brand logo

PHOTO | LIFE | INSPIRATION

May 2025

Window Light
ถ่ายรูปด้วยแสงผ่านหน้าต่างในบ้านง่ายๆ
เรื่องและภาพ ธันวา ลุจินตานนท์
1 Dec 2020

พื้นฐานของการถ่ายรูปส่วนใหญ่ต้องดูเรื่องแสงเป็นหลัก เพราะเป็นตัวกำหนดทิศทางของภาพว่าจะให้ความรู้สึกแบบไหนออกมา หลักๆ คือ แสงนุ่ม และแข็ง แต่ในวันนี้ผมอยากพูดถึงการใช้แสงผ่านหน้าต่าง (Window Light) ซึ่งทำให้เกิดแสงที่จะนุ่มนวล และสร้างมู้ดของภาพให้ดูสวยงามแต่มันก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะถ่ายแบบไหน ถ่ายตรงๆ ย้อนแสง หันข้าง หรือแม้กระทั่งถ่ายผ่านหน้าต่าง 

 

ถ้าพูดถึงภาพถ่ายผ่านกระจกหรือหน้าต่างรูปของ ซอล ไลเตอร์ (Saul Leiter) เป็นช่างภาพคนแรกที่ผมนึกถึง งานของเขาให้ภาพที่เลือนรางไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นการสร้างเรื่องราวที่เหนือจริงให้เกิดขึ้นในงานแต่ถ้าประยุกต์ใช้กับการถ่ายพอร์ทเทรตมันช่วยลดความน่าเบื่อ และสร้างมิติใหม่ของภาพขึ้นมาได้

 

สิ่งสำคัญสำหรับการถ่ายภาพด้วยแสงหน้าต่างจากการที่ผมได้ทดลองมามีเรื่องสำคัญๆ อยู่ 4 อย่าง คือ การดูทิศทางของแสง การวัดแสง การโฟกัส และการวางเฟรมให้แตกต่าง

 

ทิศทางของแสง

 

แสงที่มากจากทิศทางที่แตกต่างกันจะสร้างความรู้สึกที่แตกต่างกัน อย่างในตัวอย่างมีแสงที่เราถ่ายตามด้านของแสง ย้อนแสง หันแบบไปด้านข้าง หรือรวมถึงลองถ่ายจากด้านนอกให้แสงมันผ่านหน้าต่างก่อนสัมผัสตัวแบบ ในกรณีที่ถ่ายด้านนอกสิ่งที่ควรเช็คคือเรื่องของการโฟกัส    

 

การโฟกัส

การโฟกัสในอาคารเราจะเจอปัญหาบ่อย คือ มืดไปจนกล้องหาจุดโฟกัสไม่เจอหรือหากถ่ายจากด้านนอกอาคารมันอาจโฟกัสที่เงาสะท้อนในกระจกแทน ถ้าเป็นแบบนี้แนะนำให้เราใช้ระบบโฟกัสแบบแมนนวล หรือที่เรียกกันว่ามือหมุนหากกล้องใครมีระบบ Peaking focus แนะนำให้ใช้เพื่อความแม่นยำมากขึ้น  

 

วัดแสง

สำหรับการวัดแสงแนะนำให้เป็นแบบ Spot Metering หรือเฉพาะจุดโดยเลือกตรงที่ตัวแบบของเรากระทบกับแสงโดยตรงเพื่อไม่ให้สว่างเกินไป และจำไว้เสมอว่ายิ่งแบบใกล้แสงมากเท่าไหร่จะยิ่งสว่างมาก ซึ่งจะทำให้ฉากหลังในภาพเรามืดมากขึ้นด้วยเช่นกัน ตรงนี้อาจต้องลองดูว่าตัวมู้ดที่เราต้องการนั้นเป็นแบบไหน หรือฉากหลังมันรกมากจนรบกวนสายตาจนต้องการให้มันดำไปหมดหรือเปล่า

องค์ประกอบภาพ

 

ในเมื่อเรามีหน้าต่างให้เล่นด้วยเราก็ถ่ายผ่านมันเลย แต่สิ่งสำคัญที่ต้องระมัดระวังคือเรื่องของการที่เงาสะท้อนจากรอบนอกไปบังตัวแบบหรือกลืนไปกับแบบ นอกจากนั้นลองถ่ายแบบเฟรมซ้อนเฟรม หรือให้แบบอยู่ในกรอบหน้าต่างหรือหา Foreground มาให้มีระยะหน้าหลัง รวมถึงหาอะไรรอบตัวมาเล่นดูได้

 

ลืมมันซะให้หมด !

 

สุดท้ายพอเรารู้หลักการเบื้องต้นแล้ว เราลองฉีกกฎทั้งหมดดูเพื่อหาอะไรใหม่ๆ หรือเรื่องราวที่น่าสนใจเข้ามาในภาพ เช่น แสงที่คาดตา โฟกัสที่เกือบจะเข้าเป้าพร้อมกับอารมณ์ของตัวแบบที่เราถ่าย หรือถ่ายให้มืดกว่าปกติเล็กน้อยเพื่อสร้างความลึกลับเป็นต้น สุดท้ายนี้ขอให้สนุกกับการถ่ายภาพครับ 

เอื้อเฟื้อสถานที่โดย : Akirart Cafe และ Akirart Minilab

images
images
images
images
พิสูจน์อักษร ชลดา สวนประเสริฐ