brand logo

PHOTO | LIFE | INSPIRATION

Apr 2025

เทพ - ธัญญเทพ สุวรรณมงคล
SHARE YOUR LOCATION
เรื่อง: อสมาภรณ์ พิริยะโภคานนท์
ภาพ: เฉลิมณัฐ แก้วประดับ
11 Feb 2023

‘ThepLocation’ คือเพจของผู้ชายชื่อเทพ ที่เทพเรื่องโลเคชั่น

เนื้อหาในเพจไม่มีอะไรมากไปกว่ารูปถ่ายสถานที่ที่เขาไปมา พร้อมแคปชันเล่าเรื่องราวของที่แห่งนั้น แต่นั่นก็มากพอให้คนกว่าสองหมื่นคนกดติดตามรออ่าน

ขยายความเพิ่มอีกสักหน่อย เทพเป็นทีมงาน Location Manager ประจำกองถ่ายมาตั้งแต่อายุ 25 ปี ถ้านับจนถึงตอนนี้ เขาจะอยู่กับอาชีพที่ว่ามาครบ 20 ปีพอดี

ย้อนกลับไป 25 ปีก่อน เทพที่กำลังจะเอนทรานซ์ไม่รู้ด้วยซ้ำว่านิเทศศาสตร์คืออะไร แต่ก็จับพลัดจับผลูได้เข้าเรียนคณะดังกล่าวที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา หลังจากเข้ามาเรียนแล้ว เทพก็ตัดสินใจเข้าเอกสาขาวิทยุโทรทัศน์ด้วยเหตุผลง่ายๆ อย่าง ‘เลือกตามเพื่อน’

เทพฝึกงานเป็นทีมอาร์ตในกองถ่ายละคร และเป็นตอนนั้นเองที่เขารู้สึกชอบกับเส้นทางอาชีพคนกองถ่ายขึ้นมา เขาอธิบายว่าเพราะเป็นงานที่สนุก มีกล้อง มีไฟ มีดารา และเขาชอบความวุ่นวายเฮฮาในกอง

แต่ก็เหมือนกับปัจจุบันนี้ งานกองถ่าย ณ ช่วงที่เทพจบใหม่ไม่ใช่อาชีพที่ทำเงินได้มากเท่าไหร่นัก เขาจึงหนีออกจากบ้าน 

“เราออกจากบ้านมาเพราะอยากจะยืนด้วยตัวเองให้ได้ แต่วงการมันโหดร้าย มันไม่มีที่ยืนสำหรับคนไม่มีฝีมือ ตอนนั้นอายุ 25 เราก็ถามตัวเองว่า นี่พยายามมาจนถึงที่สุดแล้วจริงๆ ใช่ไหม จะไปต่อหรือพอแค่นี้ เงินก็ไม่มี อนาคตก็มองไม่เห็น 

“สุดท้ายเรายอมแพ้ กลับไปอยู่บ้าน จนวันหนึ่งมีพี่ที่รู้จักโทรมาหา บอกว่าที่บริษัท Matching Studio กำลังตามหา Location Manager ประจำอยู่”

อย่างที่เทพบอกว่าทุกบ้านมีเจ้าของ ทุกสถานที่มีเรื่องราว

ต่อไปนี้คือเรื่องราวของ ‘เทพ—ธัญญเทพ สุวรรณมงคล’ ในฐานะคนทำโลเคชั่น และเรื่องราวของพื้นที่ ‘กรุงเทพฯ’ ในสายตาของเขา

ที่คุณบอกว่าการจะอยู่ในวงการได้เราต้องมั่นคงในอะไรสักอย่าง ไม่ใช่ทำทุกอย่างหว่านๆ ไป ทำไมถึงคิดแบบนั้น

เราคิดว่าในอายุ 20-30 ปีจะลองเป็นอะไรก็ได้ จะเป็นโปรดิวเซอร์ จะเป็นผู้จัดการกองถ่าย จะเป็นคนทำคอนเทนต์ อยากทำอะไรให้ทำ ให้มันอยู่ในช่วงนี้ แต่พออายุ 30-40 ปีต้องเลือกแล้วว่าจะเป็นอะไร แล้วใช้เวลาหลังจากนั้นทำมันอย่างเดียวเลย พอพ้น 40 ไปเราต้องเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งแล้ว เราต้องมีนามสกุล ไม่มีใครเรียกเราว่าเทพคอนทินิว มีแต่คนเรียกเราว่าเทพโลเคชั่น เพราะเราทำแค่โลเคชั่น ไม่เคยทำอย่างอื่นเลย

แล้วในช่วงค้นหาตัวเองที่ว่า มีจุดที่คิดกับตัวเองบ้างไหมว่าหรือเราไปทำอย่างอื่นดี

ไม่มี ไม่เคยคิดเลย ความที่เราชอบเจอคนด้วยมั้ง ชอบคุย ชอบไปถ่ายรูปโลเคชั่นใหม่ๆ สวยๆ ชอบไปที่ที่ไม่มีใครเคยเห็น ก็เลยรู้สึกว่าทำตรงนี้สนุกดี เงินดีด้วย แล้วเรามีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบในชีวิต มีครอบครัว มีลูก ลูกต้องใช้ค่าเทอม ค่าเทอมนี่คือชีวิตจริงเลยนะ ยังไงก็ต้องจ่าย อย่างอื่นไม่ต้องจ่ายก็ได้ แต่ค่าเทอมเนี่ยไม่ได้ มันมีเรื่องความรับผิดชอบในชีวิตขึ้นมา เพราะฉะนั้นเราต้องหาเลี้ยงครอบครัว ด้วยอาชีพที่ทำเงินได้ ซึ่งสำหรับเราคืออาชีพนี้

ชีวิตการทำงานของเรามาเปลี่ยนตอนที่ Matching Studio ที่ทำอยู่ 7 ปีปิดตัว เราก็เคว้งอีกทีหนึ่ง จะมีงานทำไหมวะ แต่สุดท้ายพอออกมาทำฟรีแลนซ์จริงๆ ก็รอดมาได้ มีงานเข้ามาเรื่อยๆ จากการบอกปากต่อปาก หลังจากนั้นก็เลี้ยงชีพด้วยการเป็นฟรีแลนซ์มาตลอด น่าจะ 10 กว่าปีได้แล้ว

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา โลเคชั่นที่แปลกที่สุดที่เคยได้รับโจทย์มาคืออะไร

น่าจะเป็นการหาโลเคชั่นเรื่องแรกสมัยทำอยู่ Matching Studio ผู้กำกับบอกให้หาบ้านแบบหลุยส์ๆ 

คือต้องเข้าใจก่อนว่าเวลาทำงานโฆษณา เขาจะชอบบรีฟมาเป็นนามธรรม แล้วให้เราไปหารูปธรรมมาส่ง แต่ด้วยความที่เรายังใหม่มาก ก็หาไม่ได้ ไม่มีข้อมูล ไม่เคยรู้มาก่อนว่าบ้านแบบหลุยส์ๆ มันคือแบบไหน พี่ที่บริษัทเขาก็ไม่ได้สอนเพราะอยากให้เรายืนด้วยตัวเอง อันนี้คือแปลกสุด รันทดสุดแล้ว ตอนหลังมาเราถึงได้รู้ว่าที่จริงบ้านหลุยส์ในกรุงเทพฯ มีเป็นสิบหลังเลย ไม่เห็นจะยาก (หัวเราะ)

สำหรับคุณ การเป็น Location Manager ที่ดีควรมีวิธีคิดหรือวิธีการทำงานยังไง

เราว่างานโลเคชั่นคืองาน made to order สมมติได้รับบรีฟมาว่าอยากได้บ้านโมเดิร์น เราต้องคิดแล้วว่าจะใส่ความแตกต่างลงไปในบ้านโมเดิร์นหลังนั้นยังไง เช่นบ้านนี้ยังไม่เคยมีใครใช้ถ่ายมาก่อน นี่คือการสร้างสรรค์สำหรับสายงานเรา แต่การสร้างสรรค์ช่วงหลังมานี้จะถูกจำกัดด้วยเดตไลน์และงบประมาณ เดี๋ยวนี้งานไม่ต้องการความ craft แล้ว เขาต้องการความ fast สมัยก่อนถ่ายรูปด้วยกล้องฟิล์ม ต้องมาล้างฟิล์ม ติดบอร์ด วาดแปลนห้อง เดี๋ยวนี้ถึงที่แล้วก็ถ่ายรูปส่งเข้ากรุ๊ปเลย เพราะลูกค้าอยากดูเร็วๆ หรือบางทีเขาก็จะถามเลยว่าพี่เทพมีสต็อกไหม ส่งรูปในสต็อกมาก่อน ไม่ต้องวิ่งหาโลเคชั่นใหม่แล้ว แต่เราก็ยังมีวิ่งหาโลเคชั่นเองอยู่บ้างนะ เพราะเราเชื่อว่า Location Manager ที่ไม่ยอมวิ่งหาโลเคชั่นเลยจะโง่ลงทุกวัน

ในหนึ่งวันของการทำงานเป็น Location Manager ต้องทำอะไรบ้าง

ถ้าเป็นวันที่เราจะออกไปหาโลเคชั่น คืนก่อนหน้านั้นเราต้องโทรหาเจ้าของโลเคชั่นที่เราจะไป แล้ววันรุ่งขึ้นออกแต่เช้าเลย ตื่น 6 โมงเช้า ไปส่งลูกที่โรงเรียน หลัง 7 โมงเราเริ่มงานแล้ว ตระเวนหาถึงบ่าย 3 ครึ่ง กลับมารับลูก จบ พอเล่าแล้วดูไม่ตื่นเต้นนะ ดูพูดง่ายจัง แต่งานมันเท่านี้ (หัวเราะ)

หลังจากนั้นพอได้สถานที่เรียบร้อยแล้วเราก็ต้องพาทีมงานมาดูว่าถ่ายตรงไหน รถอุปกรณ์จอดตรงไหน รถส่วนตัวจอดตรงไหน แต่งหน้าทำผมตรงไหน เทคนิคที่เราบอกลูกน้องทุกคนคือเวลาจัดการรถให้จอดเอาหัวออกเสมอ เวลามีอะไรฉุกเฉินจะได้ไปได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาถอยรถ แล้วในวันถ่ายจริงก็ต้องพยายามประนีประนอมกับทุกฝ่าย คือบรรยากาศตอนเช้าของการออกกองจะค่อนข้างวุ่นวาย เราต้องเข้าใจว่าทุกคนไม่เคยมาโลเคชั่นนี้มาก่อน จาก 60 คน เคยมาอย่างมากก็แค่ 10 คน มีอะไรเขาก็ต้องถามหา Location Manager ก่อนอยู่แล้ว เราก็ต้องคอยดูแลกันไป

ถึงตรงนี้ฟังดูเหมือนหน้าที่การงานคุณจะเริ่มอยู่ตัวแล้ว แล้วจุดเริ่มต้นของการทำเพจเกิดขึ้นตอนไหน

เริ่มเมื่อประมาณ 9 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเพิ่งมีเฟซบุ๊กใหม่ๆ ก็เลยคิดว่าอยากเปิดเพจเป็นเพจชื่อ ThepLocation ด้วยความที่ชื่อเทพแล้วทำโลเคชั่น มันไม่มีทางหนีจากชื่อนี้ได้เลย คือเปิดไว้ก่อน ยังไม่รู้หรอกว่าจะทำอะไรกับมัน จนเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วเราพาลูกไปร้าน Eden’s เป็นร้านเค้กแถวหลานหลวง เลยเอามาเขียนเล่าในเพจสักหน่อย วันนั้นคนไลก์สัก 10-20 คนเองมั้ง 

คอนเทนต์แรกๆ จะเป็นพวกแนะนำหนัง แชร์เรื่องเกี่ยวกับวงการโปรดักชัน การทำโลเคชั่น พอเล่นไปเล่นมามันเริ่มมีคอนเทนต์ที่จะเล่ามากขึ้น เราเป็นคนที่ไม่ชอบอ่านอะไรยาวๆ จะชอบอ่านงานของ ‘หนุ่มเมืองจันท์’ ตามอ่านหนังสือเขามาเป็น 10 ปี ได้รับอิทธิพลในการเขียนเพจมาจากพี่เขาเลย 

ช่วงแรกๆ ก็มีคนเตือนนะว่าเอาโลเคชั่นมาเขียนอย่างนี้แล้วคนอื่นจะลอกหรือเปล่า แต่เราก็เฉยๆ นะ เพราะมันเป็นโลเคชั่นที่ทุกคนรู้กันอยู่แล้ว ใจจริงตอนแรกเราก็จะนำเสนอเฉพาะโลเคชั่นที่ใช้ถ่ายหนังนั่นแหละ แต่พอไปๆ มาๆ เราก็เจอว่ามีโลเคชั่นอื่นอีกเยอะมากที่ไม่ได้ใช้ถ่ายหนังแต่มีเรื่องราวน่าสนใจอยู่ในนั้น

ปกติแล้วคนมักจะเก็บสถานที่ลับๆ ไว้กับตัวเพราะกลัวแมส กลับกัน ทำไมคุณถึงอยากแชร์โลเคชั่นนั้นกับคนอื่น

ถ้ามันเป็นเกี่ยวกับโลเคชั่นที่กำลังถ่ายหนังหรือกำลังฉายอยู่ เราจะไม่ลง เป็นจรรยาบรรณที่โพสต์ไม่ได้อยู่แล้ว แต่นอกเหนือจากนั้นเราว่าเป็นเพราะเราอยากเล่าเรื่อง เท่านั้นเอง เรารู้สึกว่าทุกสถานที่มีคุณค่า ทุกที่มีคน มีชีวิตอยู่ในนั้น เวลาตึกอาคารโดนทุบทำลาย มันไม่ได้หายไปแค่สถานที่นะ ความรู้สึก วิถีชีวิตมันหายไปด้วย

การเป็นคนทำโลเคชั่น ชีวิตเราเกี่ยวข้องกับเมืองอยู่แล้ว เกี่ยวข้องกับสถานที่ พอเจออะไรเราก็อยากเก็บไว้อ่าน เก็บไว้ให้ลูกอ่านด้วย

อีกอย่างหนึ่งที่เด่นไม่แพ้การเล่าเรื่องคือฝีมือการถ่ายภาพ อยากรู้ว่าทักษะถ่ายรูปนี่มาจากไหน

เราถ่ายรูปโลเคชั่นเพื่อขายลูกค้ามา 10-20 ปีแล้ว เราเลยรู้ว่าต้องถ่ายยังไงให้มันจริงที่สุด สิ่งที่เห็นในรูปต้องเหมือนกับที่ตาเราเห็น เพราะมันมีผลกับหลายอย่างนะ ทั้งเรื่องขนาดของฉาก ขนาดของอาร์ต ขนาดเลนส์ที่ตากล้องจะใช้ รูปที่จะเอาไปขายเราเลยถ่ายจากกล้องดิจิทัล แต่พอถ่ายลงเพจเราไม่ต้องสนใจว่าสัดส่วนจริงเป็นยังไง มันเน้นเล่าเรื่องมากกว่า เราแค่ถ่ายให้รูปน่าสนใจ เตะตา แค่นั้นเอง ก็ถ่ายจากมือถือเลย ใส่ฟิลเตอร์

คุณบอกว่าตัวเองเชี่ยวชาญการหาโลเคชั่นในกรุงเทพฯ เป็นพิเศษ

ใช่ เพราะว่าเราทำงานอยู่แต่ในกรุงเทพฯ ด้วย ที่เชี่ยวชาญพิเศษจะเป็นแถวสุขุมวิท ซอยแต่ละซอยแถวนั้นไม่เหมือนกันเลย จะมีซอยลึก ซอยตื้น ซอยย่อย ซึ่งในซอยเหล่านั้นมีอะไรซ่อนอยู่เพียบเลยนะ แถวประดิพัทธ์ สะพานควาย เอกมัย จะหาบ้านหรือหาคอร์ทเก่า หาร้านอาหาร ร้านกาแฟ มีหมด

เวลามีกองถ่ายต่างประเทศมาถ่ายทำ ส่วนใหญ่จะเซ็ตให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองเก่า หรือเป็นเมืองที่ไม่เจริญหูเจริญตาเท่าไหร่ ทำไมถึงเป็นแบบนั้น

ด้วยความที่มันไม่เจริญไง (หัวเราะ) ถ้าถามว่าทำไมเขาต้องมาเซ็ตเป็นเมืองที่ดูเก่าหรือสกปรก คำตอบคือก็โลเคชั่นมันได้ ก็บ้านเมืองเรามันเป็นแบบนั้น แต่ข้อดีคือถ้ามองในแง่เศรษฐกิจ ประเทศเราก็ได้เงินจากตรงนี้เยอะ มีเงินต่างชาติเข้ามาพัฒนาพื้นที่ เราว่าโลเคชั่นเป็นแผนกที่สามารถกระจายเงินลงไปถึงชุมชนได้จริง เพราะฉะนั้นกองถ่ายต่างประเทศคือโอกาสที่ดี เรื่องภาพลักษณ์ก็ไม่ต้องไปห่วงมากหรอก เพราะต่อให้เขาไม่มาถ่าย เราก็ไม่ได้ดูดีขึ้นอยู่แล้ว (หัวเราะ)

เห็นกรุงเทพฯ มาเยอะ แล้วกรุงเทพฯ ในสายตาเทพเป็นยังไง

กรุงเทพไม่ใช่เมืองฟ้าอมรแต่เป็นสนามต่อสู้ แล้วสนามต่อสู้ก็มีแต่เลือด เหงื่อ น้ำตา คนอยู่นอกเมืองเข้ามาฟาดฟันกันเพื่อเอาเงินออกไปใช้ชีวิต

พื้นที่ต่อสู้ที่เราพูดถึงคือตึกออฟฟิศ ตลาดสด ตรงที่เป็นสังเวียนสำหรับเราเลยคือแถวเมกะพลาซ่า สะพานเหล็ก หรือแม้กระทั่งตลาดน้อย ตรงนั้นหลากหลายอาชีพมากนะ ประเทศเราเดินหน้าได้ด้วยธุรกิจเล็กๆ SME ด้วยร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านขายอะไหล่ที่กำลังต่อสู้กับชีวิต

มีคำพูดที่บอกว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ไม่โรแมนติก ต่อให้ตกหลุมรักตอนเช้า ตอนเย็นเลิกแล้ว

มันไม่โรแมนติกหรอก อย่างที่เราเห็นว่าซีนสวยๆ งามๆ มันก็ไปอยู่บนดาดฟ้าหมด ซีนที่คนรักกันมันอยู่บนร้านอาหารรูฟท็อป เห็นวิวแสงสีของเมือง มันไม่เคยมาอยู่ริมคลองเลย เพราะมันไม่โรแมนติกไง คนที่จะโรแมนติกได้คือคนที่ไม่ต้องสู้ชีวิต 

มีกรุงเทพฯ เป็นที่ทำงานมา 20 ปี คิดว่าในอนาคตกรุงเทพฯ จะเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง

กรุงเทพฯ จะไม่มีวันเจริญไปกว่านี้ คุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ ก็จะไม่ดีไปกว่านี้ 

เป็นไปได้ว่าเมืองจะสวยงามขึ้น คือหน้าตาอาจจะดูดีขึ้น มีตึกใหม่มากขึ้น สถาปัตยกรรมน้อยลง ตึกเก่าน้อยลง อะไรที่เป็นเชิงวัตถุดีขึ้น แต่คนก็ยังต้องต่อสู้เหมือนเดิม เราเคยไปคุยกับทางกรุงเทพมหานครเรื่องการจัดการกองถ่ายให้เหมาะสม เราถึงได้รู้ว่ากรุงเทพฯ มันแก้อะไรยากมาก ปัญหาทุกอย่างพันกันเป็นใยแมงมุม อะไรที่อยู่บนดินมันก็จะอยู่บนดิน อะไรที่มันอยู่ใต้ดินมันก็ยังคงอยู่ใต้ดินต่อไป เขาไม่อนุญาตให้เจริญมันก็จะไม่เจริญ จะไม่มีการพัฒนาอะไรไปมากกว่านี้ 

ถ้าถามว่ากรุงเทพฯ จะมีโอกาสเปลี่ยนให้ดีขึ้นได้ไหม เราอยากให้ถามใหม่ว่าอีก 20 ปีประเทศไทยจะเปลี่ยนไปไหมดีกว่า ถ้ามันเปลี่ยนได้ ถึงวันนั้นเราค่อยมาดูกันว่ากรุงเทพฯ จะเป็นยังไง

พิสูจน์อักษร: ชลดา สวนประเสริฐ