ภาพ : ธันวา ลุจินตานนท์
Xanap Filmlab เป็นชื่อแล็บล้างสแกนฟิล์มที่ก่อตั้งจากเพื่อนรักร่วมอุดมการณ์การถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มทั้ง 5 คนได้แก่ ปุ๊ – จักรพงษ์ ตะเคียนงาม, ธันวา ลุจินตานนท์, หลิน – รินรดา พรสมบัติเสถียร, หนึ่ง – นพอนนต์ อิทธิอัครพงศ์ และอาย – อคัมย์สิริ ภคปรีชาพัฒน์ ดำเนินการด้วยแพสชั่น ไฟฝัน เติมแต่งด้วยความสนุกสนาน และที่สำคัญ หุ้นส่วนทั้ง 5 ยืนยันว่า แม้ธุรกิจของพวกเขาจะถือกำเนิดมาจากแพสชั่นเป็นอันดับแรก แต่การบริหารจัดการไม่ให้ ‘เจ๊ง’ นั้นก็ถือเป็นหัวใจหลักที่สำคัญไม่แพ้กับแพสชั่นตั้งต้น
ก่อกำเนิดจากแพสชั่น
“จุดเริ่มต้นก็จากที่พวกเราอยากทำอะไรสักอย่างให้เป็นเหมือนจุดรวมตัวกันของคนใช้ฟิล์ม คนถ่ายฟิล์มนี่ล่ะครับ” ปุ๊เปิดฉากเล่าถึงที่มาการก่อตั้ง Xanap Filmlab เมื่อกว่าสามปีที่แล้ว “ร้านเราเริ่มจากการเปิดร้านขายกล้องเล่นๆ กับวาสองคนนี้แหละ แต่ลักษณะธุรกิจของร้านขายกล้องคือ ลูกค้าจะไม่กลับมาซื้อซ้ำ เราจะไม่มีสายสัมพันธ์กันซ้ำ แต่เป็นรอบเดียวจบ ซื้อแล้วก็แล้วกัน พวกเราเลยขยายมาเป็นร้านล้างฟิล์ม เริ่มต้นจากการเปิดร้านเล็กๆ ที่สามย่านก่อน แต่ธุรกิจของพวกเราก็ค่อยๆ โตขึ้นตามอัตราความนิยมของกล้องฟิล์มนี่ล่ะครับ หลังจากเปิดได้เกือบๆ ปี พวกเราก็ย้ายแล็บมาที่ลิโด้ คอนเน็กต์ และก็เปิดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน”
กลุ่มลูกค้าหลักๆ ของ Xanap Filmlab จัดว่าเป็นวัยรุ่น ช่วงอายุประมาณ 15 – 30 ปีเป็นหลัก และอย่างที่ได้เน้นย้ำไปแล้วว่า แม้ว่าธุรกิจนี้จะเริ่มต้นจากความรัก แต่พวกเขาก็ยืนยันว่าการวางแผนธุรกิจอย่างเป็นระบบและรอบคอบก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ผู้ร่วมก่อตั้งทุกคนต้องให้ความสำคัญร่วมกัน “กระแสตอบรับดีกว่าที่คิดเยอะมากเลยครับ” ปุ๊เล่าต่อ “ตอนแรกเรากะจะอยู่เล็กๆ ของเราที่สามย่านไปเรื่อยๆ แต่หลังจากที่กระแสของร้านที่เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว บวกกับกระแสของกล้องฟิล์มที่เริ่มเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว เรียกได้ว่าถ้าเป็นกราฟวัดคือความชันมันสูงขึ้นมากๆ ในช่วงนั้นพอดี ทำให้ร้านกลายเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วเลยครับ”
“ผมว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่โซเชียลมีเดียเห็นดาราออกมาใช้กล้องฟิล์มเยอะๆ พอดีด้วยแหละ” ธันวาเสริม “ผมว่ามันก็มีส่วนให้คนหันมาใช้ตามดารา และพอเขาได้เห็นรูปที่ถ่ายจากกล้องฟิล์มนั้น มันดู… ย้อนยุค และพอเขาชอบแล้ว เขาก็ถ่ายต่อมาเรื่อยๆ นี่ล่ะครับ”
“สำหรับเรา” หลินรีบเสริมต่อทันควัน “เราว่ามันสวยแบบไม่ต้องแต่งภาพน่ะ ไม่ต้องผ่านแอพ มันเหมือนกับว่าฟิล์มมันแต่งให้อยู่แล้วน่ะ”
ผ่านมาแล้วผ่านไป หรือจีรังยั่งยืน
“จริงๆ ของพวกนี้มันมีอายุขัยของมันอยู่ประมาณหนึ่งนะ” อายตอบ เมื่อเราถามว่ากระแสความนิยมกล้องฟิล์มนี้จะเป็นเพียงกระแสแฟชั่นเพียงชั่ววูบ หรือว่ามันจะเป็นแบบนี้ไปได้ตลอดกันแน่ “ยุคหนึ่งก็จะมีคนเล่นแผ่นเสียง ต่อมาอีกยุคก็จะเป็นคนเล่นกล้องฟิล์ม แต่กล้องฟิล์มมันก็มีคนใช้อยู่แล้วเป็นกลุ่มจำเพาะ แต่จู่ๆ ที่มันพีคขึ้นมา เราก็คิดเหมือนกับธันวานะ คือมันมี somebody หรือ influencer มานำร่อง แล้วจู่ๆ มันเหมือนจะมีคนใช้พร้อมกันในสเกลที่เยอะขึ้นมาเฉยๆ
“ถ้าไม่มีโควิดมาเป็นตัวแปร มันก็จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ อีกสักพักใหญ่ๆ เลย” น้ำเสียงของอายเต็มไปด้วยความเชื่อมั่น “พวกเราเคยคุยกันว่ากล้องฟิล์มมันไม่ตายไปจริงๆ หรอก เพราะเวลาคนมันเริ่มเล่นแล้ว มันก็จะเล่นไปเรื่อยๆ ความถี่อาจจะน้อยลงหรือมากขึ้น แต่ทันทีที่คุณได้ลองจับกล้องฟิล์มแล้ว คุณก็จะเล่นไปเรื่อยๆ นั่นแหละ แต่พอมีโควิดมานี่… ไม่รู้เหมือนกัน คนอื่นว่ายังไง”
เกิดเสียงเงียบขึ้นในระหว่างการสัมภาษณ์เพียงชั่วอึดใจ ก่อนปุ๊จะเสริมขึ้นมาทันที “ผมว่ากระแสของกล้องฟิล์มมันขึ้นถึงจุดสูงสุดที่มันจะทำได้แล้ว จำนวนผู้ใช้อาจจะลดลงบ้าง ไม่มากเท่ากับตอนที่กระแสมันกำลังเป็นเทรนด์ แต่พอเกิดเรื่องโควิดขึ้นมา ผมว่าทุกคนก็พักการใช้จ่ายเรื่องฟุ่มเฟือยไปก่อน และส่วนตัวผมมองว่ากล้องฟิล์มเป็นวัตถุฟุ่มเฟือยนะครับ ทุกคนก็พักการใช้ไปในช่วงนี้ แต่ก็ไม่ค่อยมีใครเลิกใช้จริงจังนะครับ ส่วนตัวผมมองว่าช่วงนี้เป็นช่วงพักเฉยๆ นะครับ และถ้าถามว่ากระแสจะกลับมาขึ้นไปมากกว่านี้อีกไหม ผมว่ามันสุดทางแล้วจริงๆ”
คอลเอาท์ในแบบเราเอง
ในช่วงที่ม็อบลงถนนกำลังพีคถึงขั้นสุด Xanap Filmlab ออกแคมเปญสนับสนุนฝั่งม็อบประชาธิปไตยคือลดค่าล้างฟิล์มที่มีการนำไปถ่ายภาพม็อบ 50% ต่อม้วน แม้จะมีภาพถ่ายม็อบติดมาเพียงภาพเดียวก็ตาม “จุดเริ่มต้นแรกเลยคือ ผมเห็นว่าพวกเราทั้งห้าคนมีความเห็นทางการเมืองไปในทิศทางเดียวกันหมด” ปุ๊อธิบายที่มาของแคมเปญนี้ “รวมถึงน้องๆ ทีมงานในร้านด้วย เลยมานั่งคิดว่าถ้าพวกเราจะแสดงออกทางการเมืองในชื่อของ Xanap Filmlab เราต้องมั่นใจก่อนว่าพวกเราเห็นตรงกัน พอมั่นใจว่าเราได้เห็นตรงกันแล้ว เราก็คิดว่าเราจะร่วมมือกันลงมือทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับการเมือง”
และก็ไม่แปลกใจเลยว่า แคมเปญลดค่าล้าง 50% สำหรับฟิล์มถ่ายม็อบเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์สำคัญครั้งใหญ่ของม็อบเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจฉีดน้ำใส่กลุ่มผู้ชุมนุมอย่างสันติท่ามกลางสายฝนกลางพื้นที่สยามสแควร์ เพราะเราเองก็ฟิวส์ขาดแบบกู่ไม่กลับหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นไม่ต่างกัน “วันนั้นเป็นวันที่ผมและน้องๆ ในร้านออกไปร่วมม็อบ และโดนฉีดน้ำกันถ้วนหน้า” ปุ๊เล่าย้อนอดีต “เหมือนทุกคนได้แรงกระตุ้นว่าสถานการณ์มันไม่โอเคแล้ว เราต้องลงมือทำอะไรกันสักอย่างแล้ว เลยตัดสินใจสนับสนุนคนร่วมอุดมการณ์โดยการลดค่าล้างลงครึ่งหนึ่งนี่ล่ะครับ”
“พอปุ๊เสนอโปรเจ็กต์นี้ขึ้นมา” หลินเสริม “เราก็รู้สึกว่าในฐานะที่เราเป็นคนถ่ายรูป เวลาไปม็อบ เราก็อยากจะบันทึกหลักฐานตรงนั้นไว้ เราไม่รู้หรอกว่าคนที่เอาฟิล์มมาล้างเขาจะเอารูปไปใช้ยังไงต่อ เรารู้แค่ว่า ถ้าพอจะมีหนทางให้เราสนับสนุนพวกเขาได้ เราก็ยินดีช่วยพวกเขาจริงๆ”
“ผลตอบรับถือว่าดีเกินคาดไปเยอะมากเลยครับ” ปุ๊เล่าต่อ “ในแง่ของลูกค้าที่เอาฟิล์มมาล้างอาจจะไม่ได้เยอะมากมายขนาดนั้น เพราะลูกค้าที่มาร่วมม็อบ ก็ถือเป็นลูกค้าที่ล้างกับเราอยู่ก่อนหน้าแล้ว ในส่วนของโซเชียลมีเดียจากการเช็คหลังบ้าน ก็เห็นได้ชัดเจนว่ามีลูกค้าบางกลุ่มอันฟอลไปหลังจากเราประกาศแคมเปญ แต่ก็มีลูกค้ากลุ่มใหม่มาฟอลเพิ่ม ถ้าถามว่ามันเป็นบวกหรือลบ ก็ตอบได้ทันทีว่าบวกเยอะกว่าครับ เพราะจำนวนคนฟอลเพิ่มขึ้น
“แต่สิ่งที่ส่งผลกระทบมากๆ คือ ร้านอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน เป็นร้านที่มีผู้ก่อตั้งรุ่นราวคราวเดียวกับพวกเรา” ปุ๊ว่า “เขาทักมาขออนุญาตใช้รูปแบบโปรโมชั่นเดียวกับพวกเรา ราวกับว่าพวกเขาก็กำลังหาทางจะสนับสนุนการเคลื่อนไหวนี้อยู่ก่อนหน้าแล้ว พอเขาเห็นแคมเปญที่เราทำ เขาก็เลยอยากทำด้วย เลยมีทั้งร้านกล้อง ร้านฟิล์ม และแล็บล้างรูปอื่นๆ มาร่วมแคมเปญกับเราเต็มไปหมด”
จากแคมเปญที่เริ่มต้นจากความเจ็บแค้นที่ถูกฉีดน้ำท่ามกลางการชุมนุมอย่างสันติ กลายเป็นแคมเปญใหญ่ในอุตสาหกรรมที่มีร้านร่วมอุดมการณ์กว่า 10 ร้านทั่วประเทศ “มันจะมีบางร้านนี่ล่ะครับที่อาจจะมีหุ้นส่วนคนหนึ่งอยู่ฝั่งขวา ร้านเหล่านั้นก็จะเลือกช่วยเหลือฝั่งซ้ายด้วยวิธีอื่น ก็จะมีคานๆ กันอยู่บ้างครับ ในอุตสาหกรรมนี้ แต่ส่วนใหญ่พูดได้เลยว่า แนวความคิดเป็นไปในทิศทางเดียวกับพวกเรา” ปุ๊สรุป
หนทางรอดของธุรกิจฟุ่มเฟือยในสถานการณ์เช่นนี้
“ผมว่าการประคองธุรกิจในตอนนี้ไม่ใช่หน้าที่ของพวกเรานะครับ” หนึ่งตั้งข้อสังเกต “แต่มันเป็นไปตามความสนใจของคนที่อยากจะเล่นกล้องฟิล์มมากกว่า หน้าที่หลักของเราในตอนนี้คือทำให้คนหันมาอยากเล่นกล้องฟิล์มจริงๆ และเล่นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนั่นก็คือการอำนวยความสะดวกให้กับพวกเขาที่เราพยายามทำมาตลอดอยู่แล้ว ธุรกิจของเราคือการเติมเต็มการถ่ายรูปด้วยกล้องฟิล์มให้สนุกมากขึ้นสำหรับกลุ่มคนที่สนใจอะไรแบบนี้น่ะครับ”
ปุ๊เองก็ออกความเห็นด้วยน้ำเสียงจริงจังไม่ต่างกัน “ด้วยสถานการณ์ตอนนี้ มันไม่มีนโยบายอะไรช่วยกระตุ้นได้ขนาดนั้นหรอกครับ เราทำได้แค่บอกว่า เรายังเปิดอยู่ สามารถส่งฟิล์มมาล้างทางไปรษณีย์ได้ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องทั่วไปของร้านอยู่แล้ว ตอนโควิดสองรอบแรก เราพยายามกระตุ้นโดยการออกแคมเปญเชิญชวนทุกคนว่าอยู่บ้านก็ถ่ายรูปได้ ทำคอนเทนต์ไปในทิศทางนั้น แต่ก็กระตุ้นไม่ขึ้นเท่าไหร่หรอกครับ เพราะผมมองว่าการถ่ายรูปด้วยกล้องฟิล์มของกลุ่มลูกค้าหลักของเรา ซึ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่นนั้นเป็นการบันทึกประสบการณ์ใหม่ๆ ไม่ต้องไปเที่ยวก็ได้ครับ แค่ไปมหาวิทยาลัย ไปงานวันเกิดเพื่อนก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ๆ ในชีวิตเขาแล้ว เขาจะถ่ายรูปกับเหตุการณ์เหล่านี้ พอเขาต้องอยู่แต่ที่บ้าน ไม่มีประสบการณ์ใหม่ๆ เขาก็ไม่ถ่าย ต่อให้เรากระตุ้นแค่ไหน ยอดก็ไม่ขึ้นอยู่ดี การที่อุตสาหกรรมนี้จะกลับมาได้ ก็ต้องผูกธุรกิจฟิล์มเข้าไปอยู่ในหมวดธุรกิจการท่องเที่ยวเลย เราจะกลับมาได้ เมื่อธุรกิจการท่องเที่ยวฟื้นตัว อย่างน้อยก็เมื่อคนได้ออกจากบ้าน ได้กลับมาใช้ชีวิตนี่ล่ะครับ เราถึงจะกลับมาได้”
ดูเหมือนชะตากรรมของอุตสาหกรรมนี้ถูกผูกติดอยู่กับความสามารถในการจัดการของรัฐบาลเป็นหลัก ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่เรากังขาเป็นอย่างมาก แล้วพวกเขาคิดอย่างไรกันกับข้อเท็จจริงนี้ “ผมว่ารัฐควรให้สิทธิขั้นพื้นฐานกับทุกคนทั่วไปให้ได้ก่อนครับ” ปุ๊ตอบด้วยน้ำเสียงราบเรียบ “มันเป็นสิ่งที่รัฐต้องทำให้ประชาชนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะในสถานการณ์ไหนก็ตาม ถ้าเรามีสิทธิขั้นพื้นฐานครบถ้วน การถ่ายฟิล์มก็เป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขกับชีวิตได้ แต่ในตอนนี้ พวกเรากำลังอยู่ในโหมด ‘เอาตัวรอด’ ไม่ใช่โหมด ‘ใช้ชีวิต’ เพราะฉะนั้น สิ่งที่รัฐจะต้องช่วยคือ ทำให้ทุกคนออกจากโหมดเอาตัวรอดมาสู่โหมดใช้ชีวิตให้ได้เร็วที่สุด และถ้าหลังจากผ่านโควิดไปแล้ว โปรเจ็กต์ต่างๆ ที่เราเคยคุยกันไว้อย่าง Film Festival ก็จะดำเนินต่อ เพราะเราคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ฟิล์มกลับมามีคนใช้เยอะเหมือนเดิม”
อนาล็อกคือของใหม่ในโลกดิจิตอล
นอกเหนือไปจากโปรเจ็กต์ Film Festival ที่ไม่รู้จะได้เกิดขึ้นจริงเมื่อไหร่แล้ว พวกเขายังจะขยายขอบเขตการให้บริการของ Xanap Filmlab ให้ครอบคลุมไปถึงกระบวนการพิมพ์ภาพถ่ายให้ออกมาเป็นความทรงจำในรูปแบบที่จับต้องได้มากขึ้นอีกด้วย ซึ่งประเด็นนี้ทำให้เราย้อนคิดถึงบทสนทนากับช่างภาพกล้องฟิล์มคนหนึ่งเมื่อนานมาแล้วไม่ได้ว่า เขาเชื่อว่ากระบวนการสุดท้ายของการถ่ายภาพนั้นคือกระบวนการพิมพ์ออกมาเป็นรูปภาพ แต่ดูเหมือนว่าการให้บริการของแล็บนี้นั้นจะเน้นที่การล้างและบริการสแกนฟิล์มส่งเข้าเมลลูกค้ามากกว่าการกระตุ้นให้ลูกค้าอัดภาพออกมาเป็นใบๆ หุ้นส่วนคิดเห็นอย่างไรในแนวความคิดนี้กันแน่ เราอดสงสัยไม่ได้ “อันดับแรกเลยนะครับ ผมเองไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมดกับคำว่า final product ของการถ่ายภาพคือการพรินท์ออกมาเป็นภาพ” ปุ๊ตอบแบบไม่ลังเล “ผมมองว่าการถ่ายภาพมันมีหลายจุดประสงค์ คนทำอาชีพช่างภาพอาจจะมองว่ามันเป็นแบบนั้น แต่สำหรับกลุ่มลูกค้าหลักของเราที่เป็นเพียงคนเพิ่งเริ่มถ่ายภาพนั้น เขาใช้สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเครื่องบันทึกความทรงจำ และด้วยไลฟ์สไตล์ของผู้คนในยุคปัจจุบัน การพรินท์ไม่ได้เป็นที่นิยมขนาดนั้น ดังนั้น ถ้าจะพูดในเชิงธุรกิจ เราก็ไม่ได้จะเชิญชวนให้ทุกคนไปให้ถึงกระบวนการพรินท์ครับ แต่มันคือทางเลือกที่เรามีให้ ซึ่งกระบวนการพรินท์จะเป็นระดับเบสิค อาจจะมีลูกเล่นแบบพรินท์เป็นภาพโพลารอยด์ มีกรอบให้ เพื่อให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของลูกค้า ผมรู้สึกว่ามันไปไกลไม่ได้มากกว่านี้แล้วสำหรับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้าหลักของเรา”
“เราแอบเห็นด้วยกับปุ๊นิดหนึ่งนะ” หลินเสริม “ไม่ใช่ทุกคนหรอกที่จะเห็นว่าผลงานสุดท้ายของเขาคือการพรินท์รูป เรารู้สึกว่ามีศิลปินรุ่นใหม่หลายคนที่ไม่ได้เห็นภาพไฟนอลของงานตัวเองออกมาเป็นงานพรินท์แล้วเหมือนกัน เพราะในโลกยุคปัจจุบัน มันก็มีสื่ออะไรหลายอย่างที่ทำให้ศิลปินยุคใหม่อยากทดลองงานของเขาผ่านหน้าจอ มีการทดลอง 3D เราเลยคิดว่าการพรินท์คงจะไม่ได้ตอบโจทย์เสมอไปอีกแล้ว” จบคำพูดหลินไม่ทันขาดคำ ก็มีเสียงลึกลับแทรกขึ้นมา (เราสัมภาษณ์ผ่านโปรแกรมประชุมหน้าจอ โดยที่หลินปิดหน้าจอตัวเองอยู่) แบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย “อย่างเราที่ล้างรูปกับ Xanap เอง เราก็อยากเห็นรูปของเราอยู่บนจอมากที่สุด เพราะเราสามารถพลิกแพลงไปได้อีกหลายแพลตฟอร์ม และเราก็ชอบคุณภาพของจอด้วยนะ บางทีมันรู้สึกดีกว่ารูปบนกระดาษอีก มันง่ายกว่าด้วย เพราะฉะนั้น สำหรับเรา final product คือหน้าจอนะ”
และเสียงลึกลับนั้นก็หายไปท่ามกลางเสียงหัวเราะคิกคักของผู้ร่วมก่อตั้ง และความงงงวยของเราเอง ปุ๊รีบชิงเสริมขึ้นมาก่อนที่เราจะตั้งคำถามที่ไม่เกี่ยวกับแล็บ “ในแง่ของการดิสเพลย์ มันคือดิจิตอลเป็นหลักอยู่แล้วครับ ถ้าจะถามว่าอุปกรณ์อนาล็อกมันมาแมตช์กับไลฟ์สไตล์แบบดิจิตอลในปัจจุบันได้อย่างไร ผมมองแยกออกเป็นสองประเด็นนะครับ หนึ่งคือ คนที่ใช้ฟิล์มมาตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมาอย่างผมเอง ผมก็ไม่ค่อยได้พรินท์รูปอยู่แล้ว เพราะยุคนั้นเป็นยุคเริ่มต้นของเฟสบุค เราก็ล้างสแกน โพสต์ลงเฟสบุคให้คนอื่นเห็น คนก็เริ่มสนใจความแปลกของสีสัน ทำให้คนเริ่มหันมาสนใจ แต่ในยุคนั้นกล้องฟิล์มที่เป็นที่นิยมจะเป็นกล้องแมนวลที่ต้องปรับเองทุกอย่าง ถ่ายไม่ง่ายนัก มันก็เลยโยงมาประเด็นที่สองคือ กลุ่มคนที่เพิ่งมาจับกล้องฟิล์มเมื่อสักห้าหกปีที่แล้ว ที่ยังจะต้องตั้งใจศึกษาระบบของกล้องอยู่ ไล่มาจนถึงคนเล่นกล้องฟิล์มยุคสามสี่ปีหลังสุด อันเป็นกลุ่มที่ทำให้กล้องฟิล์มบูมขึ้นมาได้จริงๆ คือมันมีการไปจับกล้องประเภท point & shoot เข้ามาอยู่ในตลาดมากขึ้น มันคือกล้องคอมแพคที่ใช้ง่าย ไม่ต่างจากกล้องดิจิตอล นี่คือไลฟ์สไตล์ที่แท้จริงในโลกยุคปัจจุบัน คือคนไม่ต้องการกล้องถ่ายยาก กลไกซับซ้อน แต่ต้องการกล้องที่สามารถบันทึกความทรงจำได้ทันใจเขา ไม่ต้องศึกษาเยอะ ไม่ต่างจากกล้องมือถือ มันก็เลยเป็นจุดที่ความต้องการมาชนกันว่า ความอนาล็อกที่มันสวยกว่าความดิจิตอลนั้นไม่ได้เล่นยาก ซับซ้อนเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ความอนาล็อกเลยสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วในโลกดิจิตอลเช่นนี้ครับ”
พอเรามานั่งคิดตาม ก็เห็นจะจริงที่เด็กรุ่นใหม่ที่อายุไม่เกิน 15 ปีนี้เกิดมาก็คุ้นชินกับหน้าจอแล้ว การหลงคิดว่า final product ต้องเป็นภาพถ่ายใบๆ ที่เราตั้งข้อสังเกตในช่วงต้นของคำถามนี้ดูจะเป็นความคิดที่ ‘สลิ่ม’ ยึดติดอยู่กับโลกใบเดิมไปไม่ใช่น้อย “เราว่า ปัจจุบัน การพรินท์อาจจะไม่ใช่ final product แล้ว แต่เป็น value added มากกว่านะ” อายพูดขึ้นมาราวกับจะปลอบประโลมเสียงในหัวของเราที่เธอเองก็ไม่ได้ยิน “ก็อย่างที่ปุ๊บอกว่า final product มันอาจจะอยู่บนหน้าจอนั่นแหละ การพรินท์อาจจะเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับงานของมืออาชีพ เพื่อจุดประสงค์ในการจัดนิทรรศการ หรือจุดประสงค์ทางการขายต่อหรือเปล่า”
“ผมว่านะ” ปุ๊สรุปจบข้อสงสัยเรื่องการพรินท์รูป “เราแทบจะมองกล้องฟิล์มเป็นได้สองอย่างด้วยซ้ำ ในฐานะคนวัยสามสิบอย่างผม ผมมองว่ามันคือของวินเทจที่กลับมาใหม่ แต่สำหรับเด็กในยุคปัจจุบันที่เกิดไม่ทันการกำเนิดของกล้องฟิล์ม เขามองว่าสิ่งนี้คือของใหม่สำหรับเขานะครับ มันไม่ใช่ของวินเทจ เพราะเขาเกิดไม่ทันยุคนั้นจริงๆ เขาไม่เคยรู้ว่าเมื่อก่อนการล้างอัดรูปออกมาเป็นอัลบั้มคืออะไร สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งใหม่สำหรับเขา ในฐานะคนที่ทำธุรกิจนี้ เราต้องมองให้ออกว่านี่คือสิ่งใหม่ ไม่ใช่กล้องฟิล์มในรูปแบบเดิมที่พวกเรารู้จักกันเมื่อสมัยเรายังเด็กน่ะ”
ถึงจุดนี้ หลินเองก็รีบเสริม “ร้านเราต้องการที่จะทำให้การถ่ายรูปด้วยกล้องฟิล์มมันสนุกน่ะค่ะ ไม่ใช่ว่าต้องจบแบบเดียวเสมอไป เราเลยมองว่า ถ้าคนรุ่นใหม่สนุกกับการถ่ายรูปด้วยกล้องฟิล์มเพื่อโพสต์ลงโซเชียล เราก็สนับสนุนพวกเขาผ่านบริการของเรา แต่ถ้าอยากจะพรินท์ เราก็มีบริการให้ เราจะค่อยๆ เพิ่มความสนุกให้พวกเขาไปเรื่อยๆ ถ้าพวกเขาไม่อยากทำ ก็ไม่ต้องทำ ไม่ต้องเกร็ง เราไม่อยากให้ลูกค้าเรารู้สึกว่าการเล่นกล้องฟิล์มมันยากจนอยากเลิกเล่นไปน่ะค่ะ”
“ไอเดียตั้งต้นของร้านเราก็คืออยากให้มาสนุกกับการถ่ายกล้องฟิล์มกันมากๆ นั่นแหละครับ” หนึ่งเสริม “แค่นั้นเลย เราคิดแค่ว่า ถ้าเราเป็นเด็กยุคใหม่ เรามาใช้กล้องฟิล์ม แต่ต้องมายึดติดอยู่กับกรอบ ทฤษฎีอะไรต่างๆ มากมาย จนมันไม่สนุก น่าเบื่อ เราไม่อยากให้ vibe ของอุตสาหกรรมนี้เป็นแบบนั้นน่ะครับ”
อนาคตของอุตสาหกรรมฟิล์ม กล้องฟิล์ม และแล็บล้างฟิล์ม
“เรามองให้พ้นปลายปีนี้ก่อนล่ะค่ะ สำหรับแล็บเรา” หลินตอบกลั้วหัวเราะเมื่อเราถามถึงทิศทางของธุรกิจ และอนาคตของ Xanap Filmlab “ปกติผมตามวงการฟิล์มในต่างประเทศอยู่” หนึ่งรีบเสริม “มันมี movement ที่สนับสนุนให้ความสนุกของฟิล์มมันเข้าถึงง่ายขึ้น แต่การเข้าถึงง่ายมันไม่ใช่แค่การ point & shoot นะ เพราะมันจะมีคนที่เล่นไปเรื่อยๆ และลงลึกไปจนไปจับกล้องแมนนวลอย่างจริงจัง ลามไปจับกล้อง large format และกล้องอื่นๆ พอมีคนแบบนี้มากขึ้น ก็จะมีกลุ่มคนที่จะทำให้การเข้าถึงห้องมืด การฉายแสงมันง่ายขึ้น เหมือนเป็นความพยายามที่จะออกแบบระบบเดิมใหม่อีกรอบหนึ่ง ให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องพวกนี้เรียนรู้ได้ง่ายขึ้น สามารถทำเองที่บ้านได้ง่ายขึ้น ซึ่งผมมองว่าถ้ามีคนแบบนี้อยู่เรื่อยๆ และมีคนอยากลองอะไรใหม่ๆ มากขึ้น แล็บของพวกเราก็น่าจะมีโอกาสอยู่ถึงสิบปีจริงๆ ก็คิดว่าจะทำหน้าที่นี้ไปจนถึงตอนนั้น นี่เป็นจุดที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นไปได้ ถึงจะน้อยก็ตาม”
“สิ่งที่ผมเห็นมาได้สักพักก่อนโควิดจะมาก็คือ หลายบริษัทผู้ผลิตเริ่มกลับมาผลิตฟิล์มอีกครั้ง นั่นเป็นทิศทางที่ดีอย่างเห็นได้ชัด” ปุ๊เสริม “ส่วนกล้องฟิล์มเองก็ไม่มีการผลิตเพิ่มมาเกือบสิบปีแล้ว เหลือแค่ยี่ห้อที่เป็นแบรนด์หรูหราเท่านั้น แต่หลังจากที่ตลาดกล้องฟิล์มมันเริ่มมีศักยภาพ บริษัทอย่าง Ilford, Kodak หรือ Fuji ก็กลับมาผลิตทั้งกล้องและฟิล์มมากขึ้น ฟิล์มบางตัวอาจจะเลิกผลิตด้วยข้อจำกัดทางวัตถุดิบ แต่มันก็มีฟิล์มตัวใหม่ออกมาเรื่อยๆ ผมเลยมองว่าทิศทางในอนาคตของการถ่ายฟิล์มคือความสนุกมากกว่าการเป็นการถ่ายภาพที่จริงจัง บริษัทเหล่านี้เขาก็ยังมีไลน์สินค้าของมืออาชีพอยู่ แต่เขาก็ออกไลน์สินค้าใหม่ที่ตอบสนองความสนุกแล้ว ทั้งกล้องใช้แล้วทิ้งแบบเปลี่ยนสีแฟลชได้ กล้องที่ใส่น้ำสีๆ เพื่อให้เป็นฟิลเตอร์ของกล้องได้ เขาพัฒนาความสนุกไปเรื่อยๆ ดังนั้น ถ้าให้ผมมองในหลักสิบปี ผมมองว่ากล้องฟิล์มจะกลับมาในฐานะหนึ่งในตัวเลือกหลักสำหรับกล้องบันทึกความทรงจำ
“ต้องยอมรับว่าหนึ่งในปัจจัยที่พวกเรากลัวมากในช่วงแรกของการทำธุรกิจนี้คือ กล้องฟิล์มที่หมุนเวียนอยู่ในระบบปัจจุบันเป็นกล้องมือสองทั้งหมด” ปุ๊พูดต่อ “ถ้าสักวันหนึ่งของเหล่านี้พังหมดโลกไปแล้ว คนไม่มีกล้องฟิล์มใช้ ถ้าไม่มีการผลิตใหม่มาทดแทน ธุรกิจของเราก็จะตายไปเอง แต่มาถึงตอนนี้ เราได้เห็นการผลิตใหม่ออกมาเรื่อยๆ ดังนั้น ถ้าจะมีอะไรมา disrupt วงการถ่ายฟิล์ม มันจะไม่ใช่การถ่ายดิจิตอลแบบทั่วไปแล้ว ผมมองว่ามันต้องล้ำไปอีกหลายก้าวเลย อาจจะเป็นการถ่ายรูปแบบ 4D แบบนั้นไปเลย ที่เห็นความแตกต่างกันอย่างชัดเจน เพราะในการแข่งขันถ่ายรูปสองมิติเนี่ย กล้องดิจิตอลพยายามพัฒนาเรื่องความคมชัด การเก็บสี การอะไรต่างๆ แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ความพึงพอใจที่ได้รับจากการถ่ายฟิล์มก็ยังหาไม่ได้จากกล้องดิจิตอล ขนาด Fuji Film ที่ผลิตกล้องดิจิตอลเลียนแบบกล้องฟิล์มก็ยังไม่สามารถเติมเต็มความต้องการนั้นได้เลยครับ”