าที่จะนำเสนอตัวตนออกมา

“แม่งพูดยากเรื่องนี้เพราะจริงๆ เราเป็นคนไม่ชอบงานตัวเองแบบจังหวะที่ถ่ายรู้สึกว่ามันยังไม่ดีที่สุด แต่พอมองย้อนกลับไปก็โหไม่รู้ว่าทำสิ่งนี้ออกมาได้ยังไง มันก็เป็นมุมมองที่ผ่านการตั้งใจทำออกมา”

“แต่ถ้าถามว่าเป็นแทททูคัลเลอร์มั้ยผมว่ายากเรื่องนี้ เพราะรูปภาพมันเป็นของตัวช่างภาพมากกว่าถ้ามองรูปตัวเองก็จะมองเห็นเป็นช่างภาพมากกว่าวง มันอาจจะเป็นช่างภาพมองวง”

หน้าเวทีสู่หลังกล้องในสตูดิโอ

ในจังหวะที่ แทททู​ คัลเลอร์ คัมแบ็คกลับมาผ่าน 3 ซิงเกิ้ล ตั้งแต่ SuperCarCare , ใจเกเร และ อย่าอยู่เลย ตัวหมีเองนั้นก็ได้มีโอกาสที่จะได้เริ่มจับกล้องเข้าสตูดิโอเพื่อถ่ายรูปพอเทรต หรือ Key Visual สี่สมาชิกของโปสเตอร์คอนเสิร์ตใหญ่ ปกซิงเกิ้ล อย่าอยู่เลย และล่าสุดที่เพิ่งออนไป คือ ปกอัลบั้ม เรือนแพชุดที่ 6 การเปลี่ยนแปลงพื้นที่การทำงานมันเป็นยังไง

“เรื่องถ่ายปกจริงๆ เคยขอตั้งแต่อัลบั้ม สัตว์จริง แล้ว ว่าอยากลองถ่ายแต่ตอนนั้นอาจจะเป็นเพราะเรายังไม่ได้เก่งพอ ยังเด็ก แล้วทางสมอลล์รูมเองก็มีช่างภาพอยู่แล้วเราเลยไม่อยากไปก้าวก่ายอะไรมาก”

“แต่พอมาถึงชุดนี้เราก็ไม่ได้หวังอะไรมาก แต่ทางวงก็ประชุมแล้วสรุปว่าจะให้เราถ่ายก็เริ่มเลยจากโปสเตอร์คอนเสิร์ตใหญ่”

ดีใจไหม

“เอาจริงรู้สึกดีใจนะแต่ ไม่เคยทำอะแล้วจะทำยังไงก็เลยต้องรวมทีม เอาผู้ช่วยช่างภาพที่น่าจะเอาเราไปได้รอด แล้วงานนี้ (โปสเตอร์) พี่รุ่ง(รุ่ง เจ้าของค่าย) เป็นคนพรูฟงานอีกเรากลัวพี่รุ่งมาก แต่พอจบงานนั้นได้ก็เหมือนปลดล็อคทุกอย่างเลย เมื่อก่อนเราไม่เข้าใจว่าก่อนจะผลิตงานชิ้นนึงต้องมีผู้ช่วย ต้องทำไลท์ติ้ง ต้องมีอาร์ทได ตอนนี้เราก็รู้ละว่ายังไง เชี่ยทำงานชิ้นนี้ต้องเตรียมตัว ทำการบ้าน นอนให้พอไปลุยก็แค่นั้นไม่มีอะไร”

“งานนี้คือต้องขอบคุณทุกคนเลยเพราะช่วยกันแบกงานชิ้นนี้ พี่รุ่ง พี่บาว พี่จั๊มอาร์ทได พี่ผู้ช่วยช่างภาพอีก คือเรามีหน้าที่แค่แคปเจอร์โมเมนต์นี้เลยเราเป็นแค่ส่วนเล็กๆ เอง”

ถัดมาจากชิ้นโปสเตอร์ก็เป็นงาน อย่าอยู่เลย ด้วยบรรยากาศใหม่และเวลาที่รัดตัวมากขึ้น หมี บอกว่างานนี้เขาได้ขึ้นมามีส่วนร่วมมากขึ้นเพราะทางอาร์ทไดเรกเตอร์ต้องง่วนอยู่กับการแก้อาร์ทเวิร์คโปสเตอร์คอนเสิร์ต

“สำหรับอย่าอยู่เลย พี่เขาบอกให้รู้แค่ว่าเนี่ยเอาผ้าฉากดู เราก็ถามเขาอีกว่าเอาไงดีแต่เขายุ่งมาก เขาก็บอกมาแต่เรฟประมาณนี้แต่ให้เราทำมู้ดดู ก็ทำการบ้านมาแหละแต่ยังไม่พอเพราะไม่รู้ว่าต้องสดหน้างานขนาดนี้ ถ้าถามว่าชอบมั้ยไม่ได้ชอบมากแต่ถ้าถามว่าจบงานได้ไวขนาดนี้ในเวลาเท่านั้นก็โอเคแล้ว”

อันล่าสุดที่เพิ่งออนเลยกับอัลบั้มที่ชาวนัวร์รอคอยอย่าง ‘เรือนแพชุดที่ 6’

“บอกได้เลยว่าทุกอย่างแม่งยากมาก คิดในใจว่าเราบล็อคจะเอามุมนี้แบคกราวนี้ เหลี่ยมนี้ แล้วพอเรือหันมาเราก็แค่กดกดกดกดแล้วก็อยู่ แต่ความเป็นจริงคือเรื่อมันคอนโทรลอะไรไม่ได้เลย วงมีหน้าที่ทำท่านั้นอยู่ตรงนั้นอะอยู่เฉยๆ แล้วก็รอให้บ้านหมุนเข้ามุมเราแล้วกด โห แต่เรือนแพเนี่ยมันสุด มันสุดแล้วในชีวิตความยาก”

“อยากให้ช็อตมันอยู่เลยโดยโพรเซสน้อยสุดแต่ว่ามันหลายอย่าง คือตอนแรกรู้สึกว่าตอนเช้ามันไม่อยู่มากเลยแบ่งไว้แล้วว่าจะมีช็อตเย็นด้วยแต่พอเหี้ยตอนเย็นฝนตก มู้ดทุกอย่างเปลี่ยนแผนทุกอย่างเปลี่ยนหมด แบบทุกคนเก่งมากจริง”

การทำงานถ่ายภาพจากฟีลแคนดิด หรือจับจังหวะคอนเสิร์ตนั้นถ้าเรามองไวๆ ยังไงมันก็มีความแตกต่างกันทั้งความรู้สึกของแบบที่ถูกถ่าย และวิธีการจัดการการถ่ายต่างๆ

“อย่างแรกเลยคือคอนเน็กต์กับแบบได้พูดคุยอะสำคัญ เพราะถ่ายคอนเสิร์ตมันเป็นแคนดิด งานแคนดิดอะเราเชื่อว่าเราเก่งมาก ถ้าได้โจทย์ว่าถ่ายแคนดิดสบายมากงานดีแน่ แต่ถ้าแบบถ่ายรูปให้หน่อยดิเซ็ตให้หน่อย โห ยากละ”

“พอได้ถ่ายงานสตูก็รู้จังหวะรู้ว่าต้องสื่อสารยังไง พอถ่ายในสตูอะก็รู้อีกว่าภาพที่ได้ออกมามันคนละอารมณ์ มันต่างกับแคนดิด หมายถึงว่าความอิมแพคที่แบบมองกล้อง แววตาของเขา การสื่อสารมันคนละเรื่องเลย”

ช่างภาพคอนเสิร์ต

“ผมเป็นคนขี้เบื่อแล้วตอนนี้ทุกคนก็ใช้ฟิลเตอร์หมดเลยไม่รู้ทำไมมาใช้พร้อมกัน”

เขามาตามเรารึเปล่า

“ไม่กล้าๆ (หัวเรา) เพราะเราก็ดูมาจากช่างภาพต่างประเทศเหมือนกันไม่ได้เป็นคนแรก แล้วพอเราไม่ค่อยเห็นใครใช้ฟิลเตอร์ (ในบ้านเรา)​ ก็เลยไปลองฟิลเตอร์บ้าง”

ช่างภาพคอนเสิร์ตในบ้านเรามักจะไม่ค่อยมีใครตามหาว่าเขาเป็นใคร แต่มักจะเห็นผลงานผ่านตัวศิลปินที่ถูกถ่ายเสียมากกว่า เราเลยสอบถามทาง หมี เพิ่มเติมว่าตอนที่ก้าวเข้ามาเขาชอบงานของใครบ้างมั้ย

“ตั้งแต่แรกคือพี่แรพ RQ777 (ปรัชญา จันทร์สนิท instagram : rapterqwerxy) ที่ผมดูงานตั้งแต่เริ่มคือพี่เขาถ้ารุ่นเดียวกันคนนี้น่าจะสุดแล้วแหละ ตอนนี้ถ่าย วี วิโอเลต กับสล็อต แมชชีน เขาคือคนที่ทำทั้งภาพนิ่งและวิดิโอไฮไลท์ เขาเอาอยู่เพราะเป็นคนเอเนอร์จี้เยอะ แบบแค่ยืนคุยด้วยก้รู้แล้วมันแผ่มาถึงเราทั้งแพชชั่น และประสบการณ์”

“สมมติว่าเราเริ่มถ่ายรูปคนทำงานด้วยกันก็จะแนะนำให้ดูกันแชร์กันว่างานใครเป็นยังไงควรดูอะไรดี คนนี้เก่งจัง ตอนนั้นพี่แรปเขาก็ถ่ายให้ No More Tear ก็แบบใครวะเก่งจังตอนนั้นคือแบบ siam2nite พอในนั้นช่างภาพคอนเสิร์ตก็คือรวมคนเก่งท้งนั้นแบบเอาอยู่จริงๆ ถ่ายคนคอนเสิร์ตอีเวนท์ได้หมด เราก็ดูงานจาก siam2nite เพราะเราก็ไม่ค่อยรู้จักช่างภาพต่างประเทศในไทยก็จะดูพี่แรปเพราะเป็นสายเดียวกัน”

“จริงๆ ผมชอบดูงานที่ผมถ่ายไม่ได้ เราด้อยตรงไหนก็ดูเพิ่มตรงนั้น อย่างช่างภาพต่างประเทศที่พิเศษมากๆ สำหรับเราก็ Anthony Pham (instagram : anthonypham) ช่างภาพของ Harry Styles”

ที่ผ่านมาสปอตไลท์ของช่างภาพอีเวนต์หรือคอนเสิร์ตยังเป็นจุดที่ไม่ค่อยมีคนมองเห็น หรืออาจจะใช้คำว่าถูกยอมรับในบ้านเราเท่าไหร่ แต่ในระยะหลังที่มีงานใหม่ๆ ซึ่งมีวิช่วลที่สวยงาม แปลกตา ทำให้คนเริ่มเห็นช่างภาพสายนี้มากขึ้น สำหรับคนที่อยู่ในวงการอยู่แล้วอย่างหมีนั้นเขาก็มีมุมมองที่แตกต่างกันไปจากเราที่อยู่ภายนอกซึ่งเราถามเขาไปถึงจำนวนของช่างภาพสายนี้ที่ยังคงอยู่และมันเปลี่ยนไปอย่างไร

“ช่างภาพสายนี้เยอะอยู่แล้วตั้งแต่ผมถ่าย แล้วก็หายไป ช่างภาพคอนเสิร์ตผมว่ามันอยู่ยากเพราะคู่แข่งเยอะบัดเจ็ตน้อยแล้วก็งานไม่สม่ำเสมอ”

“คนที่เก่งอะอยู่ได้ในทุกสาขาเลยแหละกับเรื่องคอนเนคชั่น แต่ว่าถ้าถามว่าแบบผมคงไม่มีมุมมองในแบบ คงอยู่ได้แหละ แต่ถ้าความเป็นจริงอะ ความเก่งกับคอนเนคชั่นเนี่ยแหละ ไม่ว่าสายไหนก็ตาม แต่เรื่องคอนเนคชั่นสำคัญจริงคือเราไม่ได้คุยกันเพื่อหาผลประโยชน์แต่หมายถึงว่าแค่เรารู้จักกัน ได้แลกเปลี่ยนมันก็ทำให้โลกเรากว้างขึ้นแล้ว”

แล้วอนาคต?

“เด็กรุ่นใหม่เกิดขึ้นทุกวัน ยิ่งเด็กยุคนี้เหมือนมันได้เห็นงานเยอะตั้งแต่เด็ก เราเคยไปถ่ายคอนเสิร์ต นน ธนนท์ (นน – ธนนท์ จำเริญ​) แล้วมีเด็กคนนึงมาฟอลไอจี น้องอายุสิบแปดบอก ‘ผมชอบงานพี่มากครับ’ เขา direct message มาใน instagram ก็เลยเข้าไปดูงานเขา เราก็แบบมึงเก่งกว่ากูอีกมึงไม่ต้องมาชอบงานกูแล้ว (หัวเราะ)”

“อุปกรณ์เดี๋ยวนี้ก็ดีขึ้น โลกมันกว้างขึ้นกว่าเราเยอะ เราตอนนั้นจะดูงานนิตยสารก็ต้องเข้าเว็บที่มีนิตยสาร อาจจะเพราะเราไม่มีคนแนะนำแบบเด็กทุกวันนี้ด้วยที่แบบไปดูคนนี้สิไปดูคนนู้น แต่การแข่งขันมันก็โหดกว่าเราถ้าตอนนั้นเรารู้ก็คงเก่งกว่านี้เยอะ แต่ใครจะไปรู้ไง มันไม่มีทาง คิดว่าหลังจากนี้เด็กก็เก่งกว่านี้อีก”

 

สุดท้ายเราถามหมีถึงความเป็นไปได้แบบสไตล์ What if ถ้าไม่ได้เป็นหมีควายในตอนนี้จะเป็นบิ๊กหรือยังไง

‘ถ้าวันนั้นไม่ได้โทรคุยกับดิม’

“เอางี้ถ้าตอนนั้นไม่เป็นหมีควายสมอลล์รูม คงไปเป็นหมีควายบ้านและสวน เพราะตอนนั้นบ้านและสวนก็โทรมาแล้วแต่เราไปรับสมอลล์รูมก่อน”

“ส่วนถ้าไม่ได้โทรหาพี่ดิมทุกวันนี้อาจจะทำงานออฟฟิศ พนักงานเงินเดือนธรรมดาเพราะว่าเราไม่มีความฝันไม่มีสิ่งที่อยาก อย่างที่บอกว่าเราเป็นแบบเด็กเกเรชอบเล่นเกม แต่พอได้ถ่ายคอนเสิร์ตมันเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีคุณค่าจริงๆ แล้วเราก็ถ่ายคอนเสิร์ตยาวเลย” 

“ด้วยความที่เมื่อก่อนเราเป็นอินโทรเวิร์ตมากไม่อยากรู้จักใคร คืออย่างที่บอกว่าถ่ายงานสี่ห้าปีไม่รู้จักใครเลยเพราะถ่ายงานเสร็จกลับ ไม่กินเหล้าไม่กินเบียร์ถ่ายเสร็จกลับ ทำงานก็อยากพักแล้ว”

“แต่เพิ่งมาเปลี่ยนตอนนี้เพราะเราเก่งขึ้นโตขึ้นเพราะเราได้เจอคนเยอะขึ้น มันเหมือนว่าเราอยากเก่งขึ้นแล้ว โตขึ้นอยากเรียกตัวเองว่าช่างภาพแล้ว พอเจอช่างภาพด้วยกันได้แลกเปลีย่นมุมมองเราเกง่ขึ้นเราดีขึ้นไรงี้”

‘มองเห็นตัวเองทำงานนี้ต่อไปได้อีกนานขนาดไหน’

“เรื่องนี้ก็ถามตัวเองแต่ตอบไม่ได้อะ เรื่องอนาคตมันตอบไม่ได้เพราะมาวันนี้มันก็ไม่มีภาพนี้ไม่มีภาพตัวเองจะเป็นช่างภาพด้วยซ้ำ ภาพตัวเองได้ถ่ายปกอัลบั้มด้วยซ้ำ มาไกล แต่ถ้าถามตัวเองว่าอยากถ่ายรูปต่อไปไหมก็ยังอยากถ่ายรูปต่อไปเรื่อยๆ เท่าที่มันจะทำได้”

พิสูจน์อักษร : ชลดา สวนประเสริฐ