อันที่จริงเรากับปีเตอร์เคยเจอกันที่ คัดมันดู โฟโต้ แกลเลอรี แล้วหนึ่งครั้ง ตอนนั้นเป็นนิทรรศการ White Noise ของ Kathy Anne Lim ตอนนั้นเราได้รู้จักกันครั้งแรก และมีการพูดคุยเรื่องภาพถ่ายในไทยแบบพอสังเขป อย่างไรก็ตามพอเราเห็นว่า ปีเตอร์ กำลังจะมีนิทรรศการที่แกลเลอรีเดียวกันอีกครั้งทำให้เราสนใจเป็นอย่างมากว่าสิ่งที่เขาอยากนำเสนอภายใต้ชื่องานอย่าง Tango in the Big Mango นั้นเป็นอย่างไร นอกจากนั้นเรายังสนใจมุมมองของการเป็นช่างภาพสายเยอรมันกับภาพถ่ายในไทยมันแตกต่างยังไงบ้าง และไปถึงชีวิตการทำงานศิลป์ของเขาด้วย
แนะนำตัวให้รู้จักกันหน่อยครับ
ผมชื่อปีเตอร์ นิตช์ (Peter Nitsch) เป็นครีเอทีฟจากเยอรมันที่ตอนนี้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ จริงๆ แล้วผมทำงานเป็นดีไซเนอร์ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา
หลังจากนั้นผมก็เริ่มทำงานเป็นช่างภาพทั้งโฆษณา พอร์ตเทรต และใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างศิลปะอีกด้วย นอกจากนี้ผมก็เป็นโปรดิวเซอร์ กับทำสื่อที่ชื่อว่า DRAWLIGHTS ที่โฟกัสในเรื่องการเชื่อมต่อภาพถ่ายในเชิง NFT และภาพถ่ายปกติธรรมดาเข้าด้วยกัน
ผมอยากเรียกว่าตัวเองเป็นศิลปินที่ทำงานผ่านการใช้เลนส์ (เขาใช้คำว่า Lens-Based Artist) เพราะงานส่วนใหญ่ของผมเป็นการผสานของการใช้ภาพถ่ายผสมกับแนวคิดทางดีไซน์
สามปีที่แล้วผมย้ายมาที่ไทยกับภรรยาของผมเพราะเขาอยากกลับมาดูแลครอบครัวซึ่งตอนกลับมาการที่ผมเป็นชาวต่างชาติทำให้ต้องถูกกักตัวในโรงแรมซึ่งตอนนั้นแหละผมก็เริ่มถ่ายโปรเจกต์นี้แล้วเล็กน้อย คือจริงๆ Tango in the Big Mango มันเกิดขึ้นก่อนหน้าที่ผมจะย้ายมาแล้ว ช่วงที่ผมไปๆ มาๆ ระหว่างกรุงเทพฯ กับมิวนิกผมก็ได้ถ่ายมันไว้บ้างประปราย
งั้นเข้าเรื่องเลยแล้วกันนะครับกับนิทรรศการ Tango in the Big Mango เกิดขึ้นจากไหน และได้ยังไง
เอาชื่องานก่อนเลยแล้วกัน Tango in the Big Mango คำแรกการเต้นแทงโก้มันคือการเต้นที่ผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมที่หลากหลาย เหมือนกันกับประเทศไทยที่มีคนหลายเชื้อชาติ ศาสนา และความคิด ซึ่งมันมีความยากลำบากซ่อนอยู่เบื้องหลังชีวิตของผู้คนในทุกวัน ภาพถ่ายชุดนี้มันก็เป็นการผสมของภาพถ่ายหลากหลายแขนง เช่น สตรีท คอนเซปชวล ไปจนถึงสารคดี ผมทำมันตั้งแต่ก่อนย้ายมาอยู่ที่ไทยอย่างถาวรโดยเป็นการบันทึกภาพผ่านวิดิโอแชทต่างๆ แล้วผมก็กำกับผู้คนเหล่านั้นผ่านสื่อที่ว่าด้วย
งานชุดนี้คือการเล่าเรื่องของผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ แบบหาเช้ากินค่ำ ซึ่งผมวางคอนเซปย่อยสามอย่าง คือ Growth (การเติบโต), Greed (ความละโมบ) และ Angst (ความทุกข์) ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมเห็นผ่านชีวิตที่นี่
การไล่เรียงจาก การเติบโต จะมีชุด The Golden Boy ที่เป็นคนถูกห่อด้วยฟอยล์สีทอง ผมอยากเล่าถึงความต้องการที่จะเติบโตโดยไม่สิ้นสุดของมนุษย์ และตั้งคำถามถึงโลกเราว่าจะเติบโตไปได้ไกลแค่ไหน ซึ่งทุกวันนี้ผู้คนมากมายเริ่มจะไม่เข้าใจเรื่องราวของการเติบโตอีกต่อไปแล้ว
ความโลภ ชุดภาพของนักธุรกิจคนนึงที่แต่งแต้มตัวเองด้วยขนนกยูง ในทุกที่ที่เขาไปเขาได้ปลูกเมล็ดพันธ์ุแห่งโลกาภิวัตน์ไว้ผ่านความละโมบและตะกละตะกลามแห่งการบริโภควัตถุดิบอันไร้จุดจบของมนุษย์
สุดท้าย ความทุกข์ เราทุกคนมักกังวลต่ออนาคตที่ไม่แน่นอน ต่ออดีตว่าเราทำถูกแล้วหรือเปล่า ความทุกข์เป็นสิ่งที่อยู่ติดกับเราตั้งแต่มนุษย์นั้นถือกำเนิดขึ้น และยังเป็นสัญชาตญาณโดยธรรมชาติของพวกเราอีกด้วย ความยากลำบากของความทุกข์คือมันเกิดจากความกลัว และมันยังยากอีกที่จะอยู่กับปัจจุบัน
อันที่จริงงานชุดนี้ของ ปีเตอร์ ได้ทำออกมาเป็นหนังสือภาพก่อนแล้วเมื่อหลายปีก่อน และเขาตั้งใจมากๆ ที่จะจัดนิทรรศการเมื่อตอนหนังสือถูกตีพิมพ์ออกมา แต่ด้วยพรก. ฉุกเฉิน ทำให้ช่วงนั้นยังไม่ค่อยมีสถานที่ และจังหวะเวลาที่เหมาะสมเท่าไหร่จนกระทั่งได้มาจัดแสดงที่นี่
ตัวนิทรรศการผมให้โครงการจัดแสดงไว้แค่ให้มีการไล่เรียงกันแบบในหนังสือ แต่การหยิบภาพถ่ายมาติดตั้งและการเล่าเรื่องในเชิงลึกจะเป็นทาง หนิง-อัครา นักทำนา ทำหน้าที่นั้นมากกว่า
ภาพถ่ายคุณเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหนในชีวิต
ถ้ามองกลับเมื่อสักสามสิบปีที่แล้วคงบอกได้ว่ามันเติบโตขึ้นเยอะมาก เพราะตอนแรกภาพถ่ายของผมมันเป็นแบบเรื่องการท่องเที่ยว หรือโฆษณามากกว่า หลังจากนั้นภาพถ่ายของผมเลยค่อยพัฒนาขึ้นก็ว่าได้เพราะมันคือการได้ถ่ายงานที่ผมต้องการจะนำเสนอจริงๆ
ประเทศไทยกับเยอรมัน การถ่ายภาพมีความแตกต่างกันบ้างไหม
ถ้าเป็นการถ่ายสตรีทที่ไทยจะง่ายกว่าเพราะถ้าเป็นที่เยอรมัน หากคุณยกกล้องขึ้นมาถ่ายใครสักคนตามถนน คุณจะโดนตะโกนด่าทันทีเพราะที่นู่นเขาให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวมากๆ ซึ่งผมก็เข้าใจในส่วนนั้นนะแต่ถ้าจะให้พูดจากมุมมองของช่างภาพผมคงมองว่ามันทำให้การถ่ายรูปสตรีทจริงๆ มันลำบากมากขึ้น คือมันไม่ได้เป็นไปไม่ได้แต่มันเคร่งขึ้นถ้าเทียบกับที่นี่คือตรงกันข้ามเลยเพราะกล้องมันเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนที่นี่เลย
อันที่จริงที่ผมบอกว่าง่ายอาจจะเพราะผมเป็นชาวต่างชาติที่คนไทยคิดว่าเป็นนักท่องเที่ยวทั่วไปที่ถ่ายรูปเล่นนะ
ในสายตาของคุณมองเห็นสถานการณ์ของวงการภาพถ่ายที่ไทยเป็นยังไงบ้าง
ผมเห็นว่ามันค่อนข้างสวยงามเลยนะ อย่างปีที่แล้วภาพถ่ายสารคดีในประเทศไทยเป็นสายงานที่ค่อนข้างเด่นเลย และสำหรับผมประเทศไทยเป็นประเทศที่ความคิดสร้างสรรค์โดดเด่นมากในงานภาพถ่าย
อีกอย่างที่น่าสนใจคือศิลปินในไทยทำงานข้ามสายกันเยอะ ดีไซเนอร์มาทำงานภาพถ่ายหรือช่างภาพไปลองทำดีไซน์ก็มีซึ่งมันสร้างสื่อผสมที่น่าสนใจมากๆ ซึ่งเอาเข้าจริงทำงานสายนี้ (ศิลปิน) มันอยู่ยากมากๆ เลยนะเพราะอย่างผมก็ต้องแบ่งไปทำงานโฆษณาและต้องไม่ลืมที่จะกลับมาทำงานส่วนตัวด้วย
แล้วหลังจากนี้มีแพลนยังไงบ้าง
ตอนนี้ผมทำงานภาพอยู่สองชุดครับมีอันนึงที่เป็นภาพถ่ายล้วนๆ ส่วนอีกอันคือเป็น AI ล้วนๆ
ชุดแรกผมใช้ชื่อว่า NEOW เป็นงานส่วนตัวมากๆ ของผม มันเกิดจากความเหงาที่ผมพบเจอจากเรื่องสองเรื่องในชีวิตผม คือผมลองทดลองตามหาความสงบผ่านการท่องราตรีหลังจากเลิกงาน และการสูญเสียคุณแม่ของผม
ส่วนอีกชุดคือ SUMO ที่เป็นงานที่ผมให้ AI เป็นคนสร้างออกมาทั้งหมด ผมต้องการนำเสนอเรื่องราวของความแตกต่าง มนุษยชาติ และความไม่แน่นอนของชีวิตผ่านภาพถ่าย การดีไซน์ แล้วก็ศิลปะการตีความของประสาทมนุษย์
___________________________________________________________________________________
เอาเข้าจริงหลังจากนี้เราน่าจะเห็นผลงาน และการขยับเขยื้อนของภาพถ่ายจากชายชาวเยอรมันคนนี้อีกมากมายเพราะเขาเป็นหนึ่งในช่างภาพที่เรียกได้ว่าเป็นเจ้าแห่งโปรเจกต์เลยก็ว่าได้ นอกจากงานนิทรรศการเหล่านี้แล้วเขายังมีช่องทางสำหรับการติดตามงานได้อีกที่เว็บไซต์ของเขา มีทั้งงานโฆษณา พอร์ตเทรต NFTs ไปจนถึงงานวิดีโออีกด้วย
ภาพถ่ายของชาวต่างชาติที่มองกลับมาในประเทศเรานั้นยังคงมีพลัง และน่าติดตามอยู่เสมอซึ่งหลังจากนี้เราก็จะคอยเสาะหาผลงานเหล่านี้ให้คนไทยเราได้ย้อนกลับมาดูภาพถ่ายของประเทศเราที่ไม่ค่อยได้เห็น หรือไม่มีคนไทยคนไหนได้ทดลองทำมาให้ชมกันมากขึ้น