brand logo

PHOTO | LIFE | INSPIRATION

Apr 2025

หมอก — หวั่น-หยี หลิน
IMPERFECTION IS A REQUIREMENT
เรื่อง : อสมาภรณ์ พิริยะโภคานนท์
ภาพ : ธันวา ลุจินตานนท์
21 Sep 2022

คำว่า ‘ริโซกราฟ’ (Risograph) อาจฟังแล้วแปลกหูอยู่สักหน่อยสำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการสิ่งพิมพ์ แต่เชื่อหรือไม่ว่าพวกเราส่วนใหญ่เคยสัมผัสงานพิมพ์ริโซกราฟกันมาแล้วอย่างใกล้ชิด

หากใครยังคิดไม่ออกว่าเคยเจอตอนไหน กระดาษคำตอบที่ต้องใช้ดินสอ 2B ฝนจนเต็มวงกลมคือตัวอย่างงานพิมพ์ริโซกราฟชั้นดี หรืออีกชื่อที่เรามักเรียกติดปากกันว่าการโรเนียวนั่นเอง

จากความสามารถด้านการพิมพ์เร็วโหด 200 แผ่นต่อนาทีในวงการอุตสาหกรรม ปัจจุบันนี้ริโซกราฟก็ได้พัฒนาขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งแขนงในวงการออกแบบและศิลปะภาพพิมพ์ ด้วยเอกลักษณ์การพิมพ์ที่ต้องบรรจงพรินต์ทีละสี และให้ผลลัพธ์เป็นพื้นผิวเกรนแบบพิเศษที่งานดิจิทัลทำไม่ได้

หากใคร (ยังคง) คิดไม่ออกว่าริโซกราฟคืออะไร วันนี้เราขอพาไปพูดคุยกับ ‘หมอก — หวั่น-หยี หลิน’ ผู้ก่อตั้ง Together Design & Risograph Studio หนึ่งในสตูดิโอริโซกราฟไม่กี่แห่งในประเทศไทย เพื่อรู้จักตัวตนของเธอมากขึ้นอีกสักนิด และเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับการพิมพ์สุด niche นี้ให้มากขึ้นอีกสักหน่อย

STEP I: INSERT PAPER

สังเกตจากชื่อคงพอจะรู้ว่าหมอกไม่ใช่ชาวไทยโดยกำเนิด ครอบครัวของเธอย้ายมาจากไต้หวันตามคุณพ่อซึ่งโดนส่งมาคุมโรงงานอัดผงเหล็กและขึ้นรูปอะลูมิเนียมในย่านสมุทรสาคร เพราะฉะนั้น ถึงแม้หมอกจะเป็นชาวชาติ แต่การศึกษาทุกระดับชั้นเธอผ่านการร่ำเรียนในประเทศไทย และในช่วงวัยของการเป็นนักเรียน (แบบไทยๆ) นี่เองที่ทำให้หมอกรู้จักกับศาสตร์การดีไซน์เป็นครั้งแรก

“จำได้ว่าตอนประถมครูเคยให้วาดรูปไก่”

หมอกเล่าย้อนกลับไปเมื่อเราถามถึงแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เธอสนใจงานศิลปะ

“แต่ตอนนั้นถ้าจะวาดไก่ กว่าจะวาดได้ตัวนึงต้องมีเป็น 10 ขั้นตอน เริ่มวาดจากวงกลมก่อน ช่องต่อมาวาดวงกลมบวกตัว ช่องต่อมาวาดวงกลม บวกตัว บวกขา แบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ไก่มาหนึ่งตัว”

การเปิดโลกศิลปะสำหรับเด็กหญิงหมอกดูเหมือนจะเริ่มต้นได้ไม่ดีเท่าไหร่ในตอนแรก แต่โชคยังดีที่เมื่อขึ้นชั้นมัธยมเธอเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทดลองและมองหาความเป็นไปได้ของงานศิลป์มากขึ้น

“เขาจะให้มา 1 คำ สมมติเป็นคำว่ากาแฟ แล้วเราก็ต้องไปคิดต่อเอาเองว่ากาแฟเป็นอะไรได้บ้าง อาจจะมองเป็นเมล็ดกาแฟ หรือมองเห็นคนดื่ม หรือเห็นคนคั่วกาแฟ จากนั้นตลอดทั้งเทอมก็เอาสิ่งที่เรามองเห็นไปพัฒนาต่อเรื่อยๆ แล้วท้ายเทอมถึงจะผลิตงานออกมาเป็น 1 แคนวาส จะเป็นภาพถ่ายหรือเทคนิคอะไรก็ได้เลย เป็นวิชาที่เปิดโลกหมอกมาก หลังจากที่เคยวาดแค่ไก่ (หัวเราะ)”

ศิลปะและการออกแบบจึงกลายเป็นวิชาที่เธอชื่นชอบมาตั้งแต่นั้น หมอกเริ่มออกไปเรียนพิเศษวิชาศิลปะ ขลุกอยู่กับการวาดเส้นเขียนสีจนไม่หลับไม่นอน เมื่อที่บ้านเห็นถึงความตั้งใจ พี่ชายของเธอจึงจุดประกายขึ้นมาว่าหมอกน่าจะเรียนต่อมหาวิทยาลัยด้านดีไซน์ดู

“เราก็โอเค เชื่อพี่ สอบเข้าสาขา Communication Design ที่มหาวิทยาลัยมหิดล โดยที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยนะว่า Communication Design คืออะไร แต่เห็นมีคำว่าดีไซน์ ก็เอาเลย” เธอว่าติดตลก

ว่าแล้วชีวิตเด็กคอมดีฯ ก็เริ่มขึ้น จากที่หมอกเคยจับงานศิลปะแบบงูๆ ปลาๆ ก็พัฒนามาเป็นการเรียนรู้สาขาดีไซน์แบบลึกซึ้งจริงจัง 

แต่แน่นอน ชีวิตการเป็นนักศึกษาไม่ว่าจะภาควิชาไหนก็ย่อมมีหล่มอุปสรรคให้เราท้อแท้หมดไฟอยู่เสมอ หมอกเองก็เช่นกัน ในชั้นปีที่ 2 คือช่วงที่เธอถึงขั้นประกาศกับตัวเองว่าชาตินี้จะไม่มีวันทำอาชีพกราฟิกเป็นอันขาด

“เรารู้สึกว่าตัวเองไม่สร้างสรรค์พอ”

หมอกให้เหตุผลอย่างนั้น เธอมองตัวเองว่าเป็นคนที่เติบโตมาในกรอบ และจะคงจะต้องอยู่ในกรอบต่อไป เพราะฉะนั้นเธอจึงไม่เหมาะกับงานดีไซน์หรืองานกราฟิกที่ต้องใช้พลังความคิดสร้างสรรค์มหาศาล

แต่ต้องขอบคุณอะไรก็ตามที่ทำให้หมอกตัดสินใจฝึกงานกับ Glow Story Storytelling Agency ผู้อยู่เบื้อหลังงาน TedxBangkok ที่เจ้าตัวให้คำนิยามการฝึกงานครั้งนี้ว่าเป็นช่วงเวลาของการพลิกล็อกชีวิตอย่างแท้จริง

“พี่ๆ ในทีมบอกกับหมอกว่าดีไซน์ไม่ใช่ว่าต้องสวยอย่างเดียว แต่มันต้องตอบโจทย์ แก้ปัญหา หรือพัฒนาให้บางอย่างดีขึ้น เราอยู่ในวงการดีไซน์แบบไม่เปิดโปรแกรม Ai ก็ได้ เพราะดีไซน์มันไม่ได้มีแค่ส่วนเดียว เราไปซัพพอร์ตส่วนอื่นได้ เราเป็นสายรีเสิร์ชข้อมูลก็ได้ 

 “หมอกชอบรีเสิร์ชมาก อาจจะเพราะเป็นคนไม่มั่นใจในผลงานตัวเองก็เลยต้องรีเสิร์ชเยอะหน่อย พี่ที่ Glow Story ก็เลยบอกว่านี่แหละคือจุดแข็งของเรา บวกกับเราเป็นคนคุยกับคนเก่ง และมี empathy ในตัวสูง ถ้ารักษาตรงนี้ไว้ได้ก็จะทำให้หมอกต่อยอดงานดีไซน์ได้อีกขั้น พอคิดได้แบบนั้นก็เลยมั่นใจขึ้น กล้าเปิดใจ ทำให้เรายังอยู่ต่อในวงการดีไซน์จนถึงทุกวันนี้” 

STEP II: MAKE A MASTER

พอตัดสินใจว่าจะยังอยู่ในวงการดีไซน์ เมื่อขึ้นปี 4 หมอกจึงเริ่มลงมือทำธีสิสชื่อ จื้อ-หว่อ-เจี้ย-ช่าว (字 我 介 紹) โพรเจกต์ที่ออกแบบสื่อการเรียนการสอนภาษาจีนให้เข้าใจง่ายผ่านการเล่าประวัติและโครงสร้างตัวอักษร 

ซึ่งหัวข้อที่ว่านี้ เธอเล่าว่าบังเอิญได้มาแบบไม่ตั้งใจ 

“ที่จริงอยากทำเกมที่จะสอนเด็กๆ ให้รู้จักเล่นในธรรมชาติ แต่ก็ดันไปรีเสิร์ชเจอก่อนว่าเด็กที่เรียนภาษาจีนมักจะรู้สึกว่ามันยากมาก รวมถึงหมอกที่เคยทุกข์กับการเรียนภาษาจีนเหมือนกัน พอค้นไปค้นมา ก็เจอว่าจริงๆ ตัวอักษรจีนมันมีระบบของมันอยู่ แต่ที่ไทยไม่ได้มีฐานข้อมูลมากพอที่จะเอาไปทำธีสิสได้ หมอกก็เลยทักไปสตูดิโอทำฟอนต์ที่ไต้หวัน ขอเข้าไปปรึกษา”

แล้วการพบกันครั้งแรกของเธอกับเทคนิคการพิมพ์ริโซก็เกิดขึ้นตอนนั้น อย่างไม่ได้ตั้งใจเช่นเดียวกัน

“ระหว่างเดินเที่ยวอยู่ที่นู่นก็ไปเจออีเวนต์นึงใต้ร้านหนังสือ เป็นเวิร์กช็อปริโซกราฟของ O.OO Risograph Studio ราคา 350 บาท ถูกมาก ก็เข้าไปลองเลย ปรากฏว่าชอบมาก อีกอย่างที่ไทยไม่มีอะไรแบบนี้ ในหัวก็คิดแล้วว่ากลับไปจะเปิดสตูดิโอที่ไทยบ้าง”

หมอกอธิบายว่าที่จริงแล้วความสวยงามของริโซกราฟไม่ใช่ประเด็นหลักที่ทำให้เธอตกหลุมรักมัน แต่กลับเป็นกระบวนการพิมพ์ที่อนุญาตให้เธอได้พูดคุยกับคนมากขึ้น คอยอธิบายขั้นตอน คอยสอนให้คนอื่นเข้าใจเทคนิค เปิดโอกาสให้เธอได้แลกเปลี่ยนความคิดกับผู้คนระหว่างพิมพ์ภาพต่างหากที่น่าสนใจ

“วันนั้นเป็นวันที่สนุกมากๆ สนุก เรียบง่าย บันดาลใจ หมอกเลยอยากเอาความรู้สึกนี้กลับมาให้คนอื่นได้เจอบ้าง”

“กลับมาก็เลยเปิด Together เลยใช่ไหม” เราถาม

“ยังไม่เปิด”

“อ้าว!”

ด้วยจังหวะเวลาและเงื่อนไขอีกหลายอย่าง เมื่อจบจากมหาวิทยาลัย หมอกจึงตัดสินใจยื่นใบสมัครเข้าบริษัทออกแบบแห่งหนึ่งในฐานะผู้จัดการโครงการเพื่อหยั่งเชิงชีวิตวัยทำงานก่อน แต่ระหว่างนั้นหมอกก็ไม่ได้ทิ้งริโซกราฟไปไหน ยังแอบซุ่มทำการบ้านอยู่เรื่อยๆ ซื้อหนังสือมาอ่านบ้าง หาข้อมูลเองบ้าง หลังจากเรียนรู้งานในบริษัทจนพอใจอยู่หนึ่งปีเต็ม หมอกจึงได้ฤกษ์ตัดสินใจออกมาตั้ง Together เต็มตัว

ด้วยความชอบคุยกับผู้คนอย่างที่ได้บอกไป ดังนั้นนอกจากการพิมพ์แล้ว กิจกรรมในช่วงแรกของ Together จึงเป็นการจัดเวิร์กช็อปเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยครั้งสำคัญที่ทำให้หลายคนรู้จักกับแบรนด์ Together คืองาน Bangkok Design Week 2020 ที่หมอกลงทุนยกเครื่องริโซกราฟไปให้ผู้ร่วมงานได้ลองพิมพ์ภาพกันถึงหน้า TCDC ในราคาเพียง 350 บาท ซึ่งเป็นราคาเดียวกับที่เธอเคยไปรับความรู้มาจากเวิร์กช็อปที่ไต้หวัน

ไหนๆ หมอกเคยจัดเวิร์กช็อปมาแล้ว เราจึงสบโอกาสขอให้เธอลองสอนวิธีพิมพ์ริโซกราฟคร่าวๆ ให้บ้าง ระหว่างที่หมอกยกแท่นสีต่างๆ ออกมาให้ดูหน้าตาและอธิบายกลไกอย่างเชี่ยวชาญ เธอก็เผยว่าวิธีการใช้เครื่องทั้งหมดนี้เธอได้ความรู้มาจากอาจารย์ยูทูบ

“ดูยูทูบแล้วก็ทำเอง ลองไปเรื่อยๆ เข้าเวิร์กช็อปบ้าง บางครั้งก็ทักไปหาสตูดิโอต่างประเทศว่าสอนหน่อยได้ไหม แลกกันนะ เรามีสีที่เธอไม่มี ถ้าเธอสอนเดี๋ยวเราส่งตัวอย่างชาร์ตสีและผลงานของเราให้ไปให้ ก็เลยได้คอนเนคชันจากสตูดิโอต่างประเทศมาบ้าง มีอะไรก็จะคุยกัน อัปเดตกัน”

แต่ไม่เพียงวิธีใช้งานเท่านั้น เพราะแม้แต่วิธีการเปิดฝาหลังซ่อมเครื่องหมอกก็ (ยังจะ) เรียนรู้ด้วยตัวเอง

“เพราะตัวแทนบริษัทเขาก็มีคิวของเขา จะเรียกมาซ่อมทันทีก็ไม่ได้ แต่วงการดีไซน์มันรีบ มันต้องตอนนั้น เราก็แงะเครื่องเองเลย ดูยูทูบเอาเหมือนเดิมว่าต้องทำยังไง”

หมอกอธิบายต่อไปว่าภายในเครื่องริโซกราฟขับเคลื่อนกระดาษด้วยแรงลม และพิมพ์ด้วยการปั๊มหมึกผ่านกระดาษไขฉลุแทนการใช้ความร้อนเผาไหม้

“ระบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาก มันสวยตรงนี้แหละ” 

หมอกเสริม

“อย่างสีที่ใช้พิมพ์ก็เป็นหมึกจากถั่วเหลือง หลอดที่บรรจุสีก็ส่งกลับไปให้ที่บริษัทได้ เขาจะเอาไปหลอมพลาสติกทำเก้าอี้ ทำกระถางต้นไม้ต่อ หรือกระดาษไขที่ใช้เป็นแม่พิมพ์ก็ทำมาจากใยใบตอง กระดาษที่จะใช้พิมพ์ได้ก็ต้องไม่ถูกเคลือบมาก่อน เท่ากับลดการใช้สารเคมีไปอีกขั้นนึง ตัวแบรนด์เขาเองค่อนข้างใส่ใจสิ่งแวดล้อม มีรายงานด้านสิ่งแวดล้อมให้อ่านจริงจังเลย”

หลังจากคลุกคลีกับริโซกราฟจนชำนาญ หมอกก็ค้นพบว่าเครื่องพิมพ์สี่เหลี่ยมเครื่องนี้รวบรวมทุกความต้องการของเธอไว้ครบจบในตัวเอง ทั้งเป็นงานสายดีไซน์ที่เธอชื่นชอบ มอบโอกาสให้เธอได้พูดคุยกับผู้คนใหม่ๆ และยิ่งไปกว่านั้นคือให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม

“เพอร์เฟกต์ไหมล่ะ” หมอกพูดด้วยรอยยิ้ม 

 

STEP III: LAYER BY LAYER

นอกจากสไตล์ที่แปลกใหม่ พิมพ์รวดเร็วว่องไว ใส่ใจธรรมชาติแล้ว เสน่ห์อีกอย่างของงานริโซกราฟคือการที่ผู้พิมพ์เลือกเองได้ทุกอย่าง ตั้งแต่ชนิดกระดาษ สีกระดาษ สีหมึก ไปจนถึงลำดับการใส่แท่นสี ซึ่งจะให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันออกไป โดยการจะเรียงลำดับสีแบบไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับความเซียนของผู้พิมพ์

“อย่างถ้าจะพรินต์ 4 สี หมอกก็ต้องเลือกสีที่มีพื้นที่น้อยสุดก่อน เพราะถ้าหมึกยังไม่แห้งแล้วเราใส่กระดาษเข้าๆ ออกๆ มันจะมีรอยลูกกลิ้งหมึก (Roller Marks) เกิดขึ้น ก็ต้องเลือกสีที่ไม่กระทบเลเยอร์ต่อไปเยอะ อย่างสีเหลืองนี่จะเห็น Roller Masks ไม่ชัด งั้นเราพิมพ์สีเหลืองก่อน แล้วถ้ารูปนั้นมีสีดำน้อยก็จะพิมพ์สีดำต่อ เพราะสีดำเป็นหมึกที่แห้งเร็ว มันต้องสังเกตลึกถึงขั้นนั้น

“หมอกต้องวางแผนการพรินต์ ถ้าลูกค้ารีบยิ่งต้องวางแผนดีๆ แล้วพิมพ์ให้เสร็จภายในหนึ่งวัน อาจจะแบ่งเช้าเย็นก็ได้ แต่ไม่สามารถค้างเครื่องไว้นานเกินไป เครื่องมันหวั่นไหวง่าย ยิ่งทิ้งเครื่องไว้นานพิมพ์ออกมาจะยิ่งเบี้ยว”   

นั่นเท่ากับว่าตั้งแต่กระบวนการใส่กระดาษจนสาดสีเลเยอร์สุดท้าย รูปทุกใบจะต้องผ่านสายตาและความใส่ใจของหมอก ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าโชคดีที่ลูกค้าส่วนใหญ่เข้าใจธรรมชาติของงานพิมพ์ริโซกราฟเป็นอย่างดี

“ความไม่สมบูรณ์แบบคือสิ่งจำเป็น” เธอบอกแบบนั้น

ทั้งที่หมอกจบจากสาขาดีไซน์ที่บางครั้งต้องการความเนี้ยบระดับตีเส้นบรรทัด เธอก็ยังยืนยันว่าความไม่เป๊ะของริโซกราฟนี่แหละคือสิ่งที่ทำให้มันยิ่งสวยงาม

“ความไม่สมบูรณ์แบบที่ว่าคืออย่างเวลาถมสีหมึก แผ่นแรกมาเข้มมาก แผ่นหลังอาจจะจางลง หรือบางทีตรงนี้สีแดงเข้มกว่า ตรงนี้ไม่มีสีแดง เราไม่มีทางรู้เลยว่าระหว่างทางในเครื่องเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะเครื่องริโซกราฟเกิดมาเพื่อที่จะให้พิมพ์เร็วมากๆ ไม่ได้เกิดมาเพื่อพิมพ์สวยมากๆ ก็ต้องยอมรับว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับความเร็ว มันก็จะไม่ตรงบ้าง เบี้ยวบ้าง เอียงบ้าง อย่างกระดาษข้อสอบที่เราเคยเจอก็ไม่ได้ตรงเป๊ะเหมือนกัน

“อีกอย่างการที่แต่ละแผ่นไม่เหมือนกันเท่ากับว่าคนมีทางเลือก แผ่นนี้สวย แผ่นนี้ไม่สวย แต่ละคนมองไม่เหมือนกัน บางคนบอกว่าต้องเป๊ะสิถึงจะสวย แต่อีกคนดันชอบที่มันไม่เป๊ะ เหมือนเรามีโอกาสได้เลือกผลงานที่ตัวเองถูกใจ หรือถ้ามันเหมือนกันหมด ลูกค้าก็ไม่ได้ให้เวลากับงานเรา ไม่ได้ตั้งใจมองสิ่งที่พิมพ์ออกมา หมอกว่ามันก็คงจะไม่ค่อยสนุก”

นอกจากความสนุกที่หมอกพูดถึง ข้อดีอีกอย่างของงานริโซกราฟคือมาพร้อมกับราคาพิมพ์ที่แปรผกผันกับจำนวน นั่นคือยิ่งพิมพ์เยอะเท่าไหร่ก็จะยิ่งถูกลงเท่านั้น บวกกับที่ Together มีกระดาษขนาด A3 เป็นค่าเริ่มต้น ดังนั้น หากจัดสรรให้งานทุกชิ้นอยู่ในกระดาษใบเดียวกันได้ ก็จะสามารถลดต้นทุนลงไปได้อีก

“ที่คิดราคาถูกเพราะมันไม่มีเหตุผลที่จะต้องแพงไปกว่านั้น”

หมอกยืนยัน เธอเสริมว่าเป้าหมายหลักของ Together คืออยากให้ทุกคนได้สนิทสนมกับริโซกราฟ เพื่อเปิดโอกาสให้วงการมีงานพิมพ์แบบอื่นที่นอกเหนือจากแค่กระดาษอาร์ตด้านและอาร์ตมันที่ต่างกันแค่แกรมความหนา 

เมื่อตั้งเป้าไว้แบบนั้น ลูกค้าคนสำคัญที่หมอกจะดูแลเป็นพิเศษคือเหล่านักศึกษาสาขาการออกแบบที่แวะเวียนเข้ามาอยู่บ่อยครั้ง

“ก็ดีใจว่าเราได้เป็นอีกทางเลือกให้เด็กได้สร้างผลงานใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งคิดย้อนกลับไปถ้าหมอกได้เจอเทคนิคนี้ตอนที่ตัวเองยังเรียนอยู่ก็คงแฮปปี้เหมือนกันนะ

“ตั้งแต่เริ่มทำสตูดิโอเองคนเดียวก็ไม่ได้ออกไปเจอคนอื่นเท่าไหร่ หมอกเลยมองว่าการรับพิมพ์ให้เด็กๆ มันดีมากตรงที่เราได้วิเคราะห์งานไปพร้อมกับน้องๆ ช่วยเขาคิดต่อ ช่วยกันออกไอเดีย ไม่ได้รับไฟล์มาพิมพ์อย่างเดียวแล้วจบ เราพร้อมที่จะบอกเขา สอนเขา เพราะหมอกรู้สึกว่าถ้าเราพัฒนาคนเดียวมันก็ได้แค่นี้ แต่ถ้าเราส่งต่อให้คนอื่น มันก็ต่อยอดไปได้เรื่อยๆ 

“มีช่วงที่ท้อมากๆ เหมือนกัน แต่จุดที่ทำให้หมอกรู้สึกว่าริโซกราฟยังคุ้มค่าให้ทำต่อคือเรามองมันเป็นเครื่องมือในการรู้จักคน เธอไม่รู้จักริโซกราฟใช่ไหม มานี่สิ เราเล่าให้ฟัง มันเลยทำให้เรารู้จักคนเยอะมากๆ หมอกว่าการคุยกับคนคือทางลัดของชีวิตนะ เราไม่ต้องไปเจอด้วยตัวเอง แค่ฟังประสบการณ์ของเขาก็ได้ อย่างเวลารุ่นน้องมาพิมพ์งาน เราก็จะรู้แล้วว่าเดี๋ยวนี้อาจารย์ให้โจทย์แบบนี้ เดี๋ยวนี้วงการเขาต้องสไตล์แบบนี้นะ ได้พัฒนาความรู้ด้านดีไซน์ของตัวเองด้วย จบมาแล้วก็เรียนผ่านเด็กๆ อีกที”

 STEP IV: TOGETHER

ถึงแม้ธุรกิจปัจจุบันจะแข็งแรงหรืออนาคตจะดูสดใสขนาดไหน คำว่า “แต่สิ่งพิมพ์กำลังจะตาย” ก็มักจะปรากฏตัวหลอกหลอนอยู่ทุกครั้งที่คนในวงการสิ่งพิมพ์ให้สัมภาษณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิมพ์ริโซกราฟที่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่มแบบนี้ เรายิ่งอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถาม

“ก็ถ้าคนผลิตเครื่องเขาไม่กลัว หมอกก็ไม่ต้องกลัว” 

คือคำตอบซื่อๆ ตรงๆ ที่หมอกบอกกับเรา

“ตอนนี้บริษัทก็ยังทำเครื่องรุ่นใหม่ออกมา แปลว่างานพิมพ์มันยังต้องมีอยู่นะ หรือต่อให้กำลังจะตายจริงๆ ก็คงไม่ตายในรุ่นเราหรอก เพราะหมอกว่าคนเราจะจดจำอะไรที่จับต้องได้ ยิ่งผ่านประสาทสัมผัสเยอะเท่าไหร่ยิ่งจำได้ เหมือนถามว่าทำไมร้านหนังสือยังรอด ก็เพราะมันยังมีเหตุผลที่ทำให้คนซื้อหนังสือ ด้วยประสบการณ์ ด้วยความทรงจำ ด้วยอะไรก็ตาม นอกจากข้อดีที่ว่าไฟล์ดิจิทัลเก็บง่าย ที่เหลือหมอกคิดว่าสิ่งพิมพ์ชนะได้หมด”

“แล้วถ้ามันยังไม่ตาย หมอกวางจุดหมายสูงสุดของ Together ไว้ตรงไหน” เราถามต่อ

“ก็คงอยากเป็นเหมือนสตูดิโอ O.OO ที่เขาให้แรงบันดาลใจเรา” 

เธอตอบโดยทันทีก่อนจะเริ่มอธิบาย

“มีร้านของตัวเอง แล้วก็ให้คนสามารถพิมพ์ริโซกราฟแบบบุฟเฟต์ด้วยตัวเองได้ จ่ายเงินเป็นรายชั่วโมงแล้วก็ยืนพิมพ์ไป ไม่จำกัด อย่างกระดาษที่ร้านก็อยากไปหาที่ท้องถิ่นหน่อย แล้วก็มีหน้าร้านที่ขายผลงานของลูกค้าที่พิมพ์กับเรา อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นงานพิมพ์อย่างเดียวนะ ลูกค้าจะเอาสินค้าอื่นมาขายพร้อมกับสิ่งที่เราพิมพ์ให้ก็ได้ เป็น selected shop ที่หมอกเป็นคน select 

“ส่วนชั้นสองก็เป็นสตูดิโอไว้ทำงาน แน่นอนว่าต้องมีพื้นที่ให้เวิร์กช็อป แล้วมันจะไม่ใช่เวิร์กช็อปแค่พิมพ์ริโซกราฟอย่างเดียวด้วย อยากไปคอลแลบส์กับคนอื่นๆ อยากรู้ว่าริโซกราฟของเราช่วยอะไรในงานเขาได้บ้าง เพราะหมอกว่าวงการนี้ถ้าต่างคนต่างเดิน มันจะตาย มันได้แค่นี้ หมดมุก”

หมอกเล่าภาพในหัวออกมาเป็นฉาก ซึ่งถามว่าแผนการที่จะทำให้ไปถึงจุดที่ฝันไว้เป็นอย่างไรนั้น…

“จริงๆ ไม่ได้วางแผนอะไรไว้เลย” คือคำเฉลย

หมอกยอมรับว่าต่อให้จะมีภาพสวยงามอย่างที่เล่าไปเป็นหมุดหมายสุดท้าย แต่ความจริงแล้ว Together กลับเป็นสิ่งเดียวในชีวิตที่เธอทำไปแบบไม่มีการวางแผนระยะยาวใดๆ ล่วงหน้าเป็นพิเศษ ซึ่งเธอพอใจในความค่อยเป็นค่อยไปเช่นนี้

“ตั้งใจให้มันเป็นสนามเด็กเล่น ใครอยากให้ไปทำอะไร ชวนมาเลย ถ้ามีเวลาหมอกทำหมด อยากให้มันเป็นพื้นที่ทดลองของทุกคน ไม่ได้ซีเรียสว่าฉันจะต้องเป็นสตูดิโอริโซกราฟที่ดังที่สุดในไทย ผลงานเยอะที่สุด ไม่เคยมองแบบนั้น มองแค่ว่าถ้ามีโอกาสขยายไปทางไหนก็ขยายไปทางนั้น การดีไซน์มันอยู่ทุกที่อยู่แล้ว มันครอบคลุมไปทุกแขนง

“โชคดีที่เรามีลูกค้าเข้ามาทุกเดือนเป็นรายได้ แต่ถ้าโควิดไม่หยุด หมอกไม่สามารถทำเวิร์กช็อปได้เต็มที่ ก็คงนิ่งๆ ไปก่อน พิมพ์งานไปเรื่อยๆ ปล่อยไหล เพราะมันไม่ใช่แค่โปรโมตว่าวันนี้พิมพ์ริโซกราฟลด 50% แล้วคนจะแห่ทำอาร์ตเวิร์กมาส่งเลยทันที มันไม่ได้เป็นแบบนั้น ก็เลยคิดว่าเรารอจังหวะเวลาที่ถูกต้องแล้วค่อยบวกก็ได้”

“แต่แบบนี้มันปล่อยไหลเกินไปหรือเปล่า” เราถาม

“หมอกว่าถ้าจริงจังกับอะไรบางอย่างเกินไป มันจะหมกมุ่นจนทำให้เราปิดกั้น”

นั่นคือสาเหตุที่หมอกจำกัดความ Together ไว้ว่าเป็นสนามเด็กเล่นมากกว่าจะเป็นงานที่ทำเพื่อหารายได้ เธอสรุปรวบยอดว่าในท้ายที่สุดเธอหวังให้สตูดิโอนี้เป็นพื้นที่ที่เปิดให้ทุกคนเข้ามาเล่นสนุก เป็นเบ้าหลอมที่รวมเอาผู้คนจากต่างที่และศาสตร์จากต่างสายเข้ามาไว้ด้วยกันโดยมีริโซกราฟเป็นเครื่องประสาน

“อย่างที่บอกว่ามันไม่ใช่แค่เทคนิคการพิมพ์ แต่เป็นเครื่องมือพาหมอกเดินทางไปเจอผู้คนและประสบการณ์ใหม่”

เธอทิ้งท้าย

“ก็ถ้าไม่มีริโซกราฟ วันนี้เราก็คงไม่ได้มานั่งคุยกันใช่ไหมล่ะ”

พิสูจน์อักษร: ชลดา สวนประเสริฐ